มีโอกาสให้ได้ถอดลายแทงประวัติศาสตร์อีกแล้ว กับการค้นพบครั้งใหม่ เจอเหรียญเงินสลักชื่อกษัตริย์ไวกิ้งองค์สุดท้ายในประเทศฮังการี นักโบราณคดีงง ไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร?
ถอดรหัสลายแทงเส้นทางการค้าทางประวัติศาสตร์อีกหนึ่งจุดของฮังการีและนอร์เวย์ สำหรับใครหลาย ๆ คนคลั่งไคล้ในประวัติศาสตร์ไวกิ้ง นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งสแกนดิเนเวีย การเรียนรู้เส้นเรื่องประวัติศาสตร์นั้นมีเรื่องให้น่าติดตามและน่าสนใจเสมอ และนี่อาจเป็นการค้นพบหนึ่งที่จะนำพาเราท่องโลกไวกิ้งอีกครั้ง
เมื่อไม่นานมานี้นักตรวจจับโลหะได้ค้นพบเหรียญเงินขนาดเล็กที่มีชื่อกษัตริย์ไวกิ้งผู้โด่งดังสลักไว้อยู่บนเหรียญ มันอาจจะดูไม่หวือหวามากเท่าไหร่ แต่บังเอิญว่ามันไม่ได้ถูกพบในถิ่นของตัวเองอย่างสแกนดิเนเวียตามที่เคยบันทึกไว้ แต่มันถูกพบในฮังการีตอนใต้ ซึ่งเหรียญแบบนี้ได้หายสาบสูญไปเมื่อราว ๆ 1,000 ปีที่แล้ว จากคำบอกเล่าของนักโบราณคดี
การค้นพบนี้ ทำเอานักโบราณคดีงงงวย ว่าเหรียญดังกล่าวไปจบลงที่นั่นได้อย่างไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่มันจะมาถึงราชสำนักของกษัตริย์ฮังการีในช่วงยุคกลาง
เหรียญนอร์เวย์
เหรียญนอร์เวย์ยุคแรก ๆ เรียกว่า “เพนนิง (penning)” ไม่ได้มีค่ามากในขณะนั้น แม้ว่ามันจะทำจากเงินแท้ ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินในปัจจุบันประมาณ 700 บาท (20 ดอลลาร์) Máté Varga นักโบราณคดีที่พิพิธภัณฑ์ Rippl -Rónai ในเมือง Kaposvár ทางตอนใต้ของฮังการี และนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Szeged ของฮังการีกล่าวว่า เหรียญดังกล่าวมีค่าเทียบเท่ากับ denar ที่ใช้ในฮังการีขณะนั้น ซึ่งมันก็มีค่าไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ก็อาจจะพอเลี้ยงปากท้องของครอบครัวได้ประมาณ 1 วัน
*denar - ดีนาร์มาซิโดเนีย ใช้ในมาซิโดเนีย (Denar Macedonia (MKD)) 1 DENAR = 0.60 บาท
Zoltán Csikós นักตรวจจับโลหะพบเหรียญเงินเมื่อต้นปีนี้ที่แหล่งโบราณคดีในเขตชานเมืองของหมู่บ้าน Várdomb ในฮังการี และส่งมอบกับนักโบราณคดี András Németh ที่พิพิธภัณฑ์ Wosinsky Mór County ในเมือง Szekszárd ที่อยู่ทางเหนือของแหล่งโบราณคดีไม่ไกลมาก
เกี่ยวกับ Várdomb เมืองท่าการค้าสำคัญของฮังการี
สถานที่ Várdomb เป็นซากของการตั้งถิ่นฐานในยุคกลางของ Kesztölc ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองการค้าที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคในขณะนั้น นักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานหลายร้อยชิ้นที่นั่น รวมถึงเครื่องประดับและเหรียญต่างๆ
มีหลักฐานมากมายของการติดต่อระหว่างฮังการียุคกลางและสแกนดิเนเวีย รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ของสแกนดิเนเวียที่พบในฮังการีและสิ่งประดิษฐ์ของฮังการีที่พบในสแกนดิเนเวียซึ่งอาจนำเข้ามาโดยช่างฝีมือหรือการเดินทางค้าขายกันในช่วงสมัยนั้น แต่นี่คือการค้นพบเหรียญสแกนดิเนเวียครั้งแรกในฮังการี
แล้วกษัตริย์บนเหรียญคือใคร?
