svasdssvasds

คลื่นความร้อนคืออะไร ทำไมคลื่นความร้อนทั่วโลกถึงรุนแรงขึ้น

คลื่นความร้อนคืออะไร ทำไมคลื่นความร้อนทั่วโลกถึงรุนแรงขึ้น

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกิดจากอะไร ทำไมถึงรุนแรงและเกิดถี่มากขึ้นแบบนี้ มันเกิดอะไรขึ้น พร้อมทำความเข้าใจคลื่นความร้อนคืออะไร ทำไมเราจำเป็นต้องรู้

ผลการศึกษาใหม่เผยว่า มนุษย์มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศถึง 30 เท่า โดยเฉพาะการทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในเอเชียใต้และหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

เกิดอะไรขึ้น?

เกิดปรากฎการณ์การทุบสถิติคลื่นความร้อนรุนแรงหลายประเทศ อาทิ เดือนมีนาคมอินเดียเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงในรอบ 122 ปี ทำอุณหภูมิสูงถึง 49 องศาเซลเซียส สูงสุดเป็นประวัติการณ์จนทำให้มีประชาชนล้มตายเนื่องจากการเป็นลมแดด ซึ่งคลื่นความร้อนนี้ก็ได้แผ่ขยายไปยังปากีสถานด้วย ส่วนในสเปนก็อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แอนตาร์กติกในเดือนมีนาคมก็เผชิญอุณหภูมิที่สูงขึ้น 15 องศาเซลเซียสจนทำให้ทุบสถิติตลอดกาลครั้งก่อน

อากาศร้อนในอินเดียรุนแรงขึ้นจนทุบสถิติที่เคยสูงที่สุดเมื่อ 122 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์เผยว่า คลื่นความร้อนเหล่านี้ เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือน และปรากฎการณ์ที่เกิดถี่เหล่านี้เริ่มดูเหมือนภัยพิบัติทางสภาพอากาศแล้ว ตั้งแต่นั้นมา สถานีตรวจวัดสภาพอากาศทั่วโลกก็ปรากฎภาพการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในปรอทที่เพิ่มสูงขึ้น

Vikki Thompson นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศที่สถาบัน Cabot แห่งมหาวิทยาลัย Bristol อธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้นและยาวนานขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากมนุษย์ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเหล่านี้สามารถตรวจจับได้ชัดเจน อย่างเช่น จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากคลื่นความร้อน”

Friederike Otto อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่ Grantham Institute, Imperial College London กล่าวว่า ในบางพื้นที่ของยุโรปเกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้นถึง 100 เท่า เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ความร้อนประเภทนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์มาก ทั้งส่งผลโดยตรงอย่างการเป็นลมแดดและทางอ้อมเช่นความเครียด และการทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดไฟป่า และส่งผลกระทบต่อผู้คนที่มีกำลังทรัพย์น้อยในการให้ตนเองหลบพ้นจากคลื่นความร้อนเหล่านี้

คลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสภาพอากาศเป็นตัวต้นเหตุให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง หากมองลึกไปยังต้นกำเนิดจริงนอกเหนือจากการปล่อยมลพิษของมนุษย์แล้ว ในทางวิทยาศาสตร์สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้เกิดการหยุดชะงักของระบบไหลเวียนบรรยากาศทั่วโลกแบบดั้งเดิม

ยกตัวอย่าง เจ็ตสตรีม (Jet stream) ในซีกโลกหนือคือชั้นมวลบรรยากาศที่ไหลเวียนอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ สิ่งนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะความแตกต่างของสภาพอากาศระหว่างอุณหภูมิส่วนขั้วและเส้นศูนย์สูตรของโลก ที่ทำให้ชั้นบรรยากาศเจ็ตสตรีมหมุนเวียนช้าลง

Polar Jetstream เปรียบเสมือนกำแพงกั้นระหว่างอากาศเย็นขั้วดลกกับเขตอบอุ่น Cr.NOAA นำไปสู่การก่อตัวของความกดอากาศสูงต่ำ คลื่นความร้อนในปัจจุบัน อาทิ ยุโรปเชื่อมโยงกับระบบที่เคลื่อนตัวช้าในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือที่ปล่อยให้อากาศร้อนจากทะเลทรายซาฮาราเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ไปยังปากีสถานและอินเดีย นั่นจึงเป็นเหตุของการไหลของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในอินเดียและปากีสถาน

กล่าวง่าย ๆ คือ การสะสมของก๊าซต่าง ๆ จากมนุษย์เพิ่มอัตราการไหลเวียนของความกดอากาศให้ผิดเพี้ยนไปตั้งแต่ชั้นเจ็ตสตรีมที่อยู่ขั้วโลกซึ่งเกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และแผ่ความผิดเพี้ยนลงมายังเส้นละติจูดกลาง และสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสภาพอากาศที่อุ่นและเย็นมาผสมกันจนคลื่นความร้อนเพี้ยนและพัดโจมตีหลายประเทศนั่นเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ร้ายแรงมากไหม?

ไม่ต้องบอกก็คงทราบกันดีว่า คลื่นความร้อนอันตรายมากแค่ไหน คลื่นความร้อนได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากและได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านทั่วโลกซึ่งเด่นชัดสุดตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ในช่วงที่ออสเตรเลียและตะวันออกกลางเผชิญอากาศร้อนจัดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น เช่นอินเดียและปากีสถาน แตะสูงสุดถึง 49 องศาเซลเซียส

ผู้คนเสียชีวิตจากภาวะขาดแคลนน้ำจนทำให้เกิดการจลาจล เกิดความรุนแรง และการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คนในชนบทให้ออกจากพื้นที่ หรืออย่างในสเปนคลื่นความร้อนก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในปี 2019 ซึ่งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้คนอพยพหนี และต้องใช้กำลังทหารฉุกเฉินในการจัดการ ทั้งหมดนี้ร้ายแรงพอไหม?

