"ร้องไห้หักคะแนน" ประเด็กถกกันเถียงในโลกออนไลน์เช้านี้ จากโพสต์ของหมอเดว หรือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (Suriyadeo Tripathi) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผอ.ศูนย์คุณธรรม ถึงกรณีประกาศข้อปฏิบัติ 3 ข้อ ในการรับเด็กอนุบล 1-3 เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ดังนี้
1.นักเรียนต้องเข้าสอบทุกฐาน
2.นักเรียนที่เข้าสอบถ้าร้องไห้จะโดนหัก 3 คะแนน
3.ผู้ปกครองไม่สามารถเข้าสอบด้วยได้
สร้างกระแสตีกลับไปยังโรงเรียนในเชิงลบ และแสดงความเห็นใจเด็กในยุคนี้ จึงอยากขอเปิดกฏหมายเช็กพบว่า ตาม พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้นิยามไว้ว่า
เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 ปี และให้หมายความรวมถึง เด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนา ก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา
การพัฒนาเด็กปฐมวัย หมายถึง การดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียงรู้สำหรับเด็กปฐมวัย หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ดูแลปฐมวัย
ทั้งนี้ทาง Spring News ได้ขอสัมภาษณ์พิเศษ หมอเดว หรือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (Suriyadeo Tripathi) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผอ.ศูนย์คุณธรรม ถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ถือเป็นการกระทำผิดตาม พรบ. ปฐมวัย มาตรา 8 ที่เขียนไว้ว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องเป็นไปเพื่อ เตรียมความของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย
ซึ่งในกรณีประกาศของโรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นการ ผิดเจตนารมณ์กฏหมาย ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้ง
ผิดทุกหลักการ
ไม่เหมาะสมตามหลักมนุษยชน
ไม่ตรงตามหลักจิตวิทยาวิทยาการ
ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฏหมายไทย
ไม่ตรงกับมาตราฐานสากล
UNICEF (2004) ได้กล่าวถึงทักษะชีวิตว่า เป็นกลุ่มใหญ่ของ จิตวิทยาสังคมและทักษะระหว่างบุคคล ซึ่งช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจได้ สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาทักษะการจัดการกับอารมณ์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทักษะชีวิตอาจมีทิศทางจากการกระทำของตนเองหรือบุคคลอื่นเช่นเดียวกับการกระทำที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม อันนำมาซึ่งความสุขกายสบายใจ
ทักษะชีวิต นั่นรวมถึงความสามารถของบุคคลในด้านความรู้ เจตคติ และทักษะ ในการจัดการปัญหา อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ยังรวมถึงการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่มีความพร้อมสมบูรณ์ในด้าน ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และปัญหา สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขและประสบความสำเร็จ
ส่วนทาง องค์การอนามัยโลก (WHO, 1997) ได้กำหนด ทักษะชีวิต ไว้ 10 ข้อ ดังนี้
1. ทักษะการตัดสินใจ
2. ทักษะการแก้ป๎ญหา
3. ทักษะการคิดสร้างสรรค์
4. ทักษะการคิดวิเคราะห์
5. ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
6. ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
7. ทักษะการตระหนักรู้ในตน
8. ทักษะการเข้าใจผู้อื่น
9. ทักษะการจัดการกับอารมณ์
10. ทักษะการจัดการกับความเครียด เป็นความสามารถในการรู้สาเหตุของความเครียด เรียนรู้วิธีการควบคุมระดับของความเครียด รู้วีผ่อนคลายและหลีกเลี่ยงสาเหตุ พร้อมทั้งเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์
จากองค์ประกอบของทักษะชีวิต ที่องค์กร หน่วยงานและบุคคลต่างๆได้เสนอไว้ สรุปได้ว่าทักษะชีวิต
ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านพุทธิพิสัย ได้แก่ การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา การคิดอย่างสร้างสรรค์ ตอบสนองได้อย่างเหมาะสม
2. ด้านทักษะพิสัย ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมและจัดการกับอารมณ์ การจัดการความเครียด เป็นทักษะที่บุคคลเรียนรู้ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติผ่านกิจวัตรประจำวัน
3. ด้านจิตพิสัย ได้แก่ การเห็นคุณค่าในตนเอง การตระหนักรู้ในตนเองและบุคคลอื่น การเอื้ออาทร เข้าใจ
และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ทักษะชีวิตของเด็กปฐมวัย
เป็นทักษะที่ต้อง พัฒนาการ อย่างมีระบบและต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดไปจนตลอชีวิต ซึ่งวัยปฐมวัยเป็นวัยรากฐานของการเริ่มต้นปูพื้้นทักษะด้านต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปีจะอยู่ในความดูแลของสถาบันครอบครัว เด็กอายุ 4 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กต้องเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมที่ไกลตัวออกไป คือ สังคมโรงเรียน เพื่อน ครู และบุคคลแวดล้อม ซึ่งควรจัดให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต
จากงานวิจัยสรุปไว้ว่า เด็กปฐมวัยควร เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ผู้คน สิ่งต่างๆ รอบตัวโดยมุ่งให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านการลงมือปฏิบัติ
ทั้งนี้หมอเดว ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้กว่า ระบบการคัดเลือกแบบ high stake test หรือ ระบบการสอบแข่งขันในระบบการศึกษา ในหลายๆ ประเทศ เช่น ฟินแลนด์ หรือ สิงค์โปร์ ได้มีการยกเลิกการใช้ high stake test ในทุกระดับชั้นทั้งในเด็กโตและโดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยเปลี่ยนเป็น Low stake test หรือ การประเมินสมรรถนะแทน
โดย หมอเดว ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนบางแห่งในไทยเองก็มีการปรับใช้วิธีนี้แทนแล้ว เช่น การสอบพ่อแม่วัดคุณภาพการเลี้ยงดู หรือ การจับสลากแทน เพื่อไม่เป็นการเพิ่มความตึงเครียดให้แก่เด็กปฐมวัย ที่ยังไม่สามารถควบคุมหรือจัดการอารมณ์ การทดสอบประเมินคุณภาพการเลี้ยงดูที่เข้าเกณฑ์ของพ่อแม่จะไม่ได้อ้างอิงพื้นเพการศึกษาหรือฐานะทางการเงิน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเด็นให้แก่ในสังคม ทั้งที่แม้ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่หวังไว้ สถานศึกษาเองก็ได้เตรียมทางเลือกโรงเรียนเครือข่ายให้แก่เด็กๆ รองรับเผื่อไว้ให้ด้วย
การออกแบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนหลักการและกฏหมายสามารถกระทำโดยมุ่งเป้าให้ตอบโจทย์การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังให้กับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ในชั่วโมงที่ทั่วโลกถกถามและหาทางแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงทุกปีๆ แต่ไทยเองยังไม่ตระหนักถึงคุณภาพในการส่งเสริมคุณภาพและทักษะชีวิตบุคคลอย่างเพียงพอ น่าเป็นห่วงว่าประชากรในอนาคตของประเทศนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปภายในกรอบคิดของผู้ให้การศึกษาที่ไม่ผันตัวตามความเปลี่ยนแปลง