จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นและแซงสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง ความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อช่วยต้านไวรัสให้แก่ผู้ป่วยโควิดย่อมเพิ่มตาม แม้ อภ.จะออกมาบอกข่าวดีว่า ไทยจะผลิตได้เองในเดือนสิงหาคม 64 แต่ยังไงก็ต้องสั่งเข้ามาเพิ่ม
เป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการให้ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในมุมที่ว่า ควรให้ยาเมื่อผู้ป่วยโควิด 19 มีอาการหนัก เชื้อลงปอด หรือควรให้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเปลี่ยนเป็นกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง
สถานการณ์ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทางออกอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักและเสียชีวิต คือ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น เราจึงต้องมียาสำรองในประเทศจำนวนไม่น้อย
อย่างไรก็ดี องค์การเภสัชกรรมนำเข้ายาต้านไวรัสชนิดนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังขึ้นทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตเองได้สำเร็จเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะผลิตได้อย่างน้อยเดือนละ 2 ล้านเม็ด และในเดือนสิงหาคมนี้ คนไทยก็จะได้ใช้ยาล็อตแรกที่ผลิตในประเทศ
ลำดับการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ตั้งแต่โควิดระบาด
ที่มา : องค์การเภสัชกรรม
ไทยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 50,000 เม็ด!
ข้อมูลบนเว็บไซต์องค์การเภสัชกรรมระบุไว้ ณ วันที่ 14 พ.ค. 64 ว่า ประเทศไทยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด 19 วันละ 50,000 เม็ด หากพิจารณาแบบรายเดือนให้เข้าใจง่าย เราต้องการใช้ยาอย่างน้อยเดือนละ 1.5 ล้านเม็ด
แต่นั่นคือความต้องการที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่แล้ว
และเนื่องจากอาการของผู้ติดเชื้อโควิดทรุดลงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว จนเกินกำลังที่ทรัพยากรด้านสาธารณสุขจะแบกรับไหว กระทรวงสาธารณสุขจึงออก แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ 21 ก.ค. 2564 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข โดยใจความสำคัญเกี่ยวกับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คือ เมื่อแบ่งตาม 4 กลุ่มอาการ สามารถให้ยาแก่ผู้ป่วยกลุ่ม 2 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญได้ โดยคำแนะนำคือ เริ่มให้ยา Favipiravir ให้เร็วที่สุด แต่ หากตรวจพบเชื้อเกิน 7 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์
"สรยุทธ" ตอบกลับชัด หลังหมอกล่าวหาปมนำ ยาฟาวิพิราเวียร์ มาแจกคน
อย. ประกาศขึ้นทะเบียน "ฟาวิพิราเวียร์" ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว
นายกฯ เผย ฟ้าทะลายโจร ใช้คู่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยบรรเทาโควิด-19
เราต้องรอด! เพราะ อภ.กำลังนำเข้ายาล็อตใหญ่
ไทยขาดองค์ความรู้ด้านการผลิตยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ จึงต้องสั่งซื้อจำนวนมาก และในช่วงนี้ก็กำลังทยอยนำเข้ายาจากเมืองไท่โจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน เข้ามาเพิ่มในนามของ เจ้อเจียง ไฮซัน ฟาร์มาซูติคัล (海正药业: Zhejiang Hisun Pharmaceutical Co., Ltd.) บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1956 และมี Hisun Pharmaceuticals USA บริษัทลูกในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม เผยข้อมูลเกี่ยวกับยาบนเฟซบุ๊ก Nuttaporn Voonklinhom ว่า ราคาขายปลีกตอนนี้ คนจีนที่ต้องใช้รักษาสามารถสั่งซื้อผ่าน WeChat Mini App เองได้ จากราคา 900RMB (ราว 4,500 บาท) ต่อกล่อง เหลือ 870RMB (ราว 4,350 บาท) ส่วนราคาแบบซื้อจากออนไลน์ของรัฐซื้อ คือกล่องละ 812RMB (ราว 4,060 บาท)
หมายความว่า ไทยนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์จาก เจ้อเจียง ไฮซัน ฟาร์มาซูติคัล ผ่าน อภ. (GPO) แต่คนไทยไม่สามารถหาซื้อยาเองได้ ส่วนชาวจีนที่ต้องการยาก็สามารถสั่งซื้อได้เอง โดยมีเรตราคาอยู่ระหว่าง 4,060 - 4,500 บาท และต้องมี Health QR Code แสดงในระบบว่า ป่วยจริงจึงจะสั่งซื้อได้
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการให้ยา ชวนอ่านแนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่แบ่ง 4 กลุ่มตามอาการ
หากพิจารณาจาก แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ 21 ก.ค. 2564 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ที่กล่าวถึงในตอนต้น แบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการอื่นๆ หรือสบายดี (Asymptomatic COVID-19)
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors for severe disease)
3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 (COVID-19 with risk factors for severe disease or having co-morbidlity or mild pneumonia)
ปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุ > 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง (CKD โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI 30 กก./ตร.ม.) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น
4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวมที่มี hypoxia (resting O2, saturation <96 %) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO, 23% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง (exercise-induced hypoxemia) หรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates
เมื่อผู้ป่วยที่สามารถรับยาต้านไวรัสได้ขยายวงกว้างขึ้น การติดต่อขอยาไปตามภาคส่วนต่างๆ เพื่อกักตัว ทำ Home Isolation (HI) & Community Isolation (CI) ยิ่งทำให้ Demand ยาอยู่เหนือ Supply (ความต้องการซื้อยามากกว่าความต้องการขาย) การขอสนับสนุนยาที่ยังคงติดขัดหรือล่าช้าล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดที่ขยายวงออกไปและการมีชีวิตรอด กอปรกับช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอสำหรับคนไทยทุกคนหรือสำหรับประชากร 70% ของประเทศ สิ่งที่ทำได้ทันทีเพื่อตัวคุณเองและครอบครัวคือ ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ตามหลัก D-M-H-T-T
ที่มา