ราชกิจจาฯ ประกาศ กม.จราจรทางบก เด็กไม่เกิน 6 ปี สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งคาร์ซีต ถ้าไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท มีผลใช้บังคับในอีก 120 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เนื่องด้วยจำนวนอุบัติเหตุและความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2422 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วนั้นจึงปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุให้แก่ผู้ใช้งาน
โดย ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญที่ปรับปรุงล่าสุด ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลูกหนี้ควรรู้ ราชกิจจาฯ ประกาศค่าธรรมเนียม-ค่าใช้จ่ายทวงหนี้ใหม่
เปิดขุมทรัพย์ตลาดสินค้าแม่และเด็ก 4 หมื่นล้านบาท โอกาสการค้า ลงทุน
แห่ชื่นชมครอบครัว น้องเขต-กานต์ สิงหะ บริจาคอวัยวะหลังอุบัติเหตุทำสมองตาย
โดยประกาศใน มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่ง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560
เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติ
ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์
(2) คนโดยสาร
(ก) คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย
ไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์
(ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
(ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกินหนึ่งร้อยสามสิบห้าเซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท โดยพ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับในอีก 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา