svasdssvasds

รถเมล์ไทย ภาพจำสะท้อนผ่านภาพยนตร์ก่อนการ ปฏิรูปรถเมล์ และข้อกังวลใจผู้ใช้

รถเมล์ไทย ภาพจำสะท้อนผ่านภาพยนตร์ก่อนการ ปฏิรูปรถเมล์ และข้อกังวลใจผู้ใช้

รถเมล์ไทย ซิ่ง แซง ควันดำ กำลังจะถึงยุคสิ้นสุด ภาพจำก่อนการปฏิรูปรถเมล์ ยกเครื่องใหม่ ปรับปรุงมาตรฐานตั้งแต่การคัดเลือกผู้ประกอบการ รถบัส และการบริการ ที่เคยสะท้อนผ่านภาพยนตร์ไทย เมล์นรก หมวยยกล้อ และ ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ความคาดหวังชาวกทม. ที่รอการพิสูจน์

ภาพยนตร์ นอกจากสร้างความบันเทิงและสอดแทรกสาระแนวคิดมุมมองจากผู้กำกับ ยังสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมผ่านเรื่องราวและการนำเสนอ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ตลก เสียดสีสองเรื่องของไทย ที่สามารถฉายภาพชีวิตประจำวันของผู้คนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ออกมา ได้ทั้งความสนุกสนานและก็ยังเห็นใจผู้คนที่ต้องทนกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถเมล์ไทยที่คนเคยชิน  มาเป็นเวลาหลายสิบปี มีทั้งคนที่ทนใช้บริการต่อและหนีไปขึ้นบีทีเอสหรือเลือกที่ถอยรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับเอง ถูกถ่ายทอดบอกเล่าเป็นภาพยนตร์สองเรื่อง ได้แก่ 

เมล์นรก หมวยยกล้อ (2550)

กำกับภาพยนตร์โดย กิตติกร เลียวศิริกุล นำแสดงโดยนักแสดงตลกชื่อดังของเมืองไทย เช่น โน้ต อุดม แต้พานิช, ซูโม่กิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ และป๋าสุเทพ โพธิ์งาม โดยที่เหตุการณ์เกือบทั้งเรื่องถ่ายทำกันบนรถเมล์

ตัวอย่างภาพยนตร์ เมล์นรก หมวยยกล้อ

ป๊าด 888 แรงทะลุนรก (2559)  

กำกับภาพยนตร์ เขียนบท อำนวยการสร้าง โดย พจน์ อานนท์ นำแสดงโดย แจ๊ส ชวนชื่น
ตัวอย่าง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก

ชมภาพยนตร์ได้ที่ Netflix https://www.netflix.com/title/81307988

โดยจะเห็นได้ถึงพฤติกรรมเหมือนๆ กัน ของรถเมล์ไทยที่ผู้สร้างภาพยนตร์นำเสนอออกมา คือ 

  • เรื่องความปลอดภัย
  1. พนักงานขับรถเมล์ ขับเร็ว ขับซิ่ง ขับแข่งกัน 
  2. ปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถเมล์ 
  • เรื่องการบริการ
  1. การใช้คำพูดกับผู้โดยสาร
  2. ไม่จอดตามป้าย
  3. เบรคกระทันหัน ทำให้ผู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งเป็นที่รู้กันดีสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน ตัวอย่างเช่น รถเมล์ สาย 8 (บางคัน) ถือได้ว่ามีชื่อเสียงในทางไม่ดีนักและมีข้อร้องเรียนจนเป็นข่าวให้ได้ยินกันบ่อยๆ จากข่าวล่าสุด ได้ออกมาเปิดเผยว่าทางผู้ประกอบการในเส้นทาง สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ไม่ผ่านเกณฑ์การปฏิรูปรถเมล์ ที่กำลังจะยกเครื่องใหม่โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ กรมการขนส่งทางบก ได้ตั้งไว้สำหรับการพิจารณาผู้ประกอบการเพื่อรับสัมปทาน คือการประเมินคุณภาพบริการ 90 คะแนน และเกณฑ์การเยียวยา 10 คะแนน เพื่อเป็นเซตซีโร่สร้างมาตราฐานให้กับรถเมล์ไทย ปรับภาพลักษณ์ให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นตัวเลือกหนึ่งในการให้บริการประชาชน 

จากกรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สํารวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ความเดือดร้อนของประชาชน ต่อการใช้บริการรถเมล์ไทย” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑลที่ใช้บริการรถเมล์ จํานวน 1,151 คน เมื่อวันที่ 17-21 มิถุนายน 2565 พบว่า ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดจากการใช้บริการรถเมล์ไทยในปัจจุบันคือ

  • รถขาดระยะ ต้องรอรถนาน ร้อยละ 89.2
  • รถแน่น/ขึ้นไม่ทัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ร้อยละ 44.4
  • รถเก่า/ชํารุด/รถสกปรก ร้อยละ 35.5
  • ช่วงเช้ามืด ตอนคํ่าไม่มีรถเมล์วิ่ง/มีรถน้อย ร้อยละ 30.2
  • ขับรถเร็ว/ขับคร่อมเลน/ไม่ทําตามกฎจราจร ร้อยละ 27.6
  • รถไม่จอดตามป้าย/จอดเลยป้าย ร้อยละ 26.0
  • พนักงานไม่สุภาพ ร้อยละ 16.0
  • สายรถเมล์ที่ใช้ประจํายกเลิกบริการ ร้อยละ 10.8
  • อื่นๆ อาทิ ค่าโดยสารแพงขึ้น ปล่อยควันดํา เครื่องสแกนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ไม่ค่อยได้ ฯลฯ ร้อยละ 0.9

