อุบัติเหตุน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยองเป็นปัญหาใหญ่ของไทย จึงต้องเร่งสอบสวนและแก้ไขปัญหาให้เด็ดขาดทันที ชวนคุยกับ วราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมแนวทางการเยียวยา
จากสถานการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเลระยอง 400,000 ลิตรตามการประเมินรอบแรกของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม ผู้เป็นเจ้าของและรับผิดชอบอุบัติเหตุในครั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทาง Springnews จึงได้ติดต่อไปยังนาย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสอบถามสถานการณ์และมาตรการการเยียวยา รวมถึงแผนการป้องกันในอนาคต ตามคำถามและคำตอบต่อไปนี้
Q : อย่างที่ทราบสถานการณ์ของน้ำมันดิบรั่วในตอนนี้กันดีว่า ได้เข้ามาถึงหาดแม่รำพึงและได้สั่งปิดหาดและร้านค้าไปแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทราบมาว่าตอนนี้มีความกังวลว่าน้ำมันจะแผ่ขยายไปตามกระแสลมและกระแสน้ำไปยังเกาะเสม็ดและอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ตอนนี้มีการเตรียมการ หรือวางแผนในการสกัดกั้นอย่างไรบ้าง และมีแนวโน้มจะเข้าถึงเกาะเสม็ดได้มากน้อยแค่ไหน
ผมก็ได้ไปประชุมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางกองทัพเรือ ท่านรองสนช.จังหวัดระยอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และก็เจ้าหน้าที่ในส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ และก็กระทรวงอื่นๆ รวมทั้งบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมเองด้วยนะครับ ตอนนี้กระแสน้ำมันพัดจากทางทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก จึงเป็นเหตุๆ นึงที่น้ำมันไม่ได้เข้าหาดแม่รำพึงเยอะเท่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ
ณ ตอนนี้มันกำลังมุ่งหน้าไปที่เกาะเสม็ด ไปที่อ่าวพร้าว ซึ่งถ้าเป็นตรงนี้ เกาะเสม็ด ถ้าดูทางทิศตะวันตกทั้งหมดของเกาะเลยเนี่ย ส่วนที่น่าเป็นห่วงที่สุดเลยคืออ่าวพร้าวตรงที่เป็นแอ่งเข้าไป ได้ประสานงานกับกองทัพเรือ และ จำนวนเรือที่อยู่บริเวณนั้น ขอให้ระดมเรือและตัว BOOM* ที่มีไปเตรียมการไว้ก่อนเพื่อกันไม่ให้น้ำมันที่ลอยไปตามกระแสน้ำเข้าไปในบริเวณอ่าวพร้าวนะครับ
และเนื่องจากบริเวณอ่าวพร้าวมันมีระยะเพียงแค่ 500 เมตรเท่านั้นเอง จากจุดปากทางเข้าอ่าว ดังนั้นจึงเป็นการที่ไม่ยากเกินไปที่จะเอา BOOM ไปกันไม่ให้น้ำมันไหลเข้าไปในบริเวณ แต่ว่าต้องเรียนว่าเวลาใช้ BOOM มันจะกันได้เฉพาะแค่แผ่นฟิล์มน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ถ้าเกิดว่าน้ำมันเจอกับสาร Dispersant* ที่เราฉีดลงไป มันจะจับตัวเป็นก้อนและจมลงสู่ใต้ผิวน้ำแล้วไหลเข้ามาตามกระแสน้ำ อันนี้ก็ไม่สามารถกันโดยใช้ BOOM ได้ ผมก็เลยขอให้ทางบริษัทและกรมควบคุมมลพิษ เตรียมแผ่นซับน้ำมันและมาตรการที่จะไปรออยู่บนหาดในอ่าวพร้าว ที่ถ้าหากมีน้ำมันลอดผ่านไปได้ เราจะได้รีบซับน้ำมันออกแล้วก็นำออกจากหาดโดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
*ทุ่นกักน้ำมัน (Boom) ดักจับคราบน้ำมันบนผิวน้ำ
*สารกระจาย (Dispersant) ซึ่งเป็นสารเพิ่มการกระจายตัวของน้ำมันมักจะถูกนำมาใช้เพื่อเร่งกระจายตัวของน้ำมันให้น้ำมันแตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กและสามารถย่อยสลายได้ง่ายด้วยจุลินทรีย์
Q : ตอนนี้สถานการณ์ของหาดแม่รำพึงมีการจัดการอย่างไรบ้างคะ ดีขึ้นหรือยัง หรืออยู่ในภาวะที่ต้องจับตามองกันต่อไป
