svasdssvasds

สถานการณ์ช้างไทย ช้างเอเชียปี 2022 พี่ใหญ่แห่งพงไพร ใครเล่าจะเก๋าเท่าพี่

สถานการณ์ช้างไทย ช้างเอเชียปี 2022 พี่ใหญ่แห่งพงไพร ใครเล่าจะเก๋าเท่าพี่

ชวนส่องสถานการณ์ช้างเอเชีย อัพเดทปี 2022 เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์จริงไหม มีปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกมันอาจสูญพันธุ์ และชวนเข้าใจวิธีแยกช้างเอเชียกับช้างแอฟริกา

เธอๆ บ้านเธอขี่ช้างไปเรียนหรือเปล่า ? เฮ้! นี่มันสมัยไหนแล้ว ใครเขาขี่ช้างไปเรียนกัน แต่ก็ไม่แน่นะ ช่วงนี้น้ำมันแพง ขี่ช้างไปทำงานก็น่าสนใจดี ล้อเล่น สงสารพี่ช้างเขา

การขี่ช้างไปโรงเรียน อาจจะเป็นความเชื่อผิดของคนต่างประเทศ เพราะช้างเป็นทั้งสัญลักษณ์ของไทยและก็เป็นอีกหนึ่ง Symbol ที่คุณได้พบเจอในไทยบ่อยๆ เพราะผู้เขียนก็เคยถูกเพื่อนต่างชาติถามแบบนี้เหมือนกัน TT ก็แหงแหละ ไหนจะสัญลักษณ์สัตว์ประจำชาติ หนังต้มยำกุ้งที่พาเราตามหาช้าง ปางช้างที่มีทั่วประเทศ และอีกมากมายที่แขกบ้านแขกเมืองมาทีไรก็เจอะเจอกับพี่ช้างเราเสมอ

ช้างเอเชีย หรือช้างไทย เป็นหนึ่งในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนในด้านลบ ที่ผู้เขียนเคยเจอและคาดว่าตอนนี้ก็อาจยังมีหลงเหลือที่ไหนสักที่คือ การนำช้างมาเร่ขายความสงสารซื้อกล้วย อ้อยให้ช้างกลางถนนที่แดดร้อนๆ เห็นแล้วหดหู่ใจชะมัด

จากที่กล่าวไปข้างต้น ก็คงจะพอรู้ได้บ้างแล้วแหละว่าบทความนี้จะพูดถึงเรื่องอะไร เนื่องจากวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันช้างไทย  Springnews จะพาไปรู้จักกับช้างไทยที่หลายคนยังคงสับสนและแยกไม่ออกว่าช้างไทยกับช้างแอฟริกาต่างกันยังไง และสถานการณ์ตอนนี้ของช้างไทยเป็นอย่างไรบ้าง สุ่มเสี่ยงหรือกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่า และเราช่วยอะไรได้บ้าง?

บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับช้างไทยหรือช้างเอเชียบ้านเรา ที่เป็นอีกสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ อายุยืน และเป็นสัตว์สำหรับการท่องเที่ยว คนไทยทุกคนรู้จักพี่ช้างกันเป็นอย่างดี ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความสำคัญต่อป่าอย่างมาก แทบจะถูกขนาดนามว่า พี่ใหญ่หรือเทพแห่งพงไพรเลยก็ว่าได้ มีช้างที่ไหน ที่นั้นอุดมสมบูรณ์ นอกจากขนาดตัวที่เด่นแล้ว อุปนิสัย การออกหากินและพฤติกรรมต่างๆทำให้ช้างดูเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุดโดยเฉพาะคนไทย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ? ถ้าในหมู่บ้านที่เลี้ยงช้างอาจไม่แปลกที่เห็นเด็กเดินไปโรงเรียนกับช้าง แต่มีน้อยมากแล้วในไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช้างเอเชีย สัตว์คู่บุญบารมีชาติไทยสมัยสงคราม

นอกจากการพบเจอที่ทำให้เราคุ้นตากับพี่ช้างแล้ว สมัยเรียน เรายังได้พบเจอกับพี่ช้างในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ไทยไม่มากก็น้อย รวมไปถึงภาพยนตร์การทำยุทธหัตถีกับประเทศเพื่อนบ้านที่หลายคนก็น่าจะรู้จักกันพอสมควร ช้างถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ในสงคราม เนื่องจากมีพละกำลังมาก รับน้ำหนักได้เยอะ และเดินทางได้ไกล เหมือนม้า แต่ไม่เร็วเท่า เหมาะสำหรับการเดินทางระยะไกลที่ต้องใช้ความถึก ในสมัยที่ประเทศยังไม่มียานพาหนะทุ่นแรง

