ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
นาวาเอกสรรพสิทธิ์ สงกุมาร รองผู้อำนวยการกองนาวิกเวชกิจ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ แพทย์ที่ได้รับมอบภารกิจไปร่วมดูแล 13 หมูป่า ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า...
ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทหารเรือ ช่วยเหลือหมูป่า
ขอบันทึกไว้เป็นความทรงจำดีๆ…
เริ่มตั้งวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561
นาวาเอกสรรพสิทธิ์ได้เริ่มเล่าว่าได้รับโทรศัพท์ตั้งแต่แต่ 09.00 น. จากกองแผนกรมแพทย์ทหารเรือบอกให้เตรียมทีมเพื่อไปเพิ่มเติมกำลังที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เชียงราย ซึ่งขณะนี้มีทีมเวชศาสตร์ใต้น้ำของโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์อยู่ จึงได้เตรียมอุปกรณ์ และเดินทางถึงเชียงราย…
เช้าวันที่ 7 กรกฎาคม
“ตอนเช้าเรานัดรถมารับที่โรงแรม ระบบการใช้รถที่นี่คือรถอยู่ในส่วนกลาง เวลาจะใช้ก็โทรนัดให้มารับ ถ้าไม่อยากรอนานก็นัดเช้าหน่อยเลือกกะเวลาที่คนใช้น้อย เดินทางถึงพื้นที่ ก็เข้ารายงานตัวกับ ผบ.หน่วยซีล และเต็นท์โรงพยาบาลสนามของกองทัพบก
ได้รับแจ้งว่าช่วงเช้าวันนี้คุณหมอแฮร์ริส ซึ่งเป็น Cave diver เป็นวิสัญญีแพทย์ เป็นคนที่เคยดำกู้ภัยในถ้ำมาแล้วทั่วโลก จะมาคุยเรื่องแผนในการช่วยเหลือเด็กออกมาจากถ้ำ ปัญหาในช่วงนี้ที่เรากังวลกันอยู่คือมีพยากรณ์อากาศเรื่องจะมีพายุเข้าและฝนตกหนักในวันสองวันนี้ ถ้ามีน้ำเข้าเพิ่มในโถงถ้ำอีกทำให้การช่วยเหลือเป็นไปโดยยากขึ้นหรือเด็กต้องรอจนกว่าน้ำจะลดอีกครั้ง อีกข่าวคือ ท่านเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือจะเดินทางมาเพื่อช่วยประเมินและให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ข่าวดีที่มีมาเพิ่มคือท่าน อ.ขจิตร์ (นาวาเอก ขจิตร์ อุษณีย์สวัสดิ์ชัย) จะมาช่วยและมาอยู่กับพวกเราด้วย
ดังนั้นแผนของผมที่จะเข้าไปสำรวจถ้ำจึงต้องเลื่อนไปก่อน ตอนสายทีมแพทย์ทุกคนเข้าร่วมประชุมที่เต็นท์โรงพยาบาลสนามของ ทบ. ตอนเข้าไปในเต็นท์นี่เหมือนมางานอะไรสักอย่างของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเลยครับ ท่านเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ รุ่น 1 พี่แท๊ก ผบ.ฝ่ายแพทย์ในพื้นที่รุ่น 7 ที่นั่งอยู่ทั้งหมด มีซีรีส์เลขตัวเดียว ซีรีส์ 1, 2, 3 ครบ
คุณหมอแฮร์ริสมาพร้อมทีมแจ้งแนวทางการช่วยเหลือเด็กๆ โดยการให้ยาเพื่อให้เด็กๆ สงบ จะได้ไม่ตื่นตระหนกหรือที่นักดำเรียกว่า Panic ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นการช่วยเหลือจะยากลำบากมากและเป็นไปแทบไม่ได้เลยเพราะในส่วนที่ต้องดำน้ำออกมามีทั้งส่วนที่แคบมืด นักดำที่ไม่มีประสบการณ์พอก็อาจจะเกิด Panic ได้ อย่าว่าแต่เด็กๆ เลย ในส่วนนี้ทางหมอแฮร์ริสได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแพทย์ทั้งหมด
ซึ่งทางเราก็ได้ติดต่อไปทางราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้และเห็นชอบในแผนนี้ และให้แพทย์ทางเราเป็นผู้คำนวณปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หลังจากเด็กสงบแล้วจะให้ใส่ชุดดำน้ำและหน้ากากดำน้ำแบบเต็มหน้า Full face mask และพาดำน้ำออกมา ทีมไทยจะเริ่มรับเด็กที่โถง 3 และพาออกมาที่ปากถ้ำ
ปัญหาคือการเดินทางจากโถง 2ไปโถง 3 ในขณะวันที่ประชุมอยู่นั้นจะต้องดำน้ำเข้าไปเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากทางแคบและต้องมุดเข้าไปในลักษณะพอดีตัว
ซึ่งคุณหมอกมลศักดิ์และ 05 เคยดำเข้าไปแล้ว ดังนั้นการรับเด็กออกมาในจุดนี้จะต้องมีการนำพาเด็กออกมาโดยการดำน้ำอีกช่วงนึง
ตรงจุดนี้เป็นข้อถกเถียงของแพทย์กองทัพเรือ (ทร.) ไทยคือจำเป็นต้องมีแพทย์ดำน้ำเข้าไปในโถง 3 หรือไม่
ถ้าจำเป็นใครจะเข้าไป การนำพาเด็กจากโถง 2 ออกมาปากถ้ำจะทำอย่างไร
ซึ่งในความคิดผมขณะนั้นคือคงต้องเข้าไปดูสถานที่จริงก่อน หลังการประชุมคุณหมอแฮร์ริสก็เตรียมตัวเพื่อดำน้ำเข้าไปพบเด็กๆ ในโถงถ้ำและนัดหมายกับเด็กๆ ถึงการช่วยเหลือต่อไป โดยนัดหมายให้ทีมแพทย์มาคุยกันอีกครั้งหลังจากเขาดำน้ำออกมา
จากนั้นทางเราก็ร่างหนังสือบอกแผนการปฏิบัติและข้อตกลงของฝ่ายไทยฝากเข้าไปให้หมอภาคย์(พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน)ข้างใน เพื่อให้ช่วยพูดคุยและเตรียมทีมเด็กในการช่วยเหลือต่อไป หลังจากนั้นทีมแพทย์ ทร.ก็กลับมาคุยกันที่เต็นท์เวชศาสตร์ฯ ส่วนผมก็เปลี่ยนชุดเพื่อเข้าสำรวจถ้ำต่อไป”
อ่านต่อ >> เปิดบันทึกฉบับเต็ม! ทีมแพทย์ช่วย 13 หมูป่าในถ้ำหลวง (ตอน2)