24 ชั่วโมงที่ผ่านมานะครับ จากเมื่อวานนี้ที่มีปริมาณน้ำมันขึ้นมาพอสมควร วันนี้ก็ต้องขอบคุณทั้งทางกองทัพ และ ก็ทางอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยกันซับน้ำมันและตักโกยทรายที่ปนเปื้อนน้ำมันออกไป ในขณะนี้ต้องเรียกว่าที่หาดแม่รำพึง สถานการณ์เกือบจะกลับเข้ามาเกือบปกติแล้ว บวกกับว่าที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่ว่า กระแสน้ำพัดจากทางทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกทำให้ปริมาณของตัวน้ำมันไม่ได้เข้ามาชายหาดมากเท่าที่เราคิดครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สตาร์ ปิโตรเลียม ยันพร้อมเยียวยาผู้เดือดร้อน เหตุน้ำมันดิบรั่วในทะเลระยอง
สรุปให้ "น้ำมันดิบรั่ว" กลางทะเลระยอง 400,000 ลิตร ห่วงกระแสลมพัดเข้าฝั่ง
ถอดบทเรียนต่างประเทศ วิธีการ รับมือ น้ำมันรั่วลงในทะเล ด้วยวิธีการต่างๆ
น้ำมันรั่วมาบตาพุด สู่ย้อนเหตุการณ์ ถอดบทเรียนน้ำมันรั่ว ครั้งสำคัญของโลก
Q : การใช้สารเคมี Dispersant มีส่วนทำให้น้ำมันจับตัวเป็นก้อน จะกระทบต่อสัตว์น้ำและแนวประการังหรือไม่อย่างไร?
ครับ ต้องเรียนว่า ตัวน้ำมันเป็นสาร Hydrocarbon และก็ตัว Dispersant เอง ก็มีส่วนผสมของไฮโดรคาร์บอนอยู่ ในระยะยาวแล้วประมาณหนึ่งปีหรือสองปี เมื่อจับกับน้ำมันเป็นก้อนแล้วจมลงสู่ใต้ทะเลจุลินทนรีย์หรือแบคทีเรียจะค่อยๆกัดกินตัวDispersant และน้ำมันไปในที่สุด
แต่ว่าเบื้องต้นนั้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยไว้เป็นน้ำมันอยู่ในสภาพปัจจุบัน และไปเกาะอยู่ที่ปะการัง เพราะเมื่อน้ำมันไปเกาะอยู่บนปะการังเมื่อไหร่ ไม่ถึง 2 ชั่วโมงปะการังจะตายทันที ดังนั้นการใช้สาร Dispersant และทำให้น้ำมันจับตัวกันเป็นก้อนเล็กๆแล้วตีให้แตกออกนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีผลกระทบเลย แต่ว่ามันมีน้อยกว่าถ้าหากว่าน้ำมันยังเป็นแผ่นฟิล์มอยู่
Q : มองในภาพรวม เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายด้านใดบ้าง?
หลายด้านเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือรายได้จากการท่องเที่ยว รายได้จากที่ว่ามีพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวจองที่พักเอาไว้ พอเห็นข่าวเช่นนี้ แน่นอนไม่มีใครอยากมาเที่ยวแน่นอน อันนี้เป็นการสูญเสียรายได้ในด้านของการท่องเที่ยว นอกจากนั้นก็เกี่ยวกับเรื่องของการประมง ที่พี่น้องไม่สามารถจับปลาได้ อย่างน้อยในขณะนี้มีคำว่าขออย่าให้เพิ่งจับสัตว์น้ำเป็นเวลาหนึ่งเดือน อันนี้ก็เสียรายได้ไปแล้ว ซึ่งรายได้พี่น้องชาวประมงเหล่านี้ คงจะมีการชดเชยเบื้องต้นโดยทางจังหวัด เพราะว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว และ ปริมาณเงินส่วนนี้ก็คงจะมีการฟ้องร้องทางกฎหมายกับบริษัทเพื่อให้ชดเชยคืนกลับไปยังรัฐ
นอกจากนั้นก็มีการทำลายความสูญเสียทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะว่าระบบนิเวศน์ใต้ทะเล ปะการัง และอะไรต่างๆ ซึ่งตรงนี้การประเมินค่าเสียหายคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะนึง ในการจะประเมินว่าเป็นอย่างไร ยังไม่นับผลกระทบที่กระทบต่อมนุษย์อีกนะครับ อย่างเช่นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร น้องๆ ทหารที่ไปช่วยกันตักทรายที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน บางคนเจอสารระเหยเมื่อวานนี้นะครับ เจอไปถึงกับงง ต้องเปลี่ยนเวรกันออกมาเลยทีเดียว และกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนด้วยเช่นกัน และก็ทัศนียภาพเอย ความเชื่อมั่นเอย อะไรต่างๆ เรียกว่า จำนวนเงินที่ประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว เกิดความเสียหายเยอะ แต่ว่ายังอยู่ในขั้นตอนที่เราจะมาค่อยๆเยียวยา และแก้ไขปัญหาไม่ให้บานปลายเหมือนตอนปี 56 นะครับ
Q : สรุปตอนนี้ก็คือบริษัทผู้รับผิดชอบสตาร์ปิโตรเลียม คือรอดูสถานการณ์ทั้งหมดและก็จะคอยเยียวยาทีเดียวภายหลัง ?
