ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฏรตลอดไป"
สำหรับพระปรมาภิไธยเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ในส่วนของการขานพระนาม ใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกเสียงอ่าน พระ-บาท-สม-เด็จ-พระ-ปอ-ระ-เมน-ทะ-ระ-รา-มา-ธิ-บอ-ดี-ศรี-สิน-ทร-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กรณ-พระ-วะ-ชิ-ระ-เกล้า-เจ้า-อยู่-หัว โดยถือเป็นพระปรมาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏ
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยพระนามเต็มเดิมของพระองค์ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”
ขณะพระชนมายุได้ ๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม "วชิราลงกรณ" ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตา โดยทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิรญาณะ" พระนามฉายาทั้งในพระองค์เองและ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว ขณะผนวช ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามเดิมใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต"
ทั้งนี้ ธรรมเนียมการเฉลิมพระปรมาภิไธยในราชวงศ์จักรี ทรงกำหนดหลักการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามลำดับรัชกาล โดยรัชกาลที่เป็นเลขคี่ให้ใช้คำว่า "ปรมินทร" รัชกาลเลขคู่ให้ใช้คำว่า "ปรเมนทร" เป็นเครื่องหมายสังเกต พระนามพระมหากษัตริย์ไทยตามหลักพระราชนิยมดังกล่าวตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา