โควิด 19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ ความเศร้า ในทุกหย่อมหญ้า เป็นปัญหาไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นทั่วโลก ซึ่งปัญหานี้อาจนำไปสู่ การฆ่าตัวตาย ได้ จึงต้องเตรียมรับมือกับปัญหานี้ให้ดี
ในช่วงการระบาดของ โควิด 19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด ซึ่งเมื่อเครียด ก็ทำให้เกิดความเศร้าความทุกข์ขึ้น แล้วความเศร้ากับความทุกข์นี่เอง ที่นำไปสู่ความรู้สึกไม่อยากอยู่ โดยเฉพาะในบางรายที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช อย่าง โรคซึมเศร้า หรือเป็นโรควิตกกังวลอยู่แล้ว ความเครียดแม้เพียงนิดหน่อยก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีคุณค่า ไร้ค่า มองหาทางออกไม่เจอ จนอาจมองว่า การฆ่าตัวตาย เป็นเพียงทางออกเดียวที่จะช่วยให้สามารถหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปได้
สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย พบว่า มีการพยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 53,000–54,000 คน และกระทำการฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 คน คิดเป็น 6-6.5 ต่อแสนประชากร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยพบช่วงวัยที่คนไทยมีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดเป็นวัยผู้ใหญ่ และยังพบผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง เป็นกลุ่มวัยทำงาน กับผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงาน/กลุ่มรับจ้างเกษตรกรรม รวมทั้งกลุ่มไม่มีรายได้
สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของการฆ่าตัวตาย พบว่า ส่วนมากเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
- ปัญหาความสัมพันธ์
- ปัญหาสุราและสารเสพติด
- ความเจ็บป่วยเรื้อรังทางกายและจิต
- ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น มีความสัมพันธ์กับสาเหตุการฆ่าตัวตายมากขึ้นจากปีก่อนหน้านี้
กลุ่มที่คาดว่าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เป็นกลุ่มที่ต้องระวัง อาจจะมีการพยายามฆ่าตัวตายที่มากขึ้น เมื่อได้รับความเครียดในระดับที่เท่าๆ กัน อาทิเช่น
- มีโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว
- มีโรคทางกายที่เป็นโรคเรื้อรังอยู่แล้ว
- กลุ่มคนว่างงาน
- กลุ่มที่ไม่มีญาติพี่น้อง
- กลุ่มคนที่ไม่ได้แต่งงาน
- กลุ่มที่เคยทำร้ายตนเองมาก่อน
- กลุ่มคนที่เคยมีญาติพี่น้องฆ่าตัวตายสำเร็จมาก่อน
อาจารย์นายแพทย์ สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โควิด 19 เป็นความเครียดที่ทุกคน ทุกๆ ที่ต้องเผชิญ ถ้าใครไม่เครียดสิแปลก ถ้าเครียดอยู่ อยากบอกว่ามันคือเรื่องปกติ เมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกว่ามากเกิน รู้สึกว่าเราจัดการมันไม่ไหว ให้รีบหาตัวช่วย ให้รีบจัดการก่อนที่จะเป็นโรคทางจิตเวช แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเป็นโรคทางจิตเวชก็รักษาได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันโควิด 19 ไม่ได้อยู่ยืนยง แต่อาจจะอยู่นานหน่อย เรานี่สิที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ ฉะนั้นเราจะอยู่กับมันอย่างไร หมอเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถ เราเคยผ่านเรื่องราวแย่ๆ เรื่องราวที่ยากกว่านี้มาได้หลายรอบแล้ว รอบนี้ก็เป็นอีกรอบที่เราเผชิญ แล้วเราจะผ่านมันไปได้
วิธีการรับมือกับปัญหาที่เข้ามาในช่วงนี้ ดังนี้
- หากรู้ตัวว่าชอบทำงานอดิเรกอะไร อาทิ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูซีรีส์ ให้รีบทำ อย่าเอาตัวไปจมกับความเครียดนานเกินไป
- การรับข่าวสารที่เครียดมากเกินไปในแต่ละวัน อาจส่งผลกับความเครียดได้ รวมถึงไม่ควรรับข่าวสารที่ดูแล้วเครียด ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรเสพเกิน 2 ครั้งต่อวัน การเล่นโซเชียลมีเดียมีผล เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวมาในมือถือเปิดเลื่อนนิดเดียวก็เจอ ดังนั้นการเล่นต้องระวังด้วย
- ถ้าจัดการด้วยตัวเองยังไม่ไหว ให้ลองพูดคุยระบายกับคนที่ไว้ใจ บางคนอาจใช้วิธีคุยกับญาติพี่น้อง คุยกับเพื่อน ได้โทรไประบายแบบนี้ก็ได้เช่นกัน
- นอกจากการได้ระบายแล้ว การรับฟังคนอื่นบ้างก็ทำให้รู้ว่า มีคนที่เครียดเหมือนกับเรา เผลอๆ บางคนเครียดยิ่งกว่าเราเสียอีก ซึ่งนี่อาจจะทำให้เราเครียดน้อยลงได้
- ถ้าจัดการหาคนอื่นช่วยแล้วยังรู้สึกไม่ไหว แนะนำว่าต้องหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย อาจจะโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 มูลนิธิทางหน่วยงานวิชาการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษา หรืออาจจะพบกับจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าเราไปตั้งแต่ที่ยังเป็นไม่มาก ไม่เครียดถึงขั้น รู้สึกไร้คุณค่า รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ นายแพทย์ สมบูรณ์ เชื่อว่า จะยังช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือกันได้ จะทำให้กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งการมาพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายแต่อย่างใด
อาจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เดี๋ยวนี้ภาพการไปพบจิตแพทย์ไม่เหมือนกับภาพอย่างที่หลายคนคิด หรือดูละครแล้วคิดว่า เมื่อไปถึงจะต้องได้เจอแต่ผู้ป่วยที่หลุดโลก เดินไปเดินมา พูดคนเดียวตรงนี้มันไม่จริงนะ เมื่อลองไปถึงพบว่า เขาเหมือนเรานี่แหละที่นั่งพูดคุยแบบนี้ได้ปกติ เขานั่งรอตรวจเหมือนกับที่นั่งรอตรวจอายุรกรรม เหมือนกับที่ตรวจกับคุณหมอศัลยกรรม ฉะนั้นหากจะมาพบจิตแพทย์แต่ยังคงกังวล อาจจะลองชักชวนเพื่อนหรือญาติที่สนิทไปด้วยกันด้วยได้ ซึ่งในรายที่มีญาติพี่น้องพามาปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้โรครักษาดีขึ้น โรคหายเร็วขึ้น ดังนั้น เชิญชวนให้คนที่คิดว่าเริ่มดูแลตนเองไม่ไหวลองปรึกษาคุณหมอใกล้บ้านดู