ไม่ใช่ครับ รอดูทีเดียวไม่ได้ครับ เมื่อกี้ผมไปคุยกับทางบริษัทแล้วว่า คุณต้องออกเดี๋ยวนี้ คือแน่นอนว่าเมื่อคืนนี้ทางบริษัทได้มีการแถลงข่าวร่วมกับทางจังหวัดและอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและก็ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และก็ทางกองทัพเรือด้วยนะครับ ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การรับผิดชอบนั้น คงจะรอให้ถึงตอนจบเลยไม่ได้ เพราะขณะนี้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครของพี่น้องประชาชนที่เอาเรือของตัวเองมาเฝ้าดูคราบน้ำมัน ตรงนี้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นบริษัทจะต้องเริ่มรับผิดชอบตั้งแต่วินาทีนี้เลย จริงๆต้อง2-3 ก่อนหน้านี้มาก่อนแล้ว ไม่ใช่จะรอให้จบก่อนแล้วมารับผิดชอบนะครับ
Q : บริษัทก็รับเรื่องแล้วใช่ไหม ว่าจะไปคำนวนค่าใช้จ่ายมาให้?
ผมบอกเค้าว่า วันนี้เรามีค่าใช้จ่ายอะไรก็ต้องจ่ายมา เช่น ภาครัฐจะต้องใช้น้ำมันในการใช้เรือของภาครัฐ ไปกวาดคราบน้ำมัน ทางบริษัทต้องรับผิดชอบค่าน้ำมันตรงนี้ พี่น้องประชาชนเป็นอาสาสมัครเข้ามา มีค่าอาหาร ค่าเรือ ค่าเครื่องปั่นไฟต่างๆที่พี่น้องประชาชนเอามาช่วย ตรงนี้ทางบริษัทต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง เพราะว่ามันเกิดจากน้ำมันที่รั่วมาจากท่อส่งน้ำมันของทางบริษัทครับ
Q : ผู้รับผิดชอบต้องเป็นบริษัทฝ่ายเดียวเลยหรือเปล่า มีหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวต้องจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยไหม?
