svasdssvasds

เทคโนโลยี 5G ณ ตอนนี้ มีกี่บริษัทที่ผ่านมาตรฐานโลก?

เทคโนโลยี 5G ณ ตอนนี้ มีกี่บริษัทที่ผ่านมาตรฐานโลก?

ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มี 5G (เร็วกว่า 4G ได้ถึง 10-100 เท่า) และใช้เน็ตได้อย่างเสถียร เกมเมอร์ สตรีมเมอร์ หรือคนที่ชอบดูซีรีส์น่าจะแฮปปี้มากถึงมากที่สุด เพราะเกมไม่กระตุก นางเอกไม่มีหน้าเหวอ พระเอกงานเกาของภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกไม่อยู่ในสภาพหล่อสะดุดให้หงุดหงิดใจ

5G ไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เร็วติดจรวด ไม่ได้ตอบโจทย์แค่เกมและความบันเทิง แต่สำคัญต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้

รู้ทัน 5G ว่าโตได้โตดี ไม่มียั้ง

Ericsson Mobility Report, JUNE 2021 ฉบับที่ 20 ระบุว่า 5G จะกลายเป็นเครือข่ายไร้สายที่มีการใช้เร็วที่สุดตลอดกาล และภายในสิ้นปี 2026 (พ.ศ. 2569) คาดการณ์ว่า จะมีผู้ใช้ 5G แตะ 3.5 พันล้านราย และจะครอบคลุมถึง 60% ของประชากร 5G ทั้งหมด 

เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันมีมากกว่า 1.1 พันล้านราย ในขณะที่ยอดผู้ใช้งาน 5G ยังต่ำกว่าระดับ 2 ล้านราย แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการสมัครใช้ 5G จะเติบโตอย่างมากในอีกไม่กี่ปีโดยจะมียอดรวมพุ่งขึ้นถึง 400 ล้านราย ภายในปี 2026

ตอนนี้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวใช้งาน 5G ถึง 10 GB ต่อไปจะเป็นยังไง?

  • การใช้ Mobile Data ในปัจจุบัน คาดว่าเกิน 10GB ต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง
  • ปัจจุบันมีมากกว่า 160 ผู้ให้บริการที่เปิดให้ใช้งาน 5G กระจายอยู่ทั่วโลก
  • ภายในสิ้นปี 2021 คาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้ใช้งาน 5G ทั่วโลกแตะหลัก 580 ล้านราย
  • คาดว่าปี 2026 จะมีผู้ใช้งาน 5G มากถึง 3.5 พันล้านราย

Ericsson Mobility Report: More than half a billion 5G subscriptions by the end of 2021

สำหรับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย คาดว่าจะมีการใช้งาน 5G ถึงหลัก 39 GB (กิกะไบต์) ต่อเดือน ภายในปี 2026 มากที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก

และหากดูค่าเฉลี่ยๆ อื่น Ericsson Mobility Report, JUNE 2021 เผยตัวเลขคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ 5G โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 36% ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉลี่ยการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 42% และจะเพิ่มขึ้นถึง 39 EB (เอกซะไบต์) ต่อเดือน อันเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้สมัครใช้ 4G และการเปลี่ยนมาใช้เครือข่าย 5G ในประเทศที่มี 5G ใช้งานแล้ว

Photo by ThisisEngineering RAEng on Unsplash

ทำไม 5G ที่โลกยอมรับ มีชื่ออยู่ 4 องค์กร?

ไม่นานมานี้ SPRiNG ได้พูดคุยกับ ดร.ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด และทำบทความสรุปเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่ควรรู้ไว้ในบทความ 3 แนวโน้มที่คุณต้องรู้ ถ้าไม่อยากโดนแฮกมากกว่าเงินในบัญชี! จากการพูดคุยในตอนนั้น ดร.ปริญญาย้ำว่า โรคระบาดทำให้หลายประเทศรวมถึงไทย ใช้ประโยชน์จาก 5G ในด้านการแพทย์และในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ให้บริการเทคโนโลยี 5G มีมากกว่า 100 แห่ง แต่มีองค์กรที่พัฒนาเทคโนโลยี 5G เพียง 4 แห่งที่ได้รับการยอมรับจาก Network Equipment Security Assurance Scheme (NESAS) ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ครอบครองสิทธิบัตรเกี่ยวกับ 5G มากเป็นอันดับต้นๆ นั่นคือ

  • Nokia (ฟินแลนด์)
  • Ericsson (สวีเดน)
  • Huawei (จีน)
  • ZTE (จีน)

ดร.ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด

Huawei เป็นผู้นำด้าน 5G ที่มาแรงแซงโค้ง แต่เมื่อเจอมรสุม Trade & Tech War ระหว่าง จีน vs อเมริกา ZTE ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โอกาสการเติบโตของ 5G ในฝั่งอเมริกาและยุโรปจึงเอนไปทาง Ericsson กับ Nokia แบบเนื้อๆ เน้นๆ

แล้ว NESAS คืออะไร?

