svasdssvasds

ฤดูร้อนนี้ อากาศยิ่งร้อน แอร์ยิ่งกินไฟ จริงหรือไม่ ?

ฤดูร้อนนี้ อากาศยิ่งร้อน แอร์ยิ่งกินไฟ จริงหรือไม่ ?

ในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ การเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า แอร์ ภายในอาคารหรือที่อยู่อาศัย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนต่างสงสัยและอยากรู้ คือ อากาศยิ่งร้อน แอร์ยิ่งกินไฟ จริงหรือไม่ ?

รศ.ดร. ประกอบ สุรวัฒนาวรรณ อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การทดลองในต่างประเทศ พบว่า ยิ่งอากาศข้างนอกร้อนหรืออุณหภูมิสูง ก็จะยิ่งกินไฟขึ้น

แล้วในไทยหละ ยิ่งร้อนแอร์ยิ่งกินไฟ จริงไหม ?

รศ.ดร. ประกอบ ระบุว่า จากการทดลองร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง(MEA) ในการพิสูจน์ว่า หากอุณหภูมิภายนอกสูง จะทำให้แอร์กินไฟจริงหรือไม่ พบว่า ทุก ๆ 1 องศาที่อากาศข้างนอกร้อนขึ้น แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% จากไฟปกติที่ใช้ ซึ่งเมื่ออากาศร้อน ตัวแอร์เองก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการให้ความเย็นตามความเย็นที่เราตั้งไว้

“ทำไมเปิดแอร์เท่าเดิม แต่พออากาศร้อนขึ้น ค่าไฟเลยสูงขึ้น นั่นก็เป็นเพราะว่า ยิ่งอากาศร้อน แอร์ก็ยิ่งกินไฟมากขึ้นเพื่อให้ห้องเย็นเท่าเดิม”

อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อากาศร้อนไม่ใช่แค่แอร์ที่กินไฟเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่แอร์เท่านั้นที่เมื่ออากาศร้อนแล้วจะกินไฟมากขึ้น ตู้เย็นก็เช่นกัน เพราะเมื่ออากาศภายนอกร้อนขึ้น เครื่องทำความเย็นก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ตลอดเวลา

แล้วจะประหยัดได้อย่างไร ?

นายจุมกฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง(MEA) ระบุว่า แอร์เป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดเกือบ 70% ของค่าไฟ ดังนั้นมองว่าสิ่งที่เราจะสามารถประหยัดได้คือการลดอุณหภูมิแอร์ลงให้มาอยู่ที่ 26-27 องศา ก็จะช่วยประหยัดไฟได้ และ เมื่อลดอุณหภูมิแล้วก็สามารถเปิดพัดลมช่วยได้

“การล้างแอร์ด้วยตัวเอง โดยการล้างไส้กรอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และล้างใหญ่โดยช่างแอร์ อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน ก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้ ขณะที่ตู้เย็นหากจัดตู้เย็นให้เหมาะสม ไม่ใส่ของมากจนเกินไปก็จะสามารถลดการใช้พลังงานได้เช่นกัน”

นอกจากนี้การเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ให้ประหยัดพลังงาน เช่น เปลี่ยนจากหลอดไฟแบบขดลวด (หลอดไส้) เป็นหลอด LED , ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน และ ตรวจเช็กอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบรูณ์อยู่เสมอ เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดหากชำรุดก็มีโอกาสจะเกิดการใช้ไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

  • ข้อมูลอ้างอิง : โครงการวิจัยผลกระทบของอุณหภูมิแวดล้อมกับการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ จัดทำโดย ฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง และ โครงการวิจัยและพัฒนาความชำนาญด้านไฟฟ้ากำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์