มีเทคโนโลยี 3 อย่างที่ช่วยดูแลสุขภาพของคนทำงานและช่วยเรื่องความปลอดภัยขณะทำงานได้ นั่นคือ Internet of Things (IoT), Wearable Technology และ Virtual Reality (VR)
เนื่องจาก IoT, Wearable Technology และ Virtual Reality เป็นเทคโนโลยีที่สื่อสารกันผ่านอุปกรณ์ต่างๆ รับ-ส่งข้อมูลระหว่างกันได้ รวมถึงใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ แล้วถ้านำมาใช้ซัพพอร์ตการทำงาน การดูแลสุขภาพ จะช่วยอะไรเราได้บ้าง?
รู้จัก IoT, Wearable Technology และ Virtual Reality ก่อนไปดูว่า มันปฏิวัติเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานยุคใหม่ยังไง
1. Internet of Things (IoT) หรือ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
คือ การเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างชาญฉลาด ทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เพราะสั่งงานผ่านเสียงหรือแอปพลิเคชันได้ เช่น สั่งให้อุปกรณ์ Google Nest เล่นเพลงจาก Spotify สั่งให้บอกสภาพอากาศ การจราจรบนท้องถนน จับเวลา หรือถ้าเชื่อมต่อกับหลอดไฟอัจฉริยะไว้ด้วยแล้ว แค่สั่ง Google Nest ด้วยเสียง ก็ไม่ต้องเดินไปเปิดไฟเอง
มาที่โลกการทำงาน อาคารที่ก่อสร้างใหม่มักได้รับการออกแบบเป็น อาคารอัจฉริยะ คือ มีระบบเซ็นเซอร์ที่บูรณาการแล้ว ซึ่งรวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งข้อมูลนั้นไปให้ปัญญาประดิษฐ์ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในอาคาร เช่น เปิดปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่มีคนอยู่ในห้อง ตรวจจับควันอย่างรวดเร็วและส่งสัญญาณเตือนอัตโนมัติหากเกิดไฟไหม้
ด้วยแนวทางคล้ายๆ กัน สถานที่ทำงานอัจฉริยะ ก็สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพของพนักงาน ตรวจจับความเคลื่อนไหวของร่างกาย ตลอดจนรายงานอุบัติเหตุได้ เช่น พนักงานขนของลื่นล้มแล้วสลบไป เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิร่างกาย หรืออิริยาบถที่ไม่ใช่การเดินหรือนั่งตามปกติ ก็สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังคนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที แต่อาจต้องพึ่งอุปกรณ์ในข้อ 2 ร่วมด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์อุปกรณ์อัจฉริยะและ IoT
2. Wearable Technology หรือ เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้
เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ก็คือ อุปกรณ์ที่สวมใส่แล้วช่วยเก็บข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวได้ด้วยเซ็นเซอร์ ตลอดจนเชื่อมต่อกับระบบนิเวศอุปกรณ์อื่นๆ ได้ เช่น เสื้ออัจฉริยะ นาฬิกาอัจฉริยะ แว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ
โดยปกติ เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้จะเก็บข้อมูลและประมวลผลได้เร็วเนื่องจากมีไมโครชิปช่วยเพิ่มความสามารถในด้านต่างๆ ในกรณีของชาวออฟฟิศ บริษัทสามารถรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพของพนักงานอย่างละเอียดและรวดเร็วผ่านเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์นั้นๆ หรือแม้กระทั่งการทำงานจากที่ไหนก็ได้ บริษัทยังช่วยดูแลและแจ้งเตือนผ่านอุปกรณ์ได้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเมื่อพนักงานเข้าไปในอาคารหรือพื้นที่ที่มีการระบาด ก็สามารถรับรู้และหลีกเลี่ยงได้ด้วยอุปกรณ์สวมใส่ที่มีเซ็นเซอร์และระบบแจ้งเตือน
ประโยชน์อีกข้อของเทคโนโลยีที่สวมใส่ ได้ คือ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
3. Virtual Reality (VR) หรือ ความจริงเสมือน
ความจริงเสมือน เป็นเทคโนโลยีที่มีอุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แว่น VR, จอแสดงภาพ 3 มิติ ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานสวมใส่แว่น VR ก็จะมองเห็นข้อมูลปรากฏบนแว่น
กรณีการใช้ VR เพื่อสุขภาพในที่ทำงาน เช่น หากเกิดเหตุฉุกเฉิน บริษัทอาจให้หมอที่อยู่โรงพยาบาลสวมแว่น VR เข้ามาสังเกต ประเมินอาการผู้ประสบเหตุในบริษัทหรือโรงงานได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงให้คำแนะนำก่อนส่งตัวไปรักษาต่อได้
นอกจากวิธีนี้จะช่วยพนักงานได้แล้ว หมอก็สามารถรักษาพนักงานที่ป่วยจากระยะไกลได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้เร็วยิ่งขึ้นนี้ ก็จะช่วยรักษาชีวิตคนอื่นๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย
สรุปแล้ว...
แม้ว่าบริษัทจะให้พนักงานทำงานระยะไกลหรือทำงานจากที่ไหนก็ได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่การทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัยยิ่งขึ้นก็ต้องพึ่งเทคโนโลยีเพื่อจับสัญญาณ แจ้งเตือน ฯลฯ ร่วมกับการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะนั่นเอง
และแม้สำนักงานจะเปลี่ยนไปเป็น สำนักงานเสมือนจริง (Virtual Office) ความสามารถในการดูแลสุขภาพจากระยะไกลก็ช่วยให้สำนักงานเสมือนมีโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยและช่วยดูแล สุขภาพเสมือน (Virtual Health) ให้แก่พนักงานได้ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจริงๆ เพราะเป็นเพียงความเสมือนจริง
ที่มา : 3 TECH TRENDS THAT ARE SHAPING HEALTH & SAFETY IN THE WORKPLACE