ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะกลับในอีกไม่ช้านี้แล้ว ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร มาจากไหน เกิดจากอะไร Springnews ชวนชาวกทม.และคนไทยทุกคนมาร่วมสังเกตและอัพเดตความเคลื่อนไหวของสภาพภูมิอากาศกัน
ใกล้เข้ามาแล้วกับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปีที่มาพร้อมกับเทศกาลแห่งฝุ่นที่แฝงภัยเงียบไว้เต็มเปี่ยม ในทุกๆช่วงท้ายปีถึงต้นปีถัดไป เรามักจะพบบกับหมอกจางๆและควันเต็มบนท้องฟ้าไปหมด จนเริ่มสงสัยว่ามันเป็นหมอกฤดูหนาวหรือเปล่านะ แต่พอละมองดีๆแล้ว เผลอจามออกมาเฉยเลย เพราะมันไม่ใช่หมอกจ้า มันคือฝุ่น PM2.5 ตัวร้ายนั่นเอง การเกิดขึ้นของ PM 2.5 บ่งบอกถึงสภาพอากาศที่เลวร้ายและต้องรีบจัดการเพราะส่งผลโดยตรงต่อระบบหายใจและสุขภาพโดยรวมของมนุษย์เรา แล้วฝุ่น PM2.5 คืออะไร มาจากไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้างและมีทางแก้อย่างไร ไปหาคำตอบกัน
PM ย่อมาจาก Particulate Matters คือฝุ่นละอองในอากาศที่มีอนุภาคเล็กมาก มีหน่วยเป็นไมครอน PM 2.5 คือหน่วย PM ที่มีขนาด 2.5 ไมครอน ส่วน PM10 จะมีขนาด 10 ไมครอน ด้วยความที่ฝุ่นเหล่านี้มีขนาดเล็กมาก เราจึงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรอก แต่เมื่อมันรวมตัวกันมากๆ เราก็จะเห็นอย่างในตอนเช้าช่วงนี้ ฝุ่นเริ่มเกาะตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนและล่องลอยอยู่ในอากาศจนเห็นได้ชัดเลยทีเดียว
สาเหตุส่วนใหญ่ของPM 2.5 เกิดมาจากการเผาไหม้ของท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงในโรงงาน เป็นต้น และความสามารถที่ล้ำขึ้นไปอีกคืออนุภาคของพวกมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆที่ลอยอยู่ในอากาศได้ด้วย อย่าง สารไฮโดรคาร์บอนและโลหะหนัก เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐคุมเข้ม! ห้ามใช้รถควันดำ ตรวจจับ-ปรับจริง ป้องกันฝุ่น PM 2.5
การประชุม COP26 จบแล้วยังไงต่อดี? สรุปสาระสำคัญจากการหารือของผู้นำโลก
COP26 เรื่องเงินๆทองๆในการชดใช้ค่าเสียหายจากภาวะโลกร้อนของประเทศร่ำรวย
โลกร้อน ไม่ใช่ Fakenews เหมือนใน Facebook หลังชาวเมืองลาปาซกำลังถูกเผา
ด้วยความเล็กจิ๋วของละอองฝุ่นเหล่านี้ มันจึงง่ายมากที่จะสามารถลอดผ่านจมูกของมนุษย์เราไปยังปอดหรืออวัยวะต่างๆในร่ายกายมนุษย์ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง หากไม่มีการป้องกันที่ดีพอ เวลาเราเผชิญกับฝุ่นเหล่านี้เป็นเวลานานๆเราจะเริ่มรู้สึกแสบตา แสบจมูก แสบคอ เพราะมันเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของเราแล้วแหละ กลุ่มคนที่ตอบสนองต่ออาการเหล่านี้ง่ายคือ ผู้มีโรคประจำตัวอย่าง โรคภูมิแพ้ โรคปอด (หอบหืด,ถุงลมโป่งพอง) บางรายหนักถึงขั้นที่มีเลือดไหลออกจากโพรงจมูก บางคนอาจเกิดอาการระคายเคืองตามผิวหนังและรูขุมขน มีรอยแดงเป็นจ้ำๆ ผิวหน้ามันขึ้นเพราะเกิดการอุดตันของผิวและก่อให้เกิดสิวได้ง่าย
นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้วผลกระทบอื่นๆก็ตามมาอย่างล้นหลามจากภาวะโดมิโน่เหล่านี้ เช่น ผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศที่ไม่มีความชัดเจน จะสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้างและส่งผลกระทบต่อความหวาดกลัวในหมู่นักท่องเที่ยวและกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆด้วย รวมไปถึงความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ซึ่งจากเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2562 มีการรายงานสภาพอากาศปัญหา PM2.5 กันอย่างกว้างขวางสร้างความตื่นตระหนกในประชาชนและเริ่มมีการกว้านซื้อหน้ากากอนามัยกันจนขาดตลาดและราคาพึ่งสูงขึ้นและรัฐไม่สามารถจัดการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที จึงส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในการบริหารประเทศ
