svasdssvasds

ส่องวิธีเลือกซื้อ car seat ที่นั่งนิรภัยให้ปลอดภัยรับกฏหมาย พรบ.จราจรทางบก

ส่องวิธีเลือกซื้อ car seat ที่นั่งนิรภัยให้ปลอดภัยรับกฏหมาย พรบ.จราจรทางบก

ส่อง car seat เช็กวิธีเลือกซื้อที่นั่งนิรภัยให้ปลอดภัย ตามประกาศ ราชกิจจานุเบกษา พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2565 เด็กไม่เกิน 6 ปี ขึ้นรถต้องนั่ง โทษปรับ 2 พันบาท

หลังจาก ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศแถลงการณ์ปรับกฏหมาย พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2565 ที่มีข้อสำคัญดังนี้

  • เด็กไม่เกิน 6 ปี สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งคาร์ซีต 
  • ถ้าไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท 

โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 120 วันในวันที่ 5 กันยายนที่จะถึงนี้ ทำให้ในโลกโซเชี่ยลเกิดการถกเถียงและตั้งคำถามตามมาอีกหลายข้อทำให้ ทั้งคำถามว่าแล้วถ้าต้องโดยสารรถแท็กซี่หรือพาเด็กขึ้นมอเตอร์ไซด์จะเข้าข่ายความผิดหรือต้องปรับตัวให้ทันกับกฏหมายฉบับนี้ด้วยมั้ย จึงทำให้คำว่า car seat กลายเป็นคำค้นหาที่ติดเทรนด์ในช่วงเวลานี้ 

ในช่วงก่อนที่กฏหมายจะมีผล ยังมีเวลาพอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกซื้อ car seat ที่ถูกใจ เพื่อเตรียมตัวติดตั้งได้ทัน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โพสต์แนะนำการเลือกซื้อที่นั่งนิรภัย car seat อุปกรณ์ที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนสำหรับ เด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี ที่ใช้กันในหลายๆ ประเทศ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและทารก 

มาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก
มาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมี 2 แบบ 

  • แบบแรก เรียกว่า เป็นมาตรฐานที่กำหนดตามขนาดของร่างกายเด็ก i-Size (เป็นไปตามมาตรฐาน ECE R 129) แบ่งขนาดของทารกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ (ขนาดตัวเด็กไม่เกิน 75 เซนติเมตร) และ ตั้งแต่ 1 ขวบ- 4 ขวบ (ขนาดตัวไม่เกิน 105 เซนติเมตร) 
  • แบบที่สอง แบ่งตามน้ำหนักของทารก (ตามมาตรฐาน ECE R44)

การติดตั้ง

  • การติดตั้งที่นั่งนิรภัยควรติดตั้งไว้ทางด้านหลัง เพราะให้ความปลอดภัยสูงกว่าการติดตั้งด้านหน้า ในกรณีที่ ติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไว้ด้านหน้าข้างคนขับ 
  • จำเป็นต้องล็อคถุงลมนิรภัยไม่ให้ทำงาน กรณีเกิดการชน เพราะแรงดันของถุงลมนิรภัยทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ตัวเด็กทารกอย่างรุนแรง

ภาพประกอบการใช้งาน car seat ในต่างประเทศจาก freepik

ที่นั่งนิรภัยแบบไหนที่ป้องกันเด็กและทารกได้เป็นอย่างดี

  • สำหรับทารกแรกเกิดที่นั่งนิรภัย แบบ carry seat ที่สามารถถอดประกอบกับที่นั่งนิรภัยได้ เหมาะสมที่สุด และการติดตั้งที่นั่งนิรภัย ควรติดตั้งในทิศหันหลังให้กับด้านหน้ารถ เนื่องจากลำคอของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการติดตั้งแบบนี้จะช่วยประคองลำคอของทารกได้ดี การติดตั้งแบบหันหลังนี้ ควรใช้ไปจนถึงทารกหรือเด็กสามารถเดินได้ จึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นหันหน้าออกสู่ด้านหน้ารถ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งศีรษะพ้นจากที่นั่งนิรภัย เป็นสิ่งที่บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าได้เวลาเปลี่ยนที่นั่งนิรภัยอันใหม่ที่มีขนาดพอเหมาะกับร่างกายของเด็กแล้ว

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 9- 18 กิโลกรัม (หรืออายุไม่เกิน 4 ขวบ)

  • ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กขนาดนี้มีระบบนิรภัย 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า Impact shield และ แบบ Full belt safety harness
  • ข้อดีของที่นั่งนิรภัยแบบ Impact shield นี้ คือ ในกรณีที่เกิดการชนกัน ที่นั่งนิรภัยแบบนี้จะรับแรงกระแทกได้ดีกว่าแบบ Full belt safety harness แต่แบบนี้เด็กจะนั่งได้สบายกว่า แต่การติดตั้งก็จะยุ่งยากกว่า และที่สำคัญ ต้องปรับเข็มขัดให้ติดแน่นกับตัวเด็ก เพราะเมื่อเกิดการชนกัน เข็มขัดจะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงและป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกของตัวเด็ก

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 15- 25 กิโลกรัม (หรืออายุ3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ขวบ)

  • ที่นั่งสำหรับเด็กกลุ่มนี้สามารถปรับระดับความสูงของพนักพิงหลังได้ ซึ่งลำตัวของเด็กจะล็อคติดไว้กับ three point safety belt ซึ่งระบบนิรภัยแบบนี้จะเหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ขวบ
  • สำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยและวิธีการใช้ ควรศึกษาจากคู่มือการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี ยังได้ทดสอบความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราสามารถดูผลทดสอบเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อที่นั่งนิรภัยได้อีกเช่นกัน บางครั้งก็จะมีการแจ้งเตือนที่นั่งนิรภัยบางยี่ห้อ บางรุ่นที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย (www.adac.de) ซึ่งผู้ประกอบการก็จะตอบรับการแจ้งเตือนโดยการเรียกคืนสินค้า หรือนำสินค้ามาปรับปรุงเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับความมั่นใจในการใช้งานสูงสุด

ที่มา

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค