โอกาสใหม่โลกธุรกิจ คาร์บอนเครดิต คืออะไร มาจากไหนบ้าง ราคาเท่าไหร่ เกี่ยวข้องกับใคร ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมยังไง Springnews ชวนทำความเข้าใจคำว่า คาร์บอนเครดิต แบบเข้าใจง่าย ๆ
ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมหรือนโยบายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า คาร์บอนเครดิต ที่เป็น Keyword สำคัญที่ถูกพูดอย่างแพร่หลายในหลายนโยบายของต่างประเทศ รวมถึงของไทยเราเองด้วย ดังนั้น บทความนี้จะอธิบายถึงวลีคำว่า Carbon Credit ว่าคืออะไร
ในทุกวันนี้เพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยปรากฎการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทางสหประชาชาติและผู้นำต่างประเทศหลายคน จึงได้จัดการประชุมและร่างสัญญาเพื่อให้เป็นพันธมิตร ร่วมมือกันทำตามนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการประกาศใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือที่เรียกว่า อนุสัญญา UNFCCC) ที่มีผลใช้บังคับไปเมื่อปีพ.ศ.2537
แต่โดยส่วนใหญ่ ปริมาณการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จึงได้มีการใช้กลไกตลาดเพื่อจูงใจอุตสาหกรรมให้หันมาลดการปล่อยก๊าซมากขึ้น จึงได้ริเริ่มการซื้อขายที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ขึ้นมา
คาร์บอนเครดิต คืออะไร?
สิ่งนี้เปรียบเสมือนสินค้าที่แต่ละบริษัทได้มาจากการทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้เพิ่มสีเขียว นอกจากจะส่งเสริมรายได้ชุมชนจากการที่โรงงานจ้างปลูกแล้ว ยังช่วยในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้ขายจะใช้วิธีการวัดขนาดต้นไม้ ความสูง ความกว้าง เส้นรอบวง ต่าง ๆของต้นไม้และนำข้อมูลทั้งหมดไปให้ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)) เป็นผู้คำนวนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากต้นไม้เหล่านี้ให้
หลังจากนั้นบริษัทอุตสาหกรรมนั้นจะได้ใบรับรองในการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตที่ตนผลิตได้ เผื่อนำไปขายในอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการคาร์บอนเครดิต
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ออสเตรเลียพบก๊าซมีเทนรั่วไหลจากเหมืองถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
รู้จัก CCS โครงการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
อุตสาหกรรมต้องการคาร์บอนเครดิตไปเพื่ออะไร?
เพราะมันคือเครดิตที่เป็นเสมือนเป็นกรรมสิทธิ์ให้โรงงานที่ซื้อไปมีสิทธิในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตของตนเพิ่ม หลังมีความจำเป็นต้องปล่อยเพิ่มมากกว่าโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ได้รับ ประเทศผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตได้ดังกล่าวจะสามารถทำการซื้อหรือขายกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ได้ด้วย
หลายประเทศที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ในบางครั้งการผลิตอาจไม่เพียงพอในปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอเครดิตในการปล่อยก๊าซเพิ่ม นั่นคือการไปซื้อคาร์บอนเครดิตของผู้ผลิตดังกล่าว เพื่อให้โรงงานของตนสามารถปล่อยก๊าซได้เพิ่มขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น
ตลาดคาร์บอนเครดิตคืออะไร?