ช้างถูกนำเข้าสู่สนามรบเพื่อรักษาเอกราชสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพ จึงเปรียบเสมือนว่าในอดีต อุตสาหกรรมช้างนั้นเจริญรุ่งเรืองมากๆนั่นเอง เพราะถูกนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในและนอกวังหรือเขตพระราชฐาน ช้างจึงถูกยกย่องเป็นสัตว์กู้เอกราชให้ชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในด้านของการนำพาชาติสู่ชัยชนะจากการทำสงคราม

และแน่นอนว่า การล้มตายในระหว่างสงครามนั้นก็ต้องมีเช่นกัน แต่จะขอไม่กล่าวถึงอะไรมากในบความนี้ เดี๋ยวจะยาว ดังนั้นขอไว้อาลัยให้กับความเสียสละระหว่างสงครามแก่ช้างศึกคู่ชาติทุกเชือกที่ผ่านมาทั้งในอดีตละปัจจุบัน

ในอดีต ไทยเรามีสัมพันธุ์ที่ดีกับช้างจริงๆ โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่เลี้ยงช้าง

ปัจจุบัน ช้างเอเชียเป็นอย่างไรบ้าง?

กลับมาปัจจุบันกันบ้าง  หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าช้างเอเชียบ้านเรา มันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อยู่นะ จากการเก็บข้อมูลโดย WWF หรือ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล จำนวนช้างเอเชียนั้นเหลือเพียง 50,000 ตัวเท่านั้น อาจจะเป็นจำนวนที่ดูแบบ โอ้โห ก็ยังเยอะหนิ แต่ทราบไหมว่า ช้างเหล่านี้ถูกฆ่าเอางากันเป็นว่าเล่นอยู่เลย ที่จริงการล่าเพื่อเอางาจะเกิดกับช้างแอฟริกามากกว่า แต่ช้างเอเชียก็ยังคงเป็นอีกหมุดหมายสำหรับการค้างาช้างในประเทศแถบเอเชียอยู่ดี

แม้ว่าปัจจุบันช้างเอเชียจะได้รับการดูแลและการคุ้มครองอย่างดีในประเทศที่มีประชากรช้างอาศัยอยู่ แต่ช้างป่าที่หากินเองเป็นฝูงเป็นโขลงนั้น ก็ยังคงเสี่ยงต่อปัจจัยหลายด้าน ที่ทำให้พวกมันเสียชีวิตได้ ไม่ใช่การล่าเพื่อเอางาอย่างเดียวเท่านั้น ที่ทำให้ประชากรช้างลดจำนวนลง แต่อีกหลายปัจจัยของการเสียชีวิตของช้างมาจากมนุษย์ด้วยเช่นกัน

เกี่ยวกับช้างเอเชีย

ช้างเอเชียเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย พวกมันมักอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นและทุ่งหญ้าใน 13 ประเทศ ครอบคลุมพื้นที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกมันสามารถปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดโดยใช้ทรัพยากรที่แตกต่างออกไปตามพื้นที่

ช้างเอเชียเป็นสัตว์ที่เข้ากับคนง่ายมาก ผู้นำส่วนใหญ่จะเป็นตัวเมียที่อายุมากที่สุดและทำหน้าที่คุมฝูงประมาณ 6-7 ตัวในการออกหากิน เช่นเดียวกับช้างแอฟริกา แต่กลุ่มช้างเอเชียจะมีจำนวนน้อยกว่าช้างแอฟริกาอย่างมาก

ช้างตัวหนึ่งสามารถมีอายุได้มากถึง 70 ปี ส่วนใหญ่มีน้ำหนักราวๆ 11,000 ปอนด์ หรือ 5,000 กิโลกรัม ช้างตัวเมียจะตั้งท้องเกือบ 2 ปี และกว่าจะดูแลลูกน้อยของมันมาได้จนดูแลตัวเองได้นั้นก็อีกหลายปีเลย