ใครได้รับผลกระทบมากสุดในเรื่องนี้?

คนจนคือคนที่ทนทุกข์ทรมานมากที่สุดในเรื่องนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่พวกเขาทำงานในที่แจ้ง เช่น ทุ่งนาและโรงงาน หรือบนถนนร้อน ๆ ที่ไม่มีที่พักพิงหลบแดด รวมไปถึงไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการซื้อเครื่องปรับอากาศเมื่อกลับถึงบ้าน

ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนก่อให้เกิดภัยแล้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพืชผลทางการเกษตรให้แห้งเหี่ยวจน ไม่ได้ผลผลิตตามเป้าหรือคุณภาพที่ดี

ยกตัวอย่างเช่น ซอสพริกศรีราชาขาดตลาดในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากวิกฤตขาดแคลนพริก วัตถุดิบหลัก พริกส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอเมริกาใต้ แต่อเมริกาใต้ถูกคลื่นความร้อนโจมตีจนทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและปริมาณตามที่บริษัทกำหนดไว้ รวมไปถึงอากาศร้อนทำให้น้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลน จนนำมาดูแลพืชผลได้ไม่เพียงพอ

เกษตรกรและคนทำงานกลางแจ้งคือคนได้รับผลกระทบเรื่องนี้มากสุด มีโอกาสเป็นลมแดดได้ง่ายๆและหลายหลังคาเรือนไม่มีงบในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

เครื่องปรับอากาศเองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาในเรื่องนี้

การใช้งานที่เพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ดึงการใช้พลังงานออกมามหาศาลหากนับจากการใช้งานทั่วโลก เพราะการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นตัวเร่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และเราต้องเร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย  

Radhika khosla รองศาสตราจารย์ที่ Smith School แห่งมหาวิทยาลัย Oxford กล่าวว่า “ชุมชนทั่วโลกต้องมุ่งมั่นที่จะระบายความร้อนอย่างยั่งยืน หรือไม่ก็เสี่ยงที่จะล็อกโลกให้อยู่ในวงจรป้อนกลับที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ความต้องการพลังงานทำความเย็นที่มากขึ้นจะผลักดันให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และผลลัพธ์คือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น”

วิธีการลดอีกหนึ่งทางเลือกของเรื่องนี้ที่นักวิทย์แนะนำคือ การทางหลังคาสีขาวในประเทศที่เผชิญความร้อนเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ และปลูกไม้เลื้อยบนผนังในเขตอบอุ่น เพื่อเพิ่มร่มเงา และการติดตั้งน้ำพุและพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มความชุ่มชื้น แต่นี่เป็นแค่ทางออกเล็ก ๆ เท่านั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจริง ๆ คือต้องลดการเกิดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

มันจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

ตอนนี้เรายืนและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกที่อุ่นขึ้น ไฟโลกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังย่างเราอย่างช้า ๆ อุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก จะทำให้เราเริ่มทุกข์ทรมานและมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความร้อนในปัจจุบันก่อให้เกิดความท้าทายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุก ๆ ทวีปที่มีผู้คนอาศัยอยู่ และสร้างภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์เป็นวงกว้างมากขึ้น

มีการคาดการณ์มากมายเกี่ยวกับอนาคตของเราที่ร้อนขึ้น เช่น เกือบ 70% ของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองภายในปี 2050 จะได้เผชิญกับอากาศร้อนจัด หรือ ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขนาดของคลื่นความร้อนในอีก 100 ปีข้างหน้า

the real global warming แน่นอนหลายคนที่กำลังอ่านอยู่นี้คงมีชีวิตอยู่ไม่ถึงช่วงเวลานั้นแน่นอน แต่เคยคิดไหมว่า การกระทำของเราวันนี้มันจะส่งผลต่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะประเทศไทยที่หลายคนมักบอกว่าคนไทยทนชินกับอากาศร้อน เพราะเป็นประเทศที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตร ที่มีความร้อนเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่าร้อนไทยกับร้อนยุโรปนั้นต่างกัน

หลายประเทศในเขตอบอุ่น ที่มีฤดูหนาวที่เย็นจัดไม่ได้สัมผัสกับอากาศร้อนชื้นในฤดูร้อนเหมือนบ้านเรา ความร้อนของฝั่งยุโรปนั้น จะเป็นสภาพอากาศที่ร้อนแห้ง และจะแสบผิวมากกว่าปกติ ซึ่งรุนแรงต่อสุขภาพโดยตรงของผู้คน มนุษย์เรามักเผยเฉยหรือรับรู้ชั่วคราวของเหตุการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากมันไม่ได้จวนตัวหรือกระทบกับตนเองโดยตรงมากนัก

แต่เรื่องนี้ เราจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะกระทบจวนตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะมันคือผลลัพธ์ที่จะถูกส่งต่อไปยังยุคหลังจากนี้ อนาคตจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับเราในตอนนี้แล้ว คุณอยากให้ลูกหลานของคุณเผชิญกับภัยอันตรายข้างหน้า เพียงเพราะมากจากรุ่นเราหรือเปล่า ?

ที่มาข้อมูล

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/18/burning-planet-why-are-the-worlds-heatwaves-getting-more-intense

https://futureearth.org/publications/issue-briefs-2/heatwaves/

https://www.space.com/earth-worst-heat-waves-decades-ago

related