Carbon market เป็นเหมือนสถานที่หรือชุมชนที่ไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งก็คือ คาร์บอนเครดิต กับผู้ซื้อหรือผู้ขาย หรือกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีความต้องการเครดิต ตลาดคาร์บอนถูกจัดขึ้นเพื่อมุ่งสู้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนยังเป็นตัวกลางในการดำเนินการซื้อขายคาร์บอน ที่สามารถส่งผลถึงการประสบความสำเร็จทางอ้อมของการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
ตลาดคาร์บอนเครดิตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
ตลาดคาร์บอนทางการหรือภาคบังคับ (Mandatory market / Compliance market / Regulated market)
หน่วยงานรัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดนี้จะอยู่ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรือประเทศมีรายได้ปานกลางไปจนสูง โดยมีเป้าในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน (Joint Implementation : JI)
ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในโครงการ JI จะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) มีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเนื่องจากกรณีของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะต้องควบคุมตามกลไกที่เรียกว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตให้ปล่อย (assigned amounts units : AAUs) ซึ่งจะจัดสรรการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศได้อย่างตรงจุดและเป็นธรรม และเป็นไปตามพันธกรณี
ยกตัวอย่าง ตลาด EU Emission Trading Scheme (EU ETS) ของสหภาพยุโรปที่จัดตั้งขึ้นในปี 2005 เพื่อรองรับกลไกพิธีสารเกียวโตระหว่างปี 2008-2012 ด้วยการกำหนดระบบการค้าคาร์บอนแบบ ‘Cap and Trade’ หรือก็คือ มีการกำหนดเพดานการลดก๊าซเรือนกระจกและจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซ โดยอนุญาตให้ปล่อยได้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตพลังงานไฟฟ้า กระดาษและเยื่อกระดาษ ซีเมนต์และกระจก และอุตสาหกรรมจำพวกเหล็ก
ตลาดแบบสมัครใจ (Voluntary market)
ประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในตลาดนี้ เนื่องจากยังมีผู้ซื้อผู้ขายไม่มากพอ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดนี้จะเรียกว่า Verified Emission Reductions (VERs) สมาชิกในตลาดนี้ไม่สามารถขอใบรับรองจากหน่วยงานกลางเจ้าของโครงการ หรือคณะกรรมการกลางอย่าง UNFCCC ได้
แต่ละโรงงานหรืออุตสาหกรรมจะไม่ได้ถูกเคร่งมากนัก ใครอยากทำขายก็ได้ตามความสมัครใจ แต่เราจะมีตัวกลางในการคำนวนและออกใบรับรองให้คือ อบก. หรือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดูแลให้กับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย
คาร์บอนเครดิตหาได้จากไหน?
อุตสาหกรรมต่าง ๆ เขาไปหาคาร์บอนเครดิตมาจากไหน แล้วคาร์บอนเครดิตหาได้จากอะไรบ้าง นี่คือคำถามสำคัญสำหรับผู้ที่อยากลงลุยพันธสัญญานี้บ้าง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างง่ายเลย คือ การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหากสังเกตดี ๆ หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีนโยบาย กิจกรรมอาสาต่าง ๆ ในการลุยปลูกป่าหรือกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม นี่แหละคือแหล่งกำเนิดคาร์บอนเครดิต
ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลายไร่ ลองคำนวณดูก่อนสัก 1 ไร่ 1ไร่นี้มีต้นไม้กี่ต้นที่เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ เส้นรอบวงเท่าไหร่ เป็นต้น ส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กับอบก.คำนวนคาร์บอนเครดิตให้ รวมไปถึงขอใบรับรองด้วย ว่าเราได้คาร์บอนเครดิตของไร่นี้เท่าไหร่ และเราจะขายเท่าไหร่ โดยมีใบรับรองจากอบก.ว่าเราสามารถขายได้ เป็นต้น
ราคาขายปัจจุบันอยู่ที่เท่าไหร่?
ในตลาดของโครงการ Verified Emission Reductions (VERs) ตอนนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 231,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลอัพเดตปี พ.ศ.2565)
โอกาสมาแล้ว
แน่นอนว่าในอนาคต โครงการเหล่านี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มาแรงในโลกธุรกิจอุตสาหกรรมสักวัน โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่ผู้ซื้อผู้ขายยังน้อย เนื่องจากอยู่ในตลาดภาคสมัครใจ ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับชัดเจน ยังคงเป็นการตลาดที่มีอิสระในการซื้อขายอยู่พอสมควร
การซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากจะช่วยในการจูงใจภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายให้หันมาลดการปล่อยก๊าซแต่พอดีในกระบวนการผลิตสินค้าของตนตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้ด้วย
เนื่องจากโครงการที่ภาคอุตสาหกรรมจัดขึ้นนั้น มักจะไหว้วานยืมมือมาจากกลุ่มชาวบ้านในชุมชนในการช่วยเหลือในด้านของแรงงานและองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ท้องถิ่น เพื่อให้การปลูกต้นไม้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเหมาะสมกับสถานที่ปลูกตามชนิดพันธุ์ของต้นไม้ไป อีกทั้งยังช่วยให้โลกของเราควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ ไม่ให้โลกร้อนขึ้นนั่นเอง
ที่มาข้อมูล
http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/
https://www.bangkokbiznews.com/news/915259
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y2hhcnQ=
https://www.thaipost.net/columnist-people/29001/
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/hsudru/article/view/247859