เปิดรายชื่อ ประเทศทั่วโลก ที่ไหนบ้าง จำเป็นต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังจากเจอพิษโควิด-19 เล่นงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศที่ต้องล็อกดาวน์หลายๆครั้ง ย่อมสะเทือนต่อชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นๆ และนับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเห็นใจอย่างที่สุด
กทม.ไม่ล็อกดาวน์แต่ดูแลเป็นพิเศษ
หลังจากเมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.) ถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่พูดถึงการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งโดยบทสรุปสุดท้ายแล้ว ยืนยันว่า ไม่ล็อกดาวน์ กทม. ปริมณฑล แม้มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ตอนนี้ กรุงเทพถึงสถานการณ์ที่วิกฤตในการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยแล้ว จำนวนเตียงก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว ซึ่ง ณ เวลานี้ ประเทศไทยเคยล็อกดาวน์ทั้งประเทศจริงๆ แค่ครั้งเดียว นั่นคือเมื่อช่วงเวลา 67 วัน เมื่อ 25 มีนาคม 2020 - 31 พฤษภาคม 2020
แต่ในขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ มีตัวอย่างหลายๆ ประเทศ ทั้งประเทศขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ประเทศขนาดเล็ก ที่เจอกับการระบาดของโควิด-19 หลายรอบ และต้องยอม "ล็อกดาวน์" มากกว่า 1 ครั้ง
ประเทศใหญ่ ล็อกดาวน์ มากกว่า 1 ครั้ง
นับตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่โรคโควิด-19 ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ทุกประเทศทั่วโลกต่างโดนผลกระทบกันทั้งหมด เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งอย่างของโลกนี้ ที่บอกว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรวย หรือจน ทุกคนมีโอกาสติดโควิด-19 ได้ทั้งหมด และในขณะเดียวกันโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บอกว่าโลกนี้ เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างง่ายๆ เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติมคนจน ในการเข้าถึงวัคซีนโควิด
ตัวอย่างประเทศใหญ่ๆ ที่ต้องมีการล็อกดาวน์ มากกว่า 1 รอบ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ที่ล็อกดาวน์ในหลายๆรัฐ และที่แคลิฟอเนีย มีการล็อกดาวน์ 2 รอบ รวมเป็นเวลา 110 วัน นั่นเป็นเพราะต้องเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2
ขณะที่ ฝรั่งเศส ภายใต้การทำงานของประธานาธิบดีของเอ็มมานูเอล มาครง , เยอรมนี ภายใต้การทำงานของนางเองเกล่า แมร์เคิล , สเปน และ อิตาลี ประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป ซึ่งเจอการระบาดของโควิด-19 กันอย่างหนักหน่วงทุกประเทศ และต้องมีการล็อกดาวน์มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ เยอรมนี มีการเปิดล็อกดาวน์ที่ยาวนานที่สุด ถึง 218 วัน นั่นคือเป็นเวลา 7 เดือนเศษ
ด้านอังกฤษ ของการทำงานของบอริส จอห์นสัน ซึ่งในช่วงหนึ่งของการระบาดโควิด-19 บอริส จอห์นสันก็ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย ซึ่งทางการก็มีความพยายามจะคลายล็อกดาวน์อยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้าย จากยอดผู้ติดเชื้อจากโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องยืดเวลาไป ถึงกลางเดือนกรกฏาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สหรัฐพบฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์น่าเสี่ยงในวัยรุ่น
ไขปม นายกฯเยอรมนี ฉีดวัคซีนโควิด 2 ชนิด แอสตร้า-โมเดอร์น่า สร้างความมั่นใจ?
กลุ่มอาเซียนล็อกแล้วล็อกอีก
หันมาดูที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งถือเป็นเพื่อนบ้านของไทย เริ่มต้นที่อินโดนีเซีย ซึ่งผู้ป่วยมากที่สุดในอาเซียน โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 2,072,867 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวม 56,371 ศพ กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาวัคซีนที่จะสามารถนำมาใช้กับเด็ก 2 ชนิด โดยวัคซีนซิโนแวคใช้กับเด็กอายุ 3-17 ปี และวัคซีนไฟเซอร์ ใช้กับเด็กอายุ 12-17 ปี เนื่องจากในขณะนี้ พบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น และแน่นอนว่า อินโดนีเซียล็อกดาวน์แล้วล็อกดาวน์อีก
ด้าน ฟิลิปปินส์ ที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ ก็มีการล็อกดาวน์ในหลายช่วงเวลา , เช่นเดียวกับ มาเลเซีย ที่เจอพิษโควิด-19 อย่างหนักหน่วงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จนต้องล็อกดาวน์อีกครั้งเป็นรอบที่ 3 จนเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะพัง , ส่วนเวียดนามก็มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ 1 ครั้ง แต่ก็กลับมาล็อกดาวน์เพิ่มเฉพาะบางเมือง ที่มีการระบาดหนัก อาทิ ดานัง
ออสเตรเลียล็อกดาวน์อีกครั้ง
ขณะที่ ประเทศใหญ่อย่างออสเตรเลีย ต้องกลายเป็นประเทศที่กลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง โดย ซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของ ออสเตรเลีย ประกาศใช้ มาตรการล็อกดาวน์ ใน 4 เขตพื้นที่เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าปกติ และจะมีผลไปอย่างน้อย จนถึง 2 ก.ค. นี้
กรณีศึกษาจากชิลี
หากพูดถึงการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แล้ว หากมองภาพประเทศชิลี น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศไทย และน่าจะเป็นการถอดบทเรียนที่ดี โดยทางการชิลีประกาศคำสั่งล็อกดาวน์กรุงซานติอาโกและชุมชนใกล้เคียงอีกครั้ง เมื่อ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ประชาชนเกือบ 60% จะฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วก็ตาม
โดย 75% ของประชากรทั้งหมด 15 ล้านคนของชิลี ได้รับวัควีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส และ 58% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หากนับตามจำนวนหัวประชากรชิลีฉีดวัคซีนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกตามข้อมูลของรอยเตอร์ส
จนถึงตอนนี้ชิลี ฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 23 ล้านโดส โดย 17.2 ล้านโดสเป็นของวัคซีนซิโนแวค และ วัคซีนไฟเซอร์ 4.6 ล้านโดส ขณะที่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนแคนซิโน อย่างละเกือบ 1 ล้านโดส
และประเทศไทยของเราเองก็ใช้ วัคซีนซิโนแวคเป็นหลักด้วย...ซึ่งมีความเป็นไปได้ ที่อาจจะเดินตามรอย (ในทางที่ไม่ดี) เหมือนชิลี ที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่
เพราะแม้ชิลีจะได้รับวัคซีนไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่อาจคุมการระบาดได้ ดังนั้นสิ่งที่ตามมา คงหนีไม่พ้น การตั้งคำถามเดิมๆเรื่องคุณภาพวัคซีน ว่า วัคซีนบางชนิด ถึงแม้จะได้รับการรับรองจาก WHO แต่มีผลก็แค่ กันอาการไม่ให้ทรุดหนักเท่านั้น แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพกันการระบาด
และสุดท้าย หน้ากากอนามัย คงต้องเป็นอวัยวะที่ 33 ของคนไทยต่อไปอีกนาน