คือรับผิดชอบเนี่ย แน่นอนบริษัทต้องรับผิดชอบคนเดียวเต็มๆเลย แต่ว่าในขณะนี้ที่เรียกว่าท้ายที่สุด กระบวนการทางกฎหมายจะต้องมีการเอาผิดให้ถึงที่สุด ผมคนนึงแหละ ที่ไม่ยอม แต่ว่าเบื้องต้นนั้นจะรอกระบวนการทางกฎหมายอย่างเดียวคงจะไม่ทันการ ดังนั้นวันนี้เราจะเอาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรงวมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้เราก็สนธิกำลังกันเข้ามาช่วยกันให้อุบัติเหตุครั้งนี้ มันไม่ลุกลามไปเร็วกว่านี้
Q : จากบทเรียนการรั่วไหลครั้งก่อน ไม่ว่าจะเป็นชลบุรีหรือระยองในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันและการรับมืออุบัติเหตุแบบนี้บ้างไหมก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุนี้
คือในส่วนของบริษัทนั้น ที่ได้รับรายงานก็คือว่า เขามีขั้นตอนการตรวจสอบอุปกรณ์ ท่อต่างๆนะครับ แต่ทีนี้ขั้นตอนต่อไปคงต้องมาตรวจสอบกันแล้ว มันจะมีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา จะต้องไปสอบสวนกันว่า ขั้นตอนการตรวจสอบเอยอะไรเอยนั้นเนี่ย ทำไปตามวงรอบ ทำไปโดยถูกต้อง ทำไปตามระเบียบที่ได้รับหรือไม่ เพราะว่าส่วนนี้เองทางกระทรวงทรัพย์ก็ไม่มีอำนาจไปเรียกมาดู
แต่ว่าวันนี้ผมได้กำชับทางจังหวัดไปและก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปว่าให้เข้มงวดกับทุกๆ โรงงานที่ได้ประกอบกิจการเช่นนี้ โดยเฉพาะที่ติดริมทะเลนะครับว่า ขอให้หมั่นตรวจตราและดูวงรอบนะครับ ใช้เงินในการป้องกันยังน้อยกว่า ใช้เงินในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่นสาเหตุของการรั่วครั้งนี้เรายังตอบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไรนะครับ แต่ว่าถ้าหากว่าเรารู้ก่อนว่าจะมีเหตุรั่ว อาจจะมีโอกาสรั่วแล้วเราเร่งแก้ไขก่อน งบประมาณที่ต้องใช้ในการแก้ไข ป้องกันให้ท่อที่อาจมีโอกาสรั่วให้กลับมาแข็งแรงดังเดิมมันน้อยกว่าจะมาชดเชยค่าเสียหายให้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
Q : พอเป็นไปได้ไหมที่สาเหตุของการรั่วไหลจะเกิดมาจากคุณภาพของท่อตอนขนส่ง ตอนลำเลียงมันไม่ได้คุณภาพ
อันนี้ผมตอบแทนไม่ได้ครับ เพราะผมได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ คงต้องให้ทางคณะกรรมการและทางบริษัทติดตามข้อเท็จจริงต่อไปครับ ตัวผมเองไม่กล้าสรุปในประเด็นนี้นะครับ
Q : คิดว่าการกำจัดน้ำมันหรือว่าปัญหาทั้งหมดจะคลี่คลายได้เร็วที่สุดประมาณช่วงไหน
เบื้องต้นระยะสั้นเนี่ย จะไม่ให้มีน้ำมันมากระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ระยะสั้นไม่ให้เห็นก่อนเลยเนี่ย คาดว่า 1 สัปดาห์น่าจะเรียบร้อย แต่ว่าในระยะยาวจะให้ทุกอย่างกลับคืนสมบูรณ์เหมือนก่อนหน้าวันพุธนั้น คงต้องใช้เวลาอีกเป็นปี เพราะว่าอย่างที่เกิดที่เกาะเสม็ดปี 56 นั่น ก็ใช้เวลาหลายปี 2-3 ปีเลย กว่าจะกลับมาคืนเหมือนอย่างสภาพทุกวันนี้ ผมถึงบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ผมเสียใจ และก็ไม่พอใจอย่างยิ่งที่มันเกิด แน่นอนมันเป็นอุบัติเหตุนะครับ และเข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ แต่ว่าจากนี้ไปคงต้องขอให้บริษัทปิโตรเลียมทุกๆจังหวัดมีความรอบคอบมากขึ้นกว่านี้ มีความระมัดระวังและใช้เงินในการป้องกันให้มากกว่านี้ ผมไม่อยากจะมาแก้ปัญหาทีหลัง เงินที่ใช้ในการป้องกันมันน้อยกว่าเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาทีหลังครับ
Q : ในอนาคตจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนหาสาเหตุการรั่วไหลแน่นอนไหม
อันนี้ผมเชื่อว่าทางจังหวัดเค้าจะมีการตั้งคณะกรรมการอยู่แล้ว อันนี้คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของท่านผู้ว่าการไป ทางกระทรวงก็จะมีเจ้าหน้าที่เป็นคณะกรรมการด้วยเช่นกันครับ
