เกิดคำถามเกี่ยวกับวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้คนไทยได้ฉีด ทั้งเรื่องการจัดซื้อ การกระจายฉีด ประสิทธิภาพวัคซีน ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง แม้ว่าหมอทั้งไทยและเทศจะออกมายืนยันว่า ฉีดดีกว่าไม่ฉีด มีคุณประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียง คนไทยบางส่วนก็ยังไม่มั่นใจว่าควรฉีด จริงไหม
ถ้าค้นข้อมูลด้านประสิทธิภาพวัคซีน มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการเป็นระยะโดย WHO หรือ องค์การอนามัยโลก ซึ่งมีสื่อนำไปเผยแพร่ต่อมากมาย เช่นบนเว็บ The Economist ที่นำประเด็นประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac มาขยายความต่อ
• ประสิทธิภาพวัคซีน AstraZeneca ในด้านภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ที่ 63.09% และเมื่อรับวัคซีนแล้ว 12 สัปดาห์ จะเพิ่มขึ้นเกิน 80%
• ประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac ในด้านภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ที่ 50.7% ถือว่าน้อยที่สุดในลิสต์และผ่านเกณฑ์ WHO ที่กำหนดไว้ 50% แบบเฉียดฉิว
หมอเขตต์ - นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ และ หลอดเลือด สถาบันโรคทรวงอก เผยข้อมูลบนเฟซบุ๊กว่า ฉีดเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 หลังฉีดแล้วรอเวลา ใช้เตียงสังเกตอาการ พบว่ามีผลข้างเคียงเล็กน้อย อาทิ คลื่นไส้ เวียนหัว ท้องเสีย ส่วนเข็มที่ 2 นั้น ไปฉีดวันที่ 8 เมษายน เลยรอบที่นัดไว้ 1 สัปดาห์ เพราะศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรศาสตร์และทางระบบประสาท ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แนะนำว่า ดีเลย์จากเข็มแรกไปนิดจะได้ภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า
ผลการตรวจภูมิคุ้มกันของ นพ.เขตต์ หลังรับวัคซีน Sinovac แล้ว 2 เข็ม
สำหรับเข็ม 2 หมอเขตต์บอกว่า มีผลข้างเคียงเพียงอาการมึนหัว แต่ผลข้างเคียง (GI side effects) แทบไม่มีในรอบนี้ และหลังจากรับวัคซีนเข็ม 2 ได้ 1 สัปดาห์ ก็ไปเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกัน (Neutralizing Antibody) ปรากฏว่าภูมิขึ้นเกือบ 80% - ภูมิจริงไม่ใช่ภูมิทิพย์
ต่อมา หมอเขตต์ดูแลทีมแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac จำนวนหนึ่ง ซึ่งผลการตรวจภูมิต้านทานของแต่ละคนต่างกันมาก กล่าวคือ อยู่ระหว่าง 23.33 - 93.77% โดยคาดว่ามาจากปัจจัยด้านสุขภาพรายบุคคล การเตรียมความพร้อมก่อนมารับวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพวัคซีน
รวบรวมจากผลการตรวจเลือดแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม จำนวน 25 คน ในเขตนนทบุรี ซึ่งตรวจโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในช่วงเดือนเมษายน 2564
และเนื่องจากมีกลุ่มตัวอย่างให้ศึกษาไม่มากนัก กับข่าวเรื่องผลข้างเคียงบางประการในผู้รับวัคซีนบางราย การนำเข้าวัคซีนหลังจากนี้จึงควรเลือกวัคซีนที่เป็น Gen 2, 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์ และต้องฉีดซ้ำให้ผู้รับวัคซีน Gen 1 ได้อย่างปลอดภัย
หมอเขตต์อัปเดตสถานการณ์ว่า เนื่องจากวัคซีนของ AstraZeneca ต้องฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์ ซึ่งต่างจาก Sinovac ที่ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จึงยังไม่มีผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ในไทยครบ ทั้ง 2 เข็ม
