svasdssvasds

มัดรวมทิศทาง 5G ของภาครัฐ จากงาน 5G THAILAND BIG MOVE

มัดรวมทิศทาง 5G ของภาครัฐ จากงาน 5G THAILAND BIG MOVE

พูดถึง 5G กันมากมาย แต่คนไทยรู้แค่ไหนว่า 5G สร้างประโยชน์อะไรให้เราได้บ้าง และรัฐบาลมีแผนใช้งาน 5G แบบไหน อย่างไร บทความนี้จึงนำประเด็นสำคัญและทิศทางการใช้ 5G จาก 3 หน่วยงานภาครัฐ ที่กล่าวบนเวทีสัมมนา 5G THAILAND BIG MOVE...​ DRIVE NEW ECONOMY มาให้อ่านกัน

5G THAILAND BIG MOVE...​ DRIVE NEW ECONOMY เป็นหนึ่งในบิ๊กอีเวนต์ที่ทำให้ได้พบปะพูดคุยกันในโลกจริง (Physical World) ที่สำคัญ คือ ได้รับฟังอนาคตของประเทศจากการใช้งาน 5G

ฟัง 3 ตัวแทนภาครัฐที่มาเผยทิศทางการใช้ 5G

  1. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
    รองนายกรัฐมนตรี
  2. คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  3. คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน
    รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม 

........................................

ปาฐกถาพิเศษ 5G THAILAND BIG MOVE โดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

พลเอกประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเป็นกลไกหลักในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการผลิต การเงิน สาธารณสุข การเกษตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ เพื่อพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้และเศรษฐกิจชุมชน รวมแล้วเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตคนไทย 

เมื่อ  5G ครอบคลุมทุกพื้นที่ ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง ก็จะสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดการใช้งาน 5G อย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความพยายามในกาลผลักดันให้ใช้ 5G พลิกโฉมประเทศ ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสการแข่งขันและพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้ประเทศไทยอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี 5G เข้าเสริมการทำงานในภาคส่วนต่างๆ เป็นการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางหรือฮับของเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยคาดการณ์ว่า ในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ให้ประเทศ 5.5 เท่า  ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

........................................

Special Talk : 5G THAILAND BIG MOVE... ประเทศไทยสู่ DIGITAL HUB อาเซียน โดย คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

คุณชัยวุฒิกล่าวถึง 5G ว่า เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานหลักด้านการสื่อสารของประเทศซึ่งมีการใช้งานเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด ทั้งการประชุมออนไลน์ ขายของออนไลน์ กอปรกับการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และคนไทยก็เข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น

ในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางทำให้คนไทยได้ใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม รวมถึงส่งเสริมการประมูลคลื่นความถี่ 5G ให้ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2570 คนไทยจะได้ใช้งาน 5G ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านราย 

รมต.ดิจิทัลฯ อธิบายเพิ่มว่า 5G ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้เพียงภาคประชาชน แต่ยังใช้พัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ซึ่งนำร่องไปแล้ว 11 จังหวัด นอกจากนี้ ยังใช้พัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

"5G ยังนำไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC หรือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอีกไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่า ทำให้ภาคการผลิต ผลิตสินค้าได้มากขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น และใช้ต้นทุนที่ถูกลง"

คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในด้านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลกำลังพิจารณาว่า คลื่นความถี่ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอในอนาคต จากปริมาณการใช้งานและความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่อีก 

แต่การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี 5G ต้องใช้เงินมหาศาล ภาคเอกชนเพียงรายเดียวอาจไม่พร้อม จึงต้องแชร์ทรัพยากร (Resource) ร่วมกันเพื่อลดต้นทุน เห็นได้จากความร่วมมือระหว่างทรูกับดีแทค แล้ว กสทช.ก็จะเข้ามากำกับดูแลค่าบริการ ไม่ให้สูงเกินไปหรือกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน

........................................

Special Talk : ยุทธศาสตร์ กสทช. พัฒนา 5G ขับเคลื่อนไทย โดย คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม 

คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม 

คุณสุทธิศักดิ์เปิดประเด็นที่ชีวิตวิถีใหม่ว่า โควิด-19 ทำให้คนทำงานต้องทำงานที่บ้าน ลูกหลานได้เรียนออนไลน์ พ่อแม่ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกได้ เรื่องเหล่านี้ทำได้เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผน

เทคโนโลยี 5G ไม่ใช่แค่การสร้างประโยชน์หรือความคุ้มค่าให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ต้องเกิดประโยชน์ในเศรษฐกิจ เชิงสังคม แต่เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ห่างไกลอยู่มาก บางพื้นที่ 5G ยังไปไม่ถึง เช่น พะเยา

"ปัจจุบันเรามี 5G ครอบคลุมพื้นที่ 50% วันนี้เราใช้ Data เฉลี่ย 68-80% เราไปถึง 100% ได้อย่างไร เป็นโจทย์ท้าทาย กับเรื่องราคาที่เป็นธรรม จะทำได้ไหม?" 

ขณะเดียวกัน กสทช.ก็จะไม่ทิ้ง Fixed Broadband ซึ่งถ้าดูจากจำนวนหมู่บ้าน ประเทศไทยมี 74,000 หมู่บ้าน แต่มี Fixed Broadband ให้บริการได้ราว 34,000 หมู่บ้าน ดังนั้น กสทช.จะร่วมก้าวไปกับพาร์ทเนอร์ ผู้ประกอบการ และจะควบคุมราคาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น

คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม 

"เราพยายามสร้างระบบนิเวศให้คนเข้ามาทดสอบมากขึ้น เช่น เชียงราย มี Smart Farming เราวัดความชื้นในแปลงวานิลลา ผลผลิตของแปลงนี้ใช้น้ำน้อยลง 70% ลดการใช้ปุ๋ยค่อนข้างเยอะ แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30% ด้วยการควบคุมจาก กทม.ผ่านแอปพลิเคชั่น โดยใช้เทคโนโลยี 5G"

ในปี 2565 โรงพยาบาลศิริราช ก็จะเป็น Smart Hospital ใช้แอปในการลงทะเบียน การรักษา ต่อไปก็จะเป็น Unman คือ ใช้ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน เพื่อลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ การจ่ายยา ซึ่งการจ่ายยาจะให้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น รวมถึงการจ่ายยาไปยังต่างจังหวัดด้วย รวมถึง สนามบินภูเก็ต ที่ กสทช.เข้าไปทำ Use cases เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

ด้านพื้นที่ที่เข้าถึงเครือข่าย (Coverage) คุณสุทธิศักดิ์บอกว่า ปัจจุบัน 5G ครอบคลุมประมาณ 45% หลังจากนี้ก็จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายความครอบคลุม สร้างบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น เกิดประโยชน์ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติเชิงสังคม และในตอนท้ายยังเผยมาตรการที่อาจตามมา

"มาตรการหนึ่งที่ควรจะต้องทำคือ Infrastructure Sharing ยุบเสารวมกันแล้วแชร์กันได้ ผู้ประกอบการแชร์กัน กทม. การไฟฟ้า สื่อ สตาร์ทอัพ ก็จะมาใช้บริการมากขึ้น แต่สิ่งที่จะต้องเตรียมและอย่าลืมคือ ความพร้อมของประชากรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล"

related