สถานการณ์ช้างไทย ช้างเอเชียปี 2022 พี่ใหญ่แห่งพงไพร ใครเล่าจะเก๋าเท่าพี่ อะไรบ้างที่ทำให้ช้างมีโอกาสสูญพันธุ์

การสูญเสียที่อยู่อาศัยและการกระจายตัว

ภัยคุกคามหลักของช้างเอเชียคือการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการกระจายตัวของประชากร เอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรช้างมากที่สุดในโลก และมีการพัฒนาและการเติบโตเศรษฐกิจเร็วมากจนนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ที่ช้างอาศัยอยู่ ส่งผลกระทบให้มีการพบช้างโดยเฉลี่ย 70%  นอกพื้นที่คุ้มครองในปัจจุบัน

การขยายถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ คลองชลประทาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้บีบพื้นที่ป่าของช้างให้เล็กลง และรายล้อมไปด้วยอันตรายจากมนุษย์แถมปิดกั้นการอพยพย้ายถิ่นเพื่อหาที่อยู่ใหม่ด้วย

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง

เรื่องนี้ มีข่าวออกมาให้เห็นบ่อยๆ ว่าช้างบุกรุกบ้านในชุมชน ช้างบุกสวนพืชผักของเกษตรกร หรือแม้กระทั่งช้างเสียชีวิตจากการถูกลวดไฟฟ้าช็อต ความขัดแย้งนี่เปรียบเสมือนภัยคุกคามอย่างหนึ่งที่ทำให้ช้างลดจำนวนลง

เนื่องจากประชากรช้างส่วนใหญ่ อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางเกษตรกรรมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างช้างกับมนุษย์จึงเพิ่มขึ้น การเผชิญหน้าเหล่านี้มักจะออกมาในเชิงลบ และนำไปสู่การสูญเสียพืชผลและทรัพย์สิน การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต ผลกระทบเหล่านี้อาจทำให้มนุษย์เริ่มตอบโต้ช้าง ที่สุดท้ายจะจบลงด้วยการจากไปของช้าง

การลักลอบล่าสัตว์และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

แม้จะอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การรุกล้ำยังเป็นภัยคุกคามต่อช้างในหลายพื้นที่ ในปี 1989 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับโลกระหว่างรัฐบาลต่างๆ ในการควบคุมหรือห้ามการค้าระหว่างประเทศในสายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และสั่งห้ามการค้างาช้างระหว่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานที่ซึ่งการค้ากำลังเฟื่องฟู และตลาดงาช้างที่ไม่มีการควบคุมในหลายประเทศได้เป็นเชื้อเพลิงให้กับการค้าระหว่างประเทศที่ผิดกฎหมาย แม้ว่างาช้างส่วนใหญ่มาจากการลักลอบล่าช้างแอฟริกา ช้างเอเชีย (ตัวผู้งาช้าง) ก็ถูกล่าเพื่อเอางาอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีตลาดที่มั่นคงสำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของช้าง เช่น หนัง ขนหาง และเนื้อสัตว์ ซึ่งยังคงเป็นเชื้อเพลิงในการรุกล้ำ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประชากรช้างขนาดเล็ก

วิธีแยกช้างเอเชียกับช้างแอฟริกา

หลายคนมักจะประสบปัญหาการแยกลักษณะของช้างไม่ออก ระหว่างช้างเอเชียและช้างแอฟริกา เพราะมันก็รูปร่างและหน้าตาคล้ายๆกัน แต่มันก็มีวิธีสังเกตง่ายๆอยู่

อย่างแรกเลยสังเกตใบหู ช้างแอฟริกามีใบหูที่ใหญ่มากๆ เวลามันกางใบหูออกมาจะเห็นได้ชัดเจน ใบหูจะใหญ่จนสามารถคลุมไล่ได้เลย ส่วนช้างเอเชียจะมีขนาดใบหูที่เล็กกว่า ไม่ปกคลุมไหล่ ขอบหูด้านบนไม่สูงมากนัก

งา ช้างแอฟริกาจะมีงาทั้งเพศผู้และเพศเมียเลย ส่วนช้างเอเชียจะมีงาแค่เฉพาะเพศผู้เท่านั้น ถ้าช้างตัวไหนไม่มีงา ชี้ได้เลยว่า ช้างเอเชียแน่นอน