Q : เป็นไปได้ไหมที่กระทรวง ไม่ใช่แค่กระทรวงทรัพย์ แต่เป็นกระทรวงหน่วยงานอื่นๆจะนำอุบัติเหตุครั้งนี้ ไปทบทวนแผนพลังงานชาติ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลง หรือการเฝ้าระวัง การหาพลังงานทดแทนในอนาคตหรือว่าแก้ไขไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
ก็อย่างที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นนะครับว่า ครั้งที่เกิดอุบัติเหตุนั้น คงเป็นโอกาสที่หลายฝ่ายจะมานั่งทบทวนถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย มาตรการรักษาไม่ให้มันเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ทั้งนั้นผมคงตอบแทนภารกิจหน้าที่กระทรวงอื่นไม่ได้ เพราะว่าไม่แน่ใจว่าเค้ามีนโยบายอย่างใด แต่ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายจะได้นำกลับไปเป็นบทศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หาทางไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
Q : แล้วคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมที่พูดว่า “ขอยืนยันว่าการรั่วไหลของน้ำมันดิบจะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวและหาดแม่รำพึงอย่างแน่นอน” ในช่วงก่อนหน้านี้ จนตอนนี้น้ำมันได้เข้าถึงหาดเรียบร้อย มันแสดงถึงความไม่มั่นใจในการประเมินสถานการณ์หรือไม่ เพราะว่าเรื่องนี้ทำประชาชนสับสนอยู่เหมือนกันและตัวเลขที่แถลงจาก SPRC ที่ไม่เท่ากันตั้งแต่การสำรวจประเมินในคืนแรกกับปัจจุบัน คือมันขาดความน่าเชื่อถือ จึงสงสัยว่าการแถลงการณ์แต่ละฉบับน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
คือแบ่งเป็น 2 ประเด็นก่อน ประเด็นที่ 2 ที่พูดถึงเรื่องของปริมาณน้ำมันเนี่ย อันนี้ผมเองตอบแทนบริษัทไม่ได้จริงๆนะครับ เพราะว่าคนเดียวที่จะรู้ดีที่สุดคือทางบริษัท ฉะนั้นทางบริษัทจะต้องแสดงความจริงใจออกมาโดยการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน อันนี้คงจะตอบแทนบริษัทไม่ได้คงต้องให้ทางบริษัทเป็นคนให้ความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชนเพราะว่าเค้าอยู่ในพื้นที่ด้วย และถ้าหากมีปัญหาขึ้นมาทำให้พี่น้องในบริเวณที่ตัวเองอยู่นั้นมีปัญหาเนี่ย ผมว่าคงไม่น่าจะเป็นผลดีกับทางบริษัท
ส่วนประเด็นที่พูดถึงท่านกระทรวงรัฐมนตรีอุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์เบื้องต้นนั้น ต้องเรียนว่า วันที่ท่านรัฐมนตรีมาตรวจราชการ ผมจำได้ว่าก่อนหน้านั้น ผมเองก็ได้ประสานงานกับหลายฝ่าย กระแสน้ำหรือกระแสลมนั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ท่านกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ ก็เป็นอะไรที่สอดคล้องกันกับที่ผมได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน ว่ากระแสน้ำไม่ได้พัดเข้าหาดแม่รำพึง
ในตอนแรกนั้น กระแสน้ำพัดไปยังท่าเรือมาบตาพุดเสียด้วยซ้ำ แต่ว่าธรรมชาติไม่มีอะไรที่คาดเดาได้นะครับ อย่างเช่นผมประชุมกันแล้วบอกว่าคาดว่าเย็นนี้ น้ำมันจะเดินทางไปตามกระแสน้ำไปยัง อ่าวพร้าวที่เกาะเสม็ด ถึงเวลานั้นจริงๆอาจจะไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ แต่อย่างน้อยเราป้องกันไว้ก่อน ดังนั้นธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตลอดก็แล้วแต่ว่าห้วงเวลาไหนเรามีข้อมูลมาอย่างไร เราก็จะนำเสนอให้กับพี่น้องประชาชนในขณะนั้น
แต่ว่าอย่างที่เรียนไปว่า ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระแสน้ำกระแสลมพอมีการเปลี่ยนแปลงปุ๊ป ข้อมูลจะเปลี่ยนไป ดังนั้นผมเชื่อว่าที่ท่านกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้สัมภาษณ์ไปนั้น เมื่อวันที่ท่านมาตรวจราชการนั้น ก็เป็นข้อมูล ณ วันนั้นที่กระแสน้ำเป็นอย่างนั้น และการพยากรณ์อากาศก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งก็เป็นข้อมูลการคาดเดาที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์ไป
ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม