ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
กรมปศุสัตว์ปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พบสุกร มีสารเร่งเนื้อแดง สั่งระงับการฆ่าสุกร 14 ตัว มูลค่ากว่า หนึ่งแสนบาท พร้อมเก็บและส่งตัวอย่างปัสสาวะสุกรและอาหารสัตว์เพื่อตรวจยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการ หากผลตรวจยืนยันจะดำเนินคดีทันที
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท กรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน และกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ เข้าตรวจสอบโรงฆ่าสุกรแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พบมีสุกรรอเข้าฆ่าจำนวน 116 ตัว จึงได้ใช้ชุดทดสอบภาคสนาม (strip test) ตรวจปัสสาวะสุกร ผลการตรวจสอบปัสสาวะ พบผลบวกต่อสารเร่งเนื้อแดง 14 ตัว จึงได้กักสุกรไว้ที่โรงฆ่าสัตว์ โดยปัสสาวะที่ให้ผลบวกได้นำส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และหากผลตรวจยืนยันว่าพบสารเร่งเนื้อแดงจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
"นอกจากการตรวจสอบที่โรงฆ่าสัตว์ กรมปศุสัตว์จะตรวจสอบย้อนกลับที่มาของฟาร์มต้นทางที่ส่งสุกรมายังโรงฆ่าแห่งนี้ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายและเกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่ลักลอบใช้ สารเร่งเนื้อแดง มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ที่บริโภคเนื้อและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ยังคงเร่งดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และคุมเข้มอย่างจริงจังและต่อเนื่องกับผู้ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงที่โรงฆ่าสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หากกรมปศุสัตว์ตรวจพบลักลอบผลิตหรือใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์ก็จะมีโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และที่โรงฆ่าสัตว์หากฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานตรวจโรคสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 100,000 บาท" นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สารเร่งเนื้อแดงมีหลายชนิดมีความอันตรายมากน้อยต่างกัน แล้วแต่ความไวต่อยาของผู้ได้รับสารนี้ ในอดีตสารที่นิยมใช้กันมากคือ เคลนบิวเทรอล แต่ในปัจจุบันเป็น ซัลบูทามอล และแร็คโตพามีน อีกทั้งยังมีชนิดใหม่ที่เริ่มมีใช้กันคือ ซิปพาเทอรอล โดยนำสารชนิดนี้ไปผสมอาหารสำหรับเลี้ยงสุกรและโคขุน เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานจากไขมัน ลดการสะสมของไขมัน แต่เพิ่มการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อ ในซากสุกรและโคขุน เป็นผลให้มีเนื้อแดงเพิ่มขึ้น ไขมันน้อย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่จูงใจให้เกษตรกรใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกรและโคขุน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และเมื่อรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนปวดศีรษะ ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตลอดจนหญิง มีครรภ์จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์
หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิด โปรดแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) "DLD 4.0" ที่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทั้งระบบ iOS ผ่าน App Store และระบบ Android ผ่าน Google play เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที