จุฬาฯ เผย ทดลอง "วัคซีนโควิด" ในลิงเห็นผลดี ขั้นตอนต่อไปรอหน่วยงานเกี่ยวข้องไฟเขียวการทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา) อย่างเร็วที่สุดเดือน ต.ค.นี้
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “Chula-Cov19”
ทั้งนี้ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ร่วมกันแถลงข่าว “จุฬาฯ พัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลังพบในลิงได้ผลดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา)” ความคืบหน้าการพัฒนา และผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง เตรียมพร้อมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผนต่อไป
"ล่าสุด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า Chula-Cov19 ได้เผยข่าวดี ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง ลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผน" ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน Chula-Cov19 กระตุ้นเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสสูง นอกจากนี้ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน
"จากผลการทดสอบนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะเริ่มสั่งผลิตวัคซีนเพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ที่เป็นจิตอาสาตามแผน ประมาณเดือน ต.ค.-ธ.ค. นี้ ต่อไป แต่ต้องรอ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติการทดสอบในมนุษย์ก่อน หากได้รับการรับรอง น่าจะเปิดรับจิตอาสาได้ภายในกลางเดือน ก.ย.นี้" ศ.นพ.เกียรติ เสริม