ดูอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน รัสเซีย ที่ผลิตวัคซีนโควิดได้เอง จึงมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และความมั่นคง ไทยเองก็กำลังพัฒนาวัคซีนอยู่ ตัวแรกคือ ChulaCov-19 (ชนิด mRNA) ตัวที่สองคือ HXP-GPOVac (ชนิดเชื้อตาย) และยังอยู่ในเฟส 2 ทั้งคู่
อ่านบทความก่อนหน้าเกี่ยวกับวัคซีนตัวแรกของไทย
ก่อนที่จะเกิดวัคซีน HXP-GPOVac
วัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac หรือในชื่อทางการ NDV-HXP-S ที่ยังอยู่ในระหว่างทดสอบประสิทธิภาพ เป็นการ Collaborate ระหว่าง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยอยู่ภายใต้โครงการศึกษาด้านความปลอดภัยและระดับภูมิต้านทานของวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (GRO NDV HXP-S)
ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีนและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่อง HXP-GPOVac วัคซีน COVID-19 ฝีมือคนไทย ผ่าน มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ว่า ทาง ม.มหิดลได้รับหัวเชื้อเพื่อผลิตวัคซีนโควิด 19 จาก Icahn School of Medicine at Mount Sinai ผ่านทาง PATH องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐอเมริกา เมื่อนำมาผนวกกับองค์ความรู้ขององค์การเภสัชกรรมซึ่งมีเทคโนโลยีผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายสำหรับไข้หวัดใหญ่โดยใช้ไข่ไก่ฟัก พบว่าสามารถรองรับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้
บทบาทของ ศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คือ การศึกษาวิจัยทางคลินิกเพื่อตรวจหาความปลอดภัยในระดับภูมิต้านทานของวัคซีนชนิดเชื้อตาย
ต่อมาก็นำวัคซีนที่ผลิตได้ไปวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี จึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบในมนุษย์
การทดสอบ HXP-GPOVac 3 เฟส ในกลุ่มอาสาสมัครอายุระหว่าง 18 - 59 ปี
ทั้งนี้ ทาง อภ.คาดการณ์ว่า จะสามารถผลิตวัคซีนออกสู่ตลาดได้ประมาณ 30 ล้านโดส ภายในปี 2565
บทความเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิดตัวแรก
วัคซีนโควิดไทยขึ้นกระดานวัคซีนโลก
SPRiNG เคยนำเสนอบทความ เปิดลิสต์ 14 วัคซีนโควิด 19 ที่ชาวโลกยอมรับ แล้วไทยอนุมัติกี่ชนิด? โดยนำข้อมูลจาก covid19.trackvaccines.org เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมีการใช้งานจริงอย่างน้อย 1 ประเทศ จาก Data เกี่ยวกับวัคซีนที่มีการอัปเดตทั่วโลก มารวมไว้ในแหล่งเดียว
สำหรับวัคซีนของคนไทย แม้จะใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ต่างกัน ก็ปรากฏชื่อทั้ง ChulaCoV19 และ NDV-HXP-S ในเฟสแรกและขยับเข้าสู่เฟส 2 จากที่ปรากฏทั้งหมด 49 ชนิด (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2564)
สนใจเรื่องวัคซีนอยู่ใช่ไหม ตามอัปเดตได้ที่ลิงก์ https://covid19.trackvaccines.org/vaccines
ที่มา : วัคซีน COVID-19 ฝีมือคนไทย | คลิป MU [Mahidol Channel]
แนวทางพัฒนาวัคซีนที่ต้องทำต่อไม่รู้จบ
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงการผลิตวัคซีน HXP-GPOVac ว่า เป็นการทดลองกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้เทคโนโลยีล็อกโปรตีนไวรัส 6 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการล็อกโปรตีนไวรัสเอาไว้ 2 ตำแหน่ง ความน่าสนใจคือ การล็อกตำแหน่งโปรตีนหลายจุดจะทำให้ร่างกายจดจำเชื้อได้หลากหลายกว่า สร้างภูมิคุ้มกันได้กว้างกว่า และผลการทดสอบที่ออกมาในเฟสที่ 1 ก็พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นดีมาก
เมื่อนำวัคซีนมาทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟาก็พบว่า ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี เนื่องจากภูมิคุ้มกันไม่ได้ลดลงมากนัก และขณะนี้กำลังทดสอบกับสายพันธุ์เบตาและเดลตาที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงและลุกลามมากกว่า 92 ประเทศทั่วโลก
สุดท้ายแล้ว เมื่อไหร่ที่คนไทย องค์กรเอกชน สถานศึกษา หรือหน่วยงานภาครัฐ สามารถผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้เอง ก็เท่ากับว่า เรากำลังขับเคลื่อน ความมั่นคงทางสุขภาพ (Health Security) ให้คนไทยด้วยกัน ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การรองรับการระบาดของโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต