เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์คุณธรรม พัฒนา “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์คุณธรรม” พบว่า ทุนชีวิตสะท้อนพลังบวกของเด็ก และ เยาวชนไทยอ่อนแอลงทุกปี โดยเฉพาะ “พลังชุมชน” หรือจิตสำนึกสาธารณะที่อ่อนแอมาก ถึงขั้นไม่ผ่านเกณฑ์
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ทำการสำรวจ สถานการณ์ต้นทุนชีวิต (Life Asset) ของเด็กและเยาวชนไทยจากกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี กว่า 1 หมื่นคน ในระบบทั่วประเทศ ในโรงเรียนทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ และใหญ่พิเศษ จาก 6 ภูมิภาค ประกอบไปด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำรวจจากเด็กเพศชาย 3,378 ราย เด็กหญิง 7,112 ราย และเพศทางเลือก 123 ราย
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) อธิบายว่า การสำรวจความเห็นของเด็ก คือ การตั้งคำถามกับเด็กๆ ให้สะท้อนว่า รู้สึกอย่างไรกับบ้าน ชุมชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ระบบนิเวศน์” ส่วนนิยามของคำว่า ทุนชีวิต หรือ ต้นทุนชีวิต หมายถึง ทักษะ รู้คิด และ จิตสำนึก ทั้งต่อต้นทุนเองและสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่
ผลสำรวจ พบว่า ต้นทุนชีวิตของเด็กไทย อ่อนแอลงมาก ถึงขั้นไม่ผ่านเกณฑ์ ขณะที่ “พลังครอบครัว” ก็ยังน่าห่วง เนื่องจากพบว่าคะแนนมีแนวโน้มลดลงทุกปี จากเดิม 10 ปีที่แล้วอยู่ในระดับดี
ปี 2552 พลังครอบครัว อยู่ที่ 76.50%
ปี 2562 พลังครอบครัวอยู่ที่ 73.64%
ปี 2564 พลังครอบครัวอยู่ที่ 68.91%
ดูคะแนนของปี 2564 เป็นระดับพอใช้ ผลสำรวจพลังด้านอื่นๆ ในภาพรวมก็มีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อม และ เสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนบนสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดพลังบวก กำลังเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการ “มุ่งเน้น พัฒนา” อย่างจริงจัง
“ทั้งหมดนี้หมอไม่ได้ไปประเมินเขา เด็กประเมินตนเอง แบบสำรวจนี้ยึดหลักจิตสำนึกเลยทุกข้อคำถามเด็กเป็นคนตอบทั้งสิ้น” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว พร้อมอธิบายว่า ผลสำรวจ พบว่า ต้นทุนชีวิตที่มีความอ่อนแอ สะท้อนว่า การสื่อสารกับครู การทำกิจกรรมกับเพื่อน การปรึกษาหารือกับผู้ปกครอง ค่อยๆ ลดระดับลง
“พลังครอบครัว คือ ฐานที่มั่นในการสร้างทุนชีวิตให้กับเด็ก ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง ไม่อยากให้ภาพพลังครอบครัวติดสีแดง หมายความว่าเด็กไม่มีความรู้สึกมั่นคงในชีวิต ผู้ปกครองไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเรื่องราวได้”
ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม จึงแนะทางออก ให้ยกเลิกคำว่า “ปลูกฝังคุณธรรม” และ ใช้คำว่า “วิถีชีวิตแห่งคุณธรรม” เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมแบบพลังบวกให้เด็ก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยผู้ใหญ่ต้องคุมอารมณ์ พัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพ ให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยเมื่อเข้าบ้าน ไม่ให้สังคมเกิดปัญหาเช่นที่เป็นข่าวอย่างเด็กตบตีแม่ตัวเองต่อหน้าเพื่อน
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยตัวชี้วัดคุณธรรมของคนไทยวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-40 ปี ใน 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู กับกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่มสาขาอาชีพ ได้แก่ เกษตร รับราชการ/พนักงานราชการ เอกชน รัฐวิสาหากิจ รับจ้างทั่วไป และธุรกิจส่วนตัว/อิสระ
โดย รศ.นพ.สุริยเดว อธิบายว่า การสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยตัวชี้วัดคุณธรรมของคนไทยวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-40 ปี ด้วยเครื่องมือที่ศูนย์คุณธรรมได้พัฒนาเป็นเครื่องมือแรกในประเทศไทย สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 8,000 คน 6 ภูมิภาค จากผลสำรวจ พบค่าเฉลี่ยคุณธรรมของ กลุ่มตัวอย่าง (จากค่าเฉลี่ยเต็ม 6.00)
พบว่า ด้านความมีวินัยรับผิดชอบ เป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำที่สุด คือ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 4.18, ด้านสุจริต ค่าเฉลี่ย 4.49, ด้านความพอเพียง ค่าเฉลี่ย 4.61 และ ด้านจิตสาธารณะ ค่าเฉลี่ย 4.77 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาตัวบ่งชี้/องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดของคุณธรรมแต่ละด้าน พบว่า ด้านความกตัญญู เรื่อง การเคารพความดี ค่าเฉลี่ยที่ 4.94, ด้านจิตสาธารณะ เรื่อง มีจิตอาสา ค่าเฉลี่ยที่ 4.44, ด้านความพอเพียง เรื่อง ความมีเหตุผล ค่าเฉลี่ยที่ 4.54, ด้านสุจริต เรื่อง การยืนหยัดในความถูกต้อง ค่าเฉลี่ยที่ 4.19 และด้านมีวินัยรับผิดชอบ เรื่อง การควบคุมตนเอง ค่าเฉลี่ยที่ 4.00