เหรียญที่ค้นพบในไซต์ขุด Várdomb นั้นมีสภาพที่ย่ำแย่ แต่มันเป็นที่รู้จักในฐานะเพนนิงของนอร์เวย์ ซึ่งผลิตขึ้นระหว่างปี 1046 -1066 บนเหรียญเป็นรูปสลักของ Harald Sigurdsson lll หรือที่รู้จักกันในชื่อ Harald Hardrada ที่ปกครอง Nidarnes หรือ Nidaros เมืองในนอร์เวย์ ซึ่งพระพักต์ของเขาก็ได้ไปอยู่บนเหรียญกษาปณ์ยุคกลางของเมือง Trondheim ทางตอนกลางของนอร์เวย์ด้วย
ลักษณะเหรียญที่พบ
ลักษณะเหรียญมีความคล้ายกัน สังเกตด้านหน้ามีพระนามกษัตริย์ "ฮารัลด์ เร็กซ์ โน (HARALD REX NO)" หมายถึง ฮารัลด์ ราชาแห่งนอร์เวย์ และประดับด้วย "ไตรเกตรา" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สามด้าน Holy Trinity ของศาสนาคริสต์
อีกด้านหนึ่งมีเครื่องหมายกางเขนคริสเตียนเป็นเส้นคู่ จุดประดับสองชุด และจารึกอีกชื่อหนึ่งระบุชื่อเจ้านายของโรงกษาปณ์ที่ Nidarnes
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
นักวิทยาศาสตร์พบโลกปริศนา ใต้แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกที่ประเทศนิวซีแลนด์
วิกฤตภัยแล้งรุนแรงทำเมืองโบราณอายุ 3,400 ปีโผล่กลางแม่น้ำในอิรัก
พบหลอดเก่าแก่ที่สุดในโลก 5,500 ปี ยาว 1 เมตร ทำจากทองคำและเงิน ใช้ดื่มเบียร์
เกี่ยวกับ Harald Hardrada
Harald Hardrada เป็นบุตรชายของหัวหน้าชาวนอร์เวย์และพี่ชายต่างมารดาของกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ Olaf ll ตามรายงานจาก Britannica เขาได้ปกครองนอร์เวย์ในฐานะกษัตริย์เป็น Harald lll ตั้งแต่ปี 1046-1066 เขาอาศัยอยู่เมื่อสิ้นสุดยุคไวกิ้ง และบางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นกษัตริย์นักรบคนสุดท้ายของไวกิ้งผู้ยิ่งใหญ่
บันทึกเรื่องราวดั้งเดิมที่ Harald ต่อสู้เคียงข้างพี่ชายต่างมารดาของเขาใน Battle of Stiklestad ในปี ค.ศ. 1030 ซึ่ง Olaf พ่ายแพ้และถูกสังหารโดยกองกำลังพันธมิตรระหว่างกลุ่มกบฏนอร์เวย์และชาวเดนมาร์ก ฮารัลด์ลี้ภัยหลังจากนั้น ไปรัสเซียก่อน และจากนั้นไปยังจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งเขากลายเป็นผู้นำทางทหารที่โดดเด่น
เขากลับมายังนอร์เวย์ในปี 1045 และกลายเป็นราชาร่วมกับหลานชายของเขา Magnus I Olafsson เขากลายเป็นกษัตริย์องค์เดียวเมื่อแมกนัสสิ้นพระชนม์จากการสู้รบกับเดนมาร์กในปี 1047
จากนั้นฮารัลด์ใช้เวลาหลายปีในการพยายามครอบครองบัลลังก์ของเดนมาร์ก และในปี 1066 เขาพยายามที่จะพิชิตอังกฤษด้วยการเป็นพันธมิตรกับกองกำลังกบฏของทอสติก (Tostig) ก็อดวินสัน ผู้ซึ่งพยายามจะยึดอาณาจักรจากกษัตริย์แฮโรลด์ ก็อดวินสันน้องชายของเขาเอง (ก็อตวินสัน เป็นน้องชายของกษัตริย์อังกฤษที่เพิ่งได้รับเลือก)