วิธีการป้องกันตัวเบื้องต้นคือ ให้สังเกตสภาพอากาศทุกเช้าว่าปกติดีไหม มีกลุ่มก้อนของอากาศที่คล้ายหมอกลอยอยู่หนาแน่นจนผิดสังเกตหรือเปล่า สิ่งที่ผู้เขียนมีติดเครื่องมือถือไว้เสมอคือแอพพลิเคชัน AirVisual ให้เราตั้งค่าการแจ้งเตือนไว้ แอพจะทำการแจ้งเตือนสภาพอากาศให้เราทราบในทุกๆเช้าหรือเมื่อสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงหากมีระดับที่เริ่มน่าเป็นห่วงให้เตรียมใส่หน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันฝุ่น pm2.5ได้ ช่วงนี้เห็นหลายคนใส่หน้ากากอนามัยหลากหลายรูปแบบมากๆเพื่อป้องกันโควิด-19 แต่เมื่อฤดูของฝุ่นมาถึงก็อย่าลืมเปลี่ยนไปใช้หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น pm2.5ได้ด้วยล่ะ และหมั่นสังเกตอาการของตนเองเมอ หากมีอาการปกติหรือเข้าค่ายกลุ่มอาการที่กล่าวไปข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ได้ศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ PM10 ผลการศึกษาพบว่า มูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM10 ของกรุงเทพฯ จะมีมูลค่าสูงถึง 446,023 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ทางสถาบันได้ลองคำนวนคร่าวๆพบว่าในกรุงเทพฯ แต่ละครัวเรือนจะมีมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายเท่ากับ 6,379.67 บาท/ปี/µg/m3 ของPM10 10 ถ้านำมูลค่าดังกล่าวมาคูณกับจำนวนครัวเรือนของกรุงเทพฯ ณ สิ้นปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีจานวน 2,887,274 ครัวเรือนจะพบว่าทุกๆ 1 µg/m3ของ PM10 ที่เกินกว่าระดับปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน จะสร้างความเสียหายให้กับคนกรุงเทพฯ สูงถึง 18,420 ล้านบาทต่อปีหากนำมาคูณกับความเข้มข้นของฝุ่น PM10 ในกรุงเทพฯ ที่มีค่าเกินระดับปลอดภัยถึง 24.21 µg/m3 (คำนวณจากส่วนต่างระหว่างระดับปลอดภัยของฝุ่น PM10 ตามมาตรฐานที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกที่ 20 µg/m3/ปี และระดับฝุ่น PM10 ในปี 2560 ซึ่งเท่ากับ 44.21 µg/m3/0ปี) ผลการศึกษาครั้งนี้จึงพบว่ามูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นPM 1010ของกรุงเทพฯ จะมีมูลค่าสูงถึง 446,023 ล้านบาท/ปี
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Open Data) จึงร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited) ในการสร้างระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการตรวจวัดสภาพอากาศที่ได้มาตรฐานและแบ่งระดับการจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์ฝุ่นควันที่กำลังก่อตัวขึ้นในแต่ละปี
การจัดการปัญหาคุณภาพอากาศมีทั้งหมด 3 ระดับ 3 รูปแบบ
ระดับที่ 1 : การตระหนักรู้และการรับมือ พร้อมติดตามคุณภาพอากาศทุกที่ทุกเวลา ในรูปแบบของ Passive โดยจะแจ้งเตือนให้ประชาชนและหน่วยงานทราบถึงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเครื่องมือจากสถานีวัดคุณภาพอากาศที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
ระดับที่ 2 : ศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบ ปัจจัยและสาเหตุของปัญหาเพื่อพัฒนาโมเดล ในรูปแบบของ Responsive โดยจะสร้างบริการ Open Data ด้านข้อมูลสภาพอากาศเพื่อศึกษา วิจัย และใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยคลังเครื่องมือ Big Data ที่รวบรวมจากอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงระบบวิเคราะห์ต่างๆด้วย
ระดับที่ 3 : ใช้ข้อมูลปัจจุบันและโมเดลเพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในรูปแบบของ Proactive เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงให้แก่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ เพื่อเตรียมรับมือ ด้วยเครื่องมือระบบ AI ในการวิเคราะห์รูปแบบความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างข้อมูลเพื่อสร้างเป็นโมเดลและนำไปสู่ Expert System ต่อไป
โดยภาพรวมของโครงการคาดว่าจะวางเครือข่ายดังกล่าวประมาณ 8,000 สถานีตรวจวัด และสร้าง Big Data สำหรับข้อมูลที่เก็บได้ และระบบจะประสานงานและเตือนภัยไปยังประชาชนและหน่วยงาน ในพร้อมให้บริการข้อมูลในรูปแบบของ Open Data
นอกจากนี้ไม่เพียงแค่ตรวจวัดฝุ่น PM ได้เท่านั้น ข้อมูลแจ้งเตือนในระบบ Data จะสามารถเช็คได้ด้วยว่า เวลา ณ ปัจจุบันมีอุณหภูมิเท่าไร่ ความกดอากาศเป็นยังไง ความชื้นมากไหม ความเร็วลมเท่าไหร่และทิศทางลมไปทางไหน เป็นต้น เครื่องวัดที่ไปติดตั้งแต่ละพื้นที่ห่างไกลไม่จำเป็นต้องมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในการให้พลังงานหรืออินเตอร์เน็ตใดๆในการเชื่อมต่อด้วย
ระบบงานเหล่านี้คือการรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายที่ก่อตัวขึ้นทุกปี เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงนโยบายและข้อตกลง ควันหลงจากงานประชุม COP26 ที่จบไปแล้ว ในการส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนได้รับเงินทุนในการจัดสรรเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า หากไม่รีบแก้ไขตอนนี้
ที่มาข้อมูล theworldmedicalcenter.com