svasdssvasds

บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ?

บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ?

ปัจจุบันพบว่า บุหรี่ไฟฟ้า ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็อาจจะมาจากกระแสในโลกออนไลน์ที่เขาว่ากันว่า “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ไม่มีพิษภัยต่อสุขภาพ สามารถใช้ช่วยเลิกบุหรี่มวนได้”

ความคิดที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยนี้จริงหรือ? เรามีคำตอบจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญมาฝาก แล้วคุณจะรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าที่คิด!

บุหรี่ไฟฟ้า

Electronic cigarette หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นรูปแบบใหม่ของการสูบบุหรี่ที่ “เข้าถึง ติดง่าย ฝังลึกถึงยีน (Gene)” ซึ่งมาในรูปแบบอุปกรณ์รูปบแบบใหม่ที่ส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายผ่านละอองฝอยที่เข้าสู่ร่างกายได้ละเอียดอ่อนโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้ (Heat-not-burn products) และด้วยรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าบวกกับการโฆษณาในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง ด้วยการอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย มีแต่ไอน้ำกับสารนิโคติน  อีกทั้งยังมีการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีทั้งรสผลไม้และรส มีการพ่นควันที่เรียกว่า Cloud Contest  เป็นเทคนิคยั่วยวนเชิญชวนให้เริ่ม ไม่ใช่เลิก เป็นการใช้หลักจิตวิทยาพลังบวกกับสารนิโคติน

ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช

ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช  ประธานองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) เปิดเผยว่า  “ขณะนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคตินจากใบยาสูบและสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงกว่าบุหรี่ทั่วไป ในฐานะวิชาชีพทันตแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพสุขภาพตระหนักดีว่า ภัยคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้ามีมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพช่องปาก ที่เพิ่มความรุนแรงของฟันผุ ลดความต้านทานของเนื้อเยื่อในช่องปาก กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและโรคปริทันต์ง่ายขึ้น ทำให้สุขอนามัยในช่องปากเสื่อมโทรมลง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ใช้ยาสูบอายุน้อยมีแนวโน้มใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ?
ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มีข้อมูลชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิต การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบที่ตำแหน่งอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคหลอดเลือดแดงสมองตีบ โรคหลอดเลือดแดงขาส่วนปลายตีบ มีการศึกษาสนับสนุนว่า การเลิกบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับคนที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ ดังนั้นสมาคมโรคหัวใจทั้งในและต่างประเทศ จึงมีคำแนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ ทั้งในแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย”

ทางด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  “โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังของหลอดลมและถุงลมปอด จากฝุ่น ควัน หรือก๊าซที่เป็นพิษ ส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนน้อยเกิดจากมลพิษ ปัจจุบันโรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคเรื้อรังอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเกิดภาวะทุพพลภาพและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคถุงลมโป่งพองจะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น”

บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ? ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุแนวโน้มการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า (electronic cigarette) ในสหรัฐอเมริกาของกลุ่มเด็กเยาวชน ปี 2562 พบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมต้นเท่ากับ 5.3% มัธยมปลายเท่ากับ 16% รวมแล้วมีนักเรียนมัธยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 ล้านคน ขณะที่ผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 25 ปี มีเพียง 3.7% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งนิโคตินเป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทำให้เกิดความไม่สมดุลของสารในสมอง สมองจะมีความรู้สึกโหยหา

และจากข้อมูลของ WHO ปี 2561 พบว่า คนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรค NCDs ราวปีละ 398,860 คน หรือ 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 - 13 กันยายน 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 14,485 คน ในจำนวนนี้ป่วยด้วยโรค NCDs 9,705 คน หรือ 67% ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งนี้ โรค NCDs เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายดูแลรักษาสูง ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการทำงาน สุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของบุคคล รวมทั้งเศรษฐกิจของครัวเรือนและประเทศ

บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ?

ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่าปีละ 8 ล้านคนทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมยาสูบมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ๆ เพื่อจูงใจให้เด็ก เยาวชน และนักสูบหน้าใหม่เสพติดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ บราซิล และไทย มีนโยบายห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่พบว่ามีความพยายามของบริษัทยาสูบข้ามชาติสร้างกระแสผลักดันกฎหมาย ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้อง โดยบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่จูงใจให้คนหันมาสูบและเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และสุดท้ายกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข

รศ.นพ.สมบัติ  มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละกว่า 7 หมื่นราย พบนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท ขณะที่รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ได้ 68,603 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องควันบุหรี่มือสอง ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหากผู้อยู่อาศัยสูดดมเข้าไป และบุหรี่มือสาม ซึ่งเป็นสารตกค้างที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมหากมีการสัมผัสบ่อย เช่น สิ่งของ เสื้อผ้า  

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการพลักดันจากหลายหน่วยงานให้รัฐคงนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย อีกทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์กรอนามัยโลก (FCTC) ซึ่งรัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงนโยบายจากอุตสาหกรรมยาสูบ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการที่ผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าได้มีความพยายามที่จะเสนอแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ จึงเป็นการขัดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรอนามัยโลกอย่างชัดเจน