แต่ทั้ง Harald และ Tostig ถูกกองกำลังของ Harold Godwinson สังหารที่ Battle of Stamford Bridge ทางตอนเหนือของอังกฤษในปี 1066 ประวัติศาสตร์สมัยใหม่มักจะมีการพิจารณาการตายของแฮรัลด์ นำมาซึ่งการยุติการรุกรานของเขาถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคไวกิ้ง
การปกครองของ Harald เป็นหนึ่งในการปกครองที่สงบสุขและความมั่นคง เขาได้ก่อตั้งเศรษฐกิจเหรียญและการค้าระหว่างประเทศ
การเดินทางของเหรียญในยุคกลาง
Varga และ Németh กล่าวว่าเหรียญเพนนิงที่พบใน Várdomb อาจสูญหายไปมากกว่า 100 ปีหลังจากที่สร้างเสร็จ แต่มีแนวโน้มมากกว่าที่จะมีการหมุนเวียนเหรียญระหว่าง 10 ถึง 20 ปีในช่วงนั้น การเดินทางดังกล่าวก่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้กับกษัตริย์ฮังการีในยุคกลางที่ชื่อ โซโลมอน ซึ่งปกครองตั้งแต่ 1063-1087
ตามประวัติศาสตร์ต้นฉบับของฮังการีที่รู้จักกันในชื่อ "Képes Krónika" (หรือ "Chronicon Pictum" ในภาษาละติน) กล่าวว่า โซโลมอนและบริวารของเขา ที่มีทั้งที่ปรึกษาและบุคคลสำคัญ ได้ตั้งค่ายในปี 1074 บนสถานที่หนึ่งที่เรียกว่า Kesztölc และที่อื่น ๆ อีก นักโบราณคดีสันนิฐานว่าข้าราชบริพานคนหนึ่งของโซโลมอนในขณะนั้นอาจถือเหรียญแปลก ๆ แล้วหายตัวไป
“ราชสำนักอาจรวมผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการฑูตหรือทหาร ก็อาจมีเหรียญเช่นนี้ครอบครองอยู่ก็ได้”
มีความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ เหรียญเงินถูกนำไปยัง Kesztölc (เมืองทางตอนเหนือของฮังการี) ในยุคกลาง โดยนักเดินทางทั่วไป เนื่องจากเมืองนั้นเป็นเมืองท่าการค้า มีการใช้การจราจรระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นถนนที่สร้างขึ้นในสมัยโรมันทอดยามไปตามแม่น้ำดานูบ
“ถนนสายนี้ไม่เพียงถูกใช้โดยกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพ่อค้า ผู้แสวงบุญ และทหารจากแดนไกล ซึ่งทุกคนอาจทำเหรียญเงินหายากหาย”
ในตอนนี้ได้มีการวิจัยกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของเหรียญและการเชื่อมต่อระหว่างไซต์โบราณสถานดังกล่าว และในขณะนี้ยังไม่มีแผนในการขุดค้นเพิ่ม แต่จะมีการสำรวจภาคสนามและการตรวจจับโลหะเพิ่มเติมที่ไซต์โบราณสถานดังกล่าวในอนาคตในแน่นอน
ถือว่าเรื่องราวนี้เป็นเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์เล็ก ๆ สำหรับผู้คนที่สนใจในประวัติศาสตร์ของต่างประเทศอย่างไวกิ้งและฮังการี โดยมีหลักฐานชิ้นใหม่เป็นตัวชี้นำเรื่องให้เราประติดประต่อประวัติศาสตร์ที่หายากเพื่อการเรียนรู้ ค้นพบ และศึกษากันต่อไป
ที่มาข้อมูล
https://www.livescience.com/viking-king-coin-discovered-hungary
https://hmong.in.th/wiki/Harald_Hardraade
https://www.universalpersonality.com/silver-coin-featuring-famous-viking-king-unearthed-in-hungary/