มะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านอกจากความกังวลใจในการรักษาแล้ว เรื่องค่าใช้จ่าย เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำหรับผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน
สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็ง
สำนักงานประกันสังคม ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็งได้ตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตน ได้แก่
1. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ได้แก่ พนักงานประจำ ลูกจ้าง (มนุษย์เงินเดือน) ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
2. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ได้แก่ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาจากอาชีพเดิมแต่ยังต้องการสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมไว้
สำหรับผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม และตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
โดยสถานพยาบาลที่เลือกไว้จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษา และจะไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน
ยกเว้นมีค่าใช้จ่ายในการบริการด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม เช่น การใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ที่จะทำให้สิทธิการรักษามะเร็งขั้นพื้นฐานไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายยาในส่วนนี้
การรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด จะต้องให้การรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่กำหนดไว้ในแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง
กรณีการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
กรณีการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นนอกเหนือจากโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
ที่มา สำนักงานประกันสังคม