ปลายงวง ช้างแอฟริกาปลายจวงจะมี 2 จงอย ส่วนช้างเอเชียจะมีปลายงวงเพียงจงอยเดียว

ส่วนหัว โหนกบนหัวช้าง ช้างแอฟริกาจะมีหน้าผากที่ลาดชันกว่า ส่วนช้างเอเชียจะแบ่งหัวออกเป็น 2 โหนก

ที่จริงความน่าสนใจของช้างยังมีให้ศึกษาและเรียนรู้อีกมากเลย และในบทความนี้คงหยิบมานำเสนอไม่หมด เอาเป็นว่าหากอยากศึกษาเรื่องช้างเพิ่มเติม ทั้งทักษะแปลก พฤติกรรมแปลก หรือมีส่วนอื่นอีกไหมที่ช้างแอฟริกาแตกต่างจากช้างเอเชีย สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ >>>

elephantsfund

เกร็ดความรู้: ช้างป่า จักรกลแห่งพงไพร

worldwildlife.org

ช้างแอฟริกา ใบหูจะใหญ่มาก สรุปจากผู้เขียน

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อป้ามากๆอีกสปีชีส์หนึ่ง ที่จะช่วยดำรงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณไว้ได้ ขี้ช้างนั้นมีประโยชน์มหาศาลในการเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับพืช ช้างเป็นสัตว์เลือกกินด้วยจึงทำให้มีการลดประชากรพืช ผัก ผลไม้ลงไปด้วย

ช้างที่ถูกขนานนามว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองชาติไทยมานานหลายร้อยปี แต่ทุกวันนี้เรากลับดูแลพวกมันไม่น่ารักเอาซะเลย อุปสรรคต่างๆที่พี่ช้างพบเจอนั้น สุดท้ายแล้วมันหาทางรอดได้ยาก เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา

ยิ่งสมัยที่เราเห็นช้างเดินตากแดดบนถนนร้อนๆพร้อมควาญช้างน่าซื่อที่ถือถุงอ้อยกับกล้วยมานั้น เป็นอะไรที่ตอนเด็กเราชอบเพราะจะได้ใกล้ชิดช้างใหญ่และอีกใจก็กลับซื้ออาหารให้เพราะสงสาร โดยที่ไม่รู้ตัวเลยนั่นคือการสนับสนุนให้มนุษย์ทรมานช้างหาประโยชน์ส่วนตน

แม้กฎหมายจะทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นหมดไปแล้ว แต่อุปสรรคที่เห็นชัดในประเทศไทยปัจจุบันคือ ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง อย่างที่มีข่าวออกบ่อยๆว่าช้างถูกรั้วไฟฟ้าช็อตตาย เพราะเกษตรกรเอาไปกั้นแปลงผักผลไม้ของคนไม่ให้ช้างเข้ามาใกล้ แต่ด้วยอุปนิสัยและสัญชาติญาณว่านั้นคืออาหารเขาก็จะเดินมุ่งเข้าไป จึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

พื้นที่ชุมชนเริ่มขยายกว้างสู่ป่า ยิ่งเป็นการบีบรัดให้ป่ามีพื้นที่แคบขึ้น แหล่งหากินของช้างก็แคบขึ้น สิ่งที่เราช่วยได้คือการให้ความรู้แก่ชุมชนถึงการจำกัดพื้นที่ไม่ให้ลุกล้ำป่า การใช้อุปกรณ์ป้องกันสัตว์ที่ไม่ร้ายแรงหรืออันตรายจนเกินไป ศึกษาข้อกฎหมายการคุ้มครองสัตว์ให้ถี่ถ้วย และร่วมกันผลักดันให้มีการอนุรักษ์ช้างอย่าเต็มรูปแบบและกฎหมายที่ต้องเข้มงวดทุกด้านและเป็นประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และช้าง เพิ่มพื้นที่หากินให้ช้างและช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่องค์กรที่เป็นด่านหน้าที่ในการดูแลและอนุรักษ์ช้างให้พวกเขาสามารถทำงานเช่นนี้ต่อไปได้

ที่มาข้อมูล

https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89-%e0%b8%8a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2-%e0%b8%88%e0%b8%b1/

https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/elephant/02.html

https://www.worldwildlife.org/species/asian-elephant

http://www.elephantsfund.org/elephant-facts/difference-Afican-Asian-elephants.html

related