แต่การที่ประเทศไทยมีโควิด 19 สายพันธุ์อังกฤษ B117 ระบาดอย่างหนัก การฉีด Sinovac x 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ อาจยับยั้งการระบาดไม่ทัน แต่เนื่องจากคนไข้ที่อยู่ในความดูแลของหมอเขตต์ ส่วนมากเป็น สว (ผู้สูงวัย) และมีโรคประจำตัว แต่กลุ่มที่ได้ฉีด AstraZeneca โดสแรกแล้ว เจาะเลือดตรวจหลังฉีดประมาณ 1 เดือน พบว่า ภูมิคุ้มกัน (Neutralizing Antibody) ที่ขึ้นมาคือ 60-70% สูงสุด 91% และไม่มีรายใดที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีน
ตัวอย่างผลการตรวจภูมิคุ้มกันของผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกของ AstraZeneca
“ที่จะชี้ให้เห็นคือ ถ้าเราสามารถนำ Astra ที่จองไว้มหาศาลหรือขอจากประเทศอื่นๆ ที่เขามีตัวเลือกเยอะ มีวัคซีนเกินความต้องการมาระดมฉีดให้ประชาชน ด้วยฤทธิ์ของ Astra single shot ที่สร้าง Neurtralzing Antibody ได้ดีมากแม้กระทั่งในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว น่าจะทำให้เราแก้วิกฤต Wave 3 นี้ได้เร็วขึ้นพอสมควร
“รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่รับมือเคสวิกฤตในโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ถ้าเปลี่ยนเป็นระดมฉีด Astra single shot น่าจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในบุคลากรได้เร็วกว่า”
หมอเขตต์ยังบอกด้วยว่า อีกกลุ่มที่ต้องคำนึงถึงคือ ผู้ป่วยโรคอื่นๆ (Non covid) ซึ่งยังรอรับการรักษาอีกมาก ดังนั้น การปกป้องด่านหน้าด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
หมอเขตต์ให้ข้อมูลและแสดงความเห็นว่า ดูจากที่โควิด 19 ระบาดในอังกฤษ (UK) มีผลวิจัยล่าสุดออกมาว่า ผู้ได้รับวัคซีน AstraZeneca 1 เข็ม แม้ว่าจะติดเชื้อก็สามารถลดการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวได้ 50% ถือว่าช่วยสร้างภูมิต้านทานให้คนอังกฤษได้ดี
การจัดหาวัคซีนหลังจากนี้ รัฐจึงควรมองหาวัคซีนรุ่นหลัง อาจเป็น AstraZeneca หรือชนิดอื่นเพื่อประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การระบาดอย่างหนักรอบนี้ การฉีดวัคซีนก็ยังดีกว่าไม่ฉีด เพราะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิดและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งก็คงอีกยาวไกลกว่าจะพ้นช่วงโรคระบาด ดังนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือ ภูมิคุ้มกันของตัวเองและภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อลดความรุนแรงของการระบาดลง
อีกเรื่องที่ฝากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา คือ นาทีนี้ เราต้องเริ่มหา ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ให้คนไทยได้แล้ว เนื่องจากพบว่า การระบาดซ้ำในหลายประเทศเริ่มเป็นตัวกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น South Africa, Brazil หรือ India ที่เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะการที่เชื้อดื้อต่อวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ ถ้าไทยมีแผนการจะเปิดประเทศปลายปีก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะมี ‘ตัวกลายพันธุ์’ หลุดเข้ามาในการระบาดระลอก 4-5 ในไทย
ถึงเวลานั้น วัคซีนที่เราฉีดไปอาจไม่ช่วยป้องกันแล้ว สำหรับหน่วยงานเอกชนและภาครัฐที่วิ่งหาวัคซีนทางเลือกกันอยู่ ตอนนี้ควรมองหาขนิดที่เป็น ‘การกระตุ้นเข็ม 3 ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพวัคซีนครอบคลุมตัวกลายพันธุ์’
มิฉะนั้น วัคซีนทางเลือกที่อุตส่าห์วิ่งหากันอาจจะใช้ไม่ได้