svasdssvasds

หมีขั้วโลกกินแบตเตอรี่-ผ้าอ้อมมากขึ้น ผลพวงจากภาวะโลกร้อน

หมีขั้วโลกกินแบตเตอรี่-ผ้าอ้อมมากขึ้น ผลพวงจากภาวะโลกร้อน

งานวิจัยชิ้นใหม่เผย หมีขั้วโลกกับมนุษย์เผชิญหน้ากันบ่อยขึ้น และจบลงที่การสูญเสีย และพบว่า หมีขั้วโลกกินแบตเตอรี่และผ้าอ้อมมากขึ้นจากหลุมฝังกลบขยะ ผลพวงจากภาวะโลกร้อน

หลายคนอาจจะได้เคยเห็นมีม รูปภาพหรือคลิปวิดีโอความหิวโซของหมีขั้วโลกสีขาวปุยไปบ้างแล้ว และพอทราบมาบ้างว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายหนักขึ้นและเร็วขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้ที่เดือดร้อนโดยตรงคือสิ่งมีชีวิตที่สูญเสียบ้านไปเรื่อย ๆ นั่นก็คือเหล่าสัตว์จากขั้วโลก ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน สิงโตทะเล ฉลามวาฬ แมวน้ำ หรือหมีขั้วโลก

หมีขั้วโลกกำลังวิกฤต และตอนนี้มันกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว กำลังผลักให้หมีขั้วโลกออกหาอาหารไกลขึ้น จนมาถึงในเมืองและบ้านเรือนของประชาชนแล้ว และสุดท้ายจบลงด้วยความรุนแรงและการเสียชีวิตของหมีขั้วโลก

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Oryx เผยว่า ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดน้อยลง หมีขั้วโลก (Ursus maritimus) ก็ถูกบังคับให้ออกมาคุ้ยขยะเพื่อดำรงชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น?

แม้ว่าหลายคนจะมองว่า การที่หมีจะออกมากินขยะของมนุษย์นั้นไม่ใช่ปรากฎการณ์แปลกใหม่อะไร เพราะมีมานานแล้ว แต่การศึกษาเผยว่า มันกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ การเผชิญหน้ากันระหว่างมนุษย์กับหมีขั้วโลกก็เกิดบ่อยขึ้น และชีวิตของหมีก็จบลงด้วยการถูกยิง

Cr.Dan Guravich / Polar Bears International

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นั่นแสดงว่า สิ่งที่เราได้เห้นอย่างชัดเจนของการศึกษานี้คือความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นและการกระจายตัวของหมีตามสถานที่ต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น ตามคำบอกเล่าของ Geoff York ผู้ร่วมวิจัยงานศึกษาของ Polar Bears International

การศึกษาในครั้งนี้ นักวิจัยได้อธิบายกรณีศึกษา 6 กรณีที่แสดงให้เห็นว่า การเผชิญหน้ากันระหว่างหมีขั้วโลกกับมนุษย์อยู่อัตราที่สูงขึ้นและถี่ขึ้น โดยเฉพาะกับชุมชนอาร์กติกในสหรัฐอเมริกา แคนาดาและรัสเซีย โดยในแต่ละเมืองหรือชุมชน มีจำนวนการพบเห็นหมีขั้วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมันกำลังนำเราไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในเวลาอันใกล้

ยกตัวอย่างในปี 2019 ประเทศรัสเซียพบหมีขั้วโลกที่หิวโหยอยู่เต็มหลุบฝังกลบขยะในหมู่บ้านอาร์กติก 2 แห่ง แห่งแรกคือเมืองเบลุชยา กูบา (Belushya Guba) ที่มีผู้คนอาศัยในเมืองนี้ราว ๆ  2,000 คน มีรายงานการพบหมีที่เมืองแงนี้ประมาณ 52 ตัวและพวกมันก็เริ่มขยับเข้ามาใกล้หลุมฝังกลบขยะของเมืองมากขึ้น ซึ่งหมีบางตัวก็หลุดเข้าไปในเมือง อาคารต่าง ๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ

Photo by Eric Baccega/NPL/Minden Pictures

ในขณะเดียวกันอีกหมู่บ้านหนึ่ง ที่ชื่อว่า Ryrkaypiy ซึ่งมีประชากรประมาณ 600 คนก็พบหมีขั้วโลกกว่า 60 ตัวเข้ายึดพื้นที่ทิ้งขยะของเมืองเป็นเวลาหลายสัปดาห์

และในอาร์กติกแคนาดา มีหมีขั้วโลก 2 ตัวถูกยิงตาย ในปี 2015 1 ตัวและปี 2016 1 ตัวหลังจากพวกมันเข้าไปใกล้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากเกินไป และเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นมีส่วนสำคัญในอัตราการเผชิญหน้าระหว่างหมีขั้วโลกกับมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น

จากกรณีศึกษาจากชุมชน 6 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลที่น้ำแข็งได้ก่อตัวขึ้นเมื่อช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งทำให้พื้นที่แห่งนั้นกลายเป็นพื้นที่ล่าเหยื่อของหมีขั้วโลก เช่นแมวน้ำและวอลรัส เนื่องจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นทำให้น้ำแข็งในทะเลลดลงทุกปี จึงอาจเป็นการบังคับให้หมีเข้าไปยุ่มย่ามในพื้นที่ดังกล่าว รวมไปถึงเข้าไปยังเมืองเพื่อขุดคุ้ยอาหารในหลุมฝังกลบขยะมากขึ้น

หมีไม่ได้สนใจว่า คุณค่าทางโภชนาการของสิ่งที่ตัวเองกินไปนั้นมีเท่าไหร่ หรือขยะของมนุษย์จะให้คุณค่าทางอาหารแก่มันเท่าไหร่ สะอาดปลอดภัยหรือไม่ แต่มันจะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ ผ้าอ้อมสกปรก ไปจนถึงภาชนะเคลือบเซรามิกที่มีกลิ่นของอาหารติดอยู่ ซึ่งพวกมันมักคิดว่านี่แหละคืออาหารที่กินได้

Cr.The Siberian Times หมีขั้วโลกสามารถเดินทางมาจากที่ไกล ๆ ได้ หากพวกมันได้กลิ่นอาหาร พวกมันจะพยายามหาแหล่งอาหารที่สามารถทำให้พวกมันอยู่รอดได้ โดยไม่สนใจคุณค่าทางโภชนาการของสิ่งที่มันกินเข้าไป ต่อให้ต้องแลกด้วยความเสี่ยงถึงชีวิตก็ตาม

วิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักวิจัยพอจะให้คำแนะนำได้ เพื่อลดการเข้าถึงของหมี คือการแทนที่หลุมฝังกลบแบบเปิดด้วยปุ๋ยหมักหรือใช้เตาเผาขยะเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยลดโอกาสที่หมีขั้วโลกจะตามกลิ่นของขยะเข้ามาได้และจะสามารถเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม แต่แม้เราจะพยายามผิดหลุมฝังกลบเท่าไหร่ ก็ยังมีแนวโน้มที่หมีจะเข้ามายังเมืองต่าง ๆ ของอาร์กติกอยู่ดี เพื่อค้นหาอาหาร ตราบใดที่น้ำแข็งขั้วโลกยังคงละลาย ความท้าทายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการแก้ปัญหาระดับโลกเพื่อให้วิถีเดิมกลับคืนมาโดยเร็ว

ที่มาข้อมูล

https://www.livescience.com/polar-bear-landfill-encounters-climate-change

related