รถเมล์ไทย ภาพจำสะท้อนผ่านภาพยนตร์ก่อนการ ปฏิรูปรถเมล์ และข้อกังวลใจผู้ใช้

โดยสิ่งที่กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ ในการปฏิรูปรถเมล์ครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการจากข้อมูลที่ทาง mgronline สรุปไว้ ในรอบนี้ประกอบด้วย 

มาตรฐานคุณภาพบริการรถเมล์ใหม่

  1. รถโดยสารไฟฟ้า (EV) ปรับอากาศ  ชานต่ำ 
  2. มีที่นั่งรองรับรถเข็นของผู้พิการ
  3. มีระบบ GPS
  4. มีกล้อง CCTV ภายนอก ภายในรถเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาสร 
  5. มีระบบ E-Ticket 

จาก บทสัมภาษณ์ที่ Spring News ได้พูดคุยกับทางเพจ รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai แสดงความกังวลถึงผู้ใช้รถเมล์เป็นประจำที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่เลือกใช้บริการรถเมล์ก็เพื่อประหยัดรายจ่าย ในการเดินทางแต่ละวันจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปในครั้งนี้ อีกทั้งปัญหาใหญ่เรื่องการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ โดยเลขสายรถเมล์จะแบ่งเป็น 4 โซน ใช้หลักการแบ่งพื้นที่การเดินรถของจุดต้นทางตามทิศของกรุงเทพมหานคร คือ เลขแรกเป็นเลขโซน และตัวเลขหลังเป็นเลขสาย ดังนี้

  • โซนที่ 1 ทิศเหนือ (กรุงเทพฯ โซนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนพหลโยธิน) ขึ้นต้นด้วย 1-เลขสาย (1-1 ถึง 1-68)
  • โซนที่ 2 ทิศตะวันตก (กรุงเทพฯ ชั้นในและโซนตะวันตกเฉียงเหนือ) ขึ้นต้นด้วย 2-เลขสาย (2-1 ถึง 2-56)
  • โซนที่ 3 ทิศตะวันออก (กรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ : ถนนสุขุมวิท) ขึ้นต้นด้วย 3-เลขสาย (3-1 ถึง 3-56)
  • โซนที่ 4 ทิศใต้ (กรุงเทพฯ โซนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ถนนเพชรเกษม) ขึ้นต้นด้วย 4-เลขสาย (4-1 ถึง 4-71)

ซึ่งต้องทำการประชาสัมพันธ์และออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน ไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน

รายละเอียดเลขสายรถเมล์เก่าเทียบกับเลขสายรถเมล์แบบใหม่ ในการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง 269 เส้นทาง ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.dlt.go.th/site/fbmb/m-news/8256/view.php?_did=19830&fbclid=IwAR3_zxUWOkKoXRzaZEGOBEgFncrDUh38yooH-MQQMNYlDfYP6IIP3ZOFOCM

ทั้งนี้การแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จึงได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถเอกชน ใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับหน้ารถไว้ด้วยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้ประชาชนทราบแนวเส้นทางต่าง ๆ ในการเดินทาง จนกว่าประชาชนจะเกิดความคุ้นเคย

โดยต่อไป ดัชนีชี้วัด (KPI) 12 ด้านคุมมาตรฐานบริการรถร่วมเอกชน ประกอบด้วย

  • เป้าหมาย - ความพร้อมและความน่าเชื่อถือในการให้บริการ

1. การเดินรถตรงตามเส้นทางที่กำหนด
2. การเดินรถครบตามจำนวนเที่ยวที่กำหนด
3. การเดินรถตรงตามเวลาที่กำหนด

  • เป้าหมาย -คุณภาพการบริการ

4. ความพึงพอใจของผู้โดยสาร
5. ความพึงพอใจต่อคุณภาพตัวรถ
6. การให้บริการของผู้ประจำรถ
7. ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการ

  • เป้าหมาย – ความปลอดภัย

8. อุบัติเหตุและเหตุอาชญากรรม
9. อายุรถและการตรวจสภาพ เสียภาษีของรถในเส้นทาง

  • เป้าหมาย -การพัฒนาในการใช้บริการ

10. การชำระค่าโดยสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั๋วต่อ ตั๋วร่วม

  • เป้าหมาย -การบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

11. รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  • เป้าหมาย – การรายงานข้อมูล

12. การรายงานข้อมูลที่ตรงต่อเวลา

ส่วนรถเมล์ร่วมเอกชนสายที่ไม่ได้ไปต่อหลายๆ บริษัทก็เริ่มนำปล่อยขาย ทั้งเพื่อเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนหรือนำไปใช้ทางธุรกิจต่อเช่น การนำมาทำเป็นร้านอาหาร สร้างกิมมิคที่น่าสนใจให้แก่ร้านค้าของตัวเอง 

จากความพยายามที่จะมีการปฏิรูปรถเมล์ไทยครั้งสำคัญนี้ อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ที่เราจะได้เห็นรถเมล์ไทยที่มีมาตรฐานมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการก็ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้งานและดึงให้คนกทม. หันมามองรถเมล์ไทยในภาพลักษณ์ เป็นตัวเลือกในการเดินทางกันมากขึ้น รวมทั้งต้องไม่มองข้ามผู้มีรายได้น้อยผู้ใช้งานเป็นประจำ ที่อาจจะเดือดร้อนกับการถอดตัวของรถเมล์ร้อนที่ใช้กันมายาวนานที่เป็นทางเลือกในการประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคเศร๋ษฐกิจขาขึ้นราคาค่าครองชีพ แต่รายได้ขยับตามไม่ทันแบบนี้ ไม่งั้นจะเสียทั้งลูกค้าประจำและเสี่ยงกับการไม่ได้ลูกค้าใหม่ที่คาดหวังให้เข้ามาใช้งานอีกด้วย 

ที่มา
1 2 

related