ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ประกาศ 4 อำเภอ เฝ้าระวังตลาดนัดโค-กระบือ หลังพบโรคปากเท้าเปื่อยระบาด คาดสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาใหม่ พร้อมเตือนเกษตรกรปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด
วันที่ 31 ต.ค. 62 นายเศกสรรค์ สวนกูล ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม นำเจ้าหน้าที่และปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดนัดโคกระบือ สั่งคุมเข้มเจ้าหน้าที่ตรวจเบื้องต้น "โรคปากเท้าเปื่อย" รถทุกคันต้องผ่านการพ่นยาฆ่าเชื้อและต้องวิ่งผ่านบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าตลาดนัด โดยมีการค้าขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และออกใบเคลื่อนย้ายโดยปศุสัตว์อำเภอ
ซึ่งใบซื้อขายต้องมีที่ไปที่มา ของโค กะบือ พร้อมมีบัตรประชาชนภูมิลำเนาของผู้ขายและตรวจสอบโคกระบือว่า มีอาการที่น่าสงสัยหรือไม่ เช่น มีน้ำลายไหลหรือไม่ ช่องปากเกิดตุ่มหรือไม่ และขออนุญาตต่อทำใบเคลื่อนย้ายสัตว์
นายเศกสรรค์ กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ โค กระบือ ทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย เช่นโรคปากเท้าเปื่อย กรมปศุสัตว์มีโครงการณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ในโคเนื้อ ปีละ 2 ครั้ง สถานการณ์โรคปากเท้าเปื่อยจังหวัดมหาสารคาม พบในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ บรบือ โกสุมพิสัย แกดำ และวาปีปทุม
จากการสอบสวนโรค พบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดโรค ได้แก่ การเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาใหม่ โดยไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนและสัตว์บางตัวในฝูงไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากช่วงการรณรงค์วัคซีนของกรมปศุสัตว์นั้นอาจจะท้อง หรือมีอายุน้อยเกินไป ดังนั้นเกษตรกร ควรดูแลให้สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน โดย ผลกระทบ มีสัตว์ป่วย 44 ตัว ส่วนร่วมฝูง 154 ตัว จำนวนสัตว์รอบพื้นที่เกิดโรคในรัศมี 5 กิโลเมตร 3,479 ตัว
ทั้งนี้ จังหวัดมหาสารคามมี 13 อำเภอ มีประชากรโคเนื้อ 189,306 ตัวและจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 34,419 ราย กรมปศุสัตว์มีโครงการณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ในโคเนื้อ ปี ละ 2 ครั้ง
โดยมีการป้องกันและควบคุมโรคปากเท้าเปื่อย ได้แก่
1.ให้ความสำคัญของการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคเท้าปากเปื่อยในโคเนื้อ 2 ครั้งต่อปี
2. ดูแลสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะในภาวะเกิดความเครียด คือ การเคลื่อนย้ายสัตว์เปลี่ยนแปลงฤดูกาล ควรปรับปรุงคอกสัตว์ให้ลมหนาวได้ หาหญ้าและน้ำให้สัตว์ได้อกนอย่างเพียงพอ การเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องได้รับอนุญาตจากปศุสัตว์อำเภอ ทุกครั้ง
3.ลดและหลีกเลี่ยง การสัมผัสสัตว์ป่วย เนื่องจากติดเชื้อสามารถติดต่อกันได้โดยง่าย
4.สัตว์ในรัศมี 5 กิโลเมตร ได้รับการฉีดวัคซีน กระตุ้นภูมิคุ้มกันครบถ้วน
5. การปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบการคุ้มกันโรคที่ดี ได้แก่ สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนทุกตัว แบ่งพื้นที่ฟาร์มให้เป็นสัดส่วนชัดเจน เช่น มีคอกกักสัตว์ที่เข้ามาใหม่ ทำความสะอาดคอก สม่ำเสมอ มีห้องเก็บสำรองอาหารสำหรับสัตว์ที่สะอาด และเพียงพอ