ภัยคุกคามทางไซเบอร์รุกหนักทั่วโลก ท่ามกลางโรคระบาดที่ยังรุกหนักไม่แพ้กัน GSMA องค์กรระดับโลกที่รวมระบบนิเวศการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อการค้นหา ตรวจสอบ ส่งมอบนวัตกรรมสู่สังคม จึงจับมือกับ 3GPP องค์กรที่เกิดจากความร่วมมือของ 7 ธุรกิจโทรคมนาคม สร้างเครือข่าย Network Equipment Security Assurance Scheme (NESAS) เพื่อร่วมกันตรวจสอบว่า องค์กรที่พัฒนาเทคโนโลยี 5G ดีไวซ์ที่รองรับ และบริษัทผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าใช้งานได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกโจรไซเบอร์โจรกรรมข้อมูล และแบรนด์มีความน่าเชื่อถืออย่างไรก็ตาม องค์กรที่ต้องการให้ NESAS การันตี ต้องเป็นฝ่ายยื่นเรื่อง ยอมเผยแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบ หากผ่านเกณฑ์จึงจะได้รับการยืนยันเป็น Certification

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่า มีองค์กรยื่นเรื่องขอตรวจสอบมากเพียงใด แต่มีชื่อเพียง 4 องค์กรข้างต้นที่ได้รับการยืนยันว่า ผ่านเกณฑ์ตามที่ NESAS กำหนด

Photo by Adi Goldstein on Unsplash

พัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของ 5G คาดการณ์ได้ว่า ผู้ใช้งานก็น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน โดย นาดีน อัลเลน ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ไทม์ไลน์การสมัครใช้งาน 5G จะสูงเกิน 1 พันล้านราย เร็วกว่าไทม์ไลน์ของชาวโลกที่สมัครใช้ 4G LTE ถึง 2 ปี ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ

  • ความมุ่งมั่นในการพัฒนา 5G ของจีน ตั้งแต่ช่วงแรกๆ
  • ความพร้อมใช้งานที่มาเร็วขึ้
  • การวางจำหน่ายอุปกรณ์ที่รองรับ 5G เพิ่มขึ้น เช่น สมาร์ทโฟนที่รองรับเครือข่าย 5G ที่มีมากกว่า 300 รุ่น  

ยังไม่เข้าใจว่า ใช้เทคโนโลยี 5G น่ากังวลตรงไหน?

5G จะมีบทบาทมากขึ้นในด้านการเชื่อมต่อและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าแฮกเกอร์หรืออาชญากรไซเบอร์ย่อมจับจ้อง หาทางเจาะเข้าเครือข่ายเพื่อหาผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย (หรือไม่ก็บ่อนทำลาย)

ในระดับองค์กร ดร.ปริญญาเผยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศว่า การโจมตีทางไซเบอร์มักมีสาเหตุมาจากการที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเชื่อมต่อกับ หน่วยงานที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) หมายความว่า แฮกเกอร์ไม่เจาะเข้าระบบต้นทางและปลายทาง แต่เจาะเข้าระบบบริษัทตัวกลางหรือบริษัทคู่ค้า

ยกตัวอย่าง : การผลิตสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานในหลายประเทศ (ด้วยวัตถุดิบ, ราคา, ศักยภาพที่ต่างกัน) เช่น Apple สั่งชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ในจีน ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน เบลเยียม ออสเตรีย ฯลฯ

Electronic Chip | Photo by Adi Goldstein on Unsplash

เนื่องจากการใช้งาน 5G ต้องพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ที่รองรับ และเครือข่าย ในประเด็นนี้ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับคู่ค้าในอเมริกา (supplier, compliance) อาจได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบมาตรฐาน NESAS ซึ่งรวมถึง CMMC การตรวจละเอียดถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และต้องเปิดเผย Source Code ให้ทางการอ่านได้

เฉพาะบริษัทในประเทศไทยที่ส่งสินค้าไปยังอเมริกา เช่น Apple เผยรายชื่อซัพพลายเออร์ในปี 2020 ว่า มีบริษัทไทยอยู่ในลิสต์ 15 แห่ง นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัทไม่ได้ส่งสินค้าไปตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าว หรือตรวจสอบแล้วแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะไม่สามารถค้าขายกับบริษัทคู่ค้าในอเมริกาได้

สมมุติว่า แฮกเกอร์เจาะเข้าระบบขนส่งของซัพพลายเออร์ และควบคุมเส้นทางการจัดส่งสินค้าใหม่ ของอาจไปไม่ถึงปลายทาง การประกอบสมาร์ทโฟนก็จะยังทำไม่ได้เพราะขาดบางชิ้นส่วน งานค้างในระบบ ผลิตภัณฑ์ก็ออกสู่ตลาดล่าช้า ผู้บริโภคก็รอแล้วรอเล่า...สะเทือนเป็นโดมิโน่

อีกเหตุการณ์สมมุติ รถพยาบาลที่ติดตั้งโครงข่าย 5G พยาบาลอาจขอให้แพทย์วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินจากระยะไกลได้ คนขับสามารถดูได้ว่า เส้นทางไหนพาผู้ป่วยไปส่งสถานพยาบาลได้เร็วที่สุด สถานพยาบาลรับทราบข้อมูลผู้ป่วยล่วงหน้าผ่าน 5G ก็สามารถตระเตรียมอุปกรณ์ ห้องผ่าตัด หรือเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ เพื่อเซฟผู้ป่วยให้พ้นนาทีวิกฤต

คงพอเห็นภาพแล้วว่า 5G เกี่ยวข้องกับชีวิตและธุรกิจของพวกเราทุกคนและทุกตรง ดังนั้น แค่ใช้ประโยชน์จาก 5G ยังไม่พอ ต้องรู้วิธีป้องกันภัยไซเบอร์ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาเพื่อปกป้องข้อมูลหรือเพื่อให้บาดเจ็บน้อยที่สุด

......................................

ที่มา

related