ว่ากันว่าในปี 2021 ที่จะถึงนี้ เป็นปีที่โลกและสังคมไทยยังต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายหลากหลายประเด็นโดยเฉพาะการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาโรคอุบัติใหม่ ความเท่าเทียมของคนในสังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงในด้านความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมวัตกรรมของประเทศ จึงได้ออกมาเผยถึง 5 นวัตกรรมที่จะช่วยลดประเด็นท้าทายต่าง ๆ รวมถึงผลักดันให้สังคมน่าอยู่กว่าที่เคย ซึ่งต้องบอกเลยว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่ดีสำหรับคนไทย รวมถึงเป็นโซลูชั่นใหม่ที่จะช่วยแก้โจทย์การใช้ชีวิตในสังคมในปี 2021 ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
เริ่มกันที่นวัตกรรมห้องความดันลบแยกผู้ป่วยโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ โรงพยาบาลและบุคลากรทางแพทย์จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ เครื่องมือ อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะห้องแยกผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งที่ผ่านมาในโรงพยาบาลต่างๆ มีห้องแยกผู้ป่วยไม่เพียงพอ ดังนั้น NIA จึงได้สนับสนุนการพัฒนาห้องแยกผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบถอดประกอบได้สำหรับผู้ป่วยหนักจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมสามารถถอดประกอบได้ ภายในมีระบบระบายอากาศเพื่อความคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ได้มาตรฐาน ส่วนกระบวนการผลิตนั้นทำได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 2 – 4 สัปดาห์ และหากติดตั้งเรียบร้อยสามารถนำเตียง และอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปติดตั้งในห้องความดันลบได้เลยทันที โดยขณะนี้ได้ส่งมอบให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันจักรี นฤบดินทร์ เพื่อใช้รองรับผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี "ลู่วิ่งในน้ำเพื่อการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ" เป็นเครื่องช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ โดยพัฒนาลู่วิ่งสายพานในน้ำที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อสะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูหลังผ่าตัด หรือผู้สูงอายุ โดยการฟื้นฟูในน้ำจะช่วยเรื่องการรองรับน้ำหนักตัว และการทรงตัว ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้แม้กล้ามเนื้อจะไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถปรับความชัน และความเร็วของลู่วิ่งเพื่อให้เหมาะกับการฟื้นฟูแต่ละชนิด ตัวโครงสร้างทำจากกระจกใสที่สามารถมองเห็นได้จาก 3 ด้าน ทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สามารถสังเกตการเคลื่อนที่ของผู้ป่วย เพื่อเป็นการวิเคราะห์อาการได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูล เพื่อนำไปประเมินผู้ป่วยในระยะยาวได้ โดยผลงานดังกล่าวออกแบบโดยบริษัท เพ็ททาเนียร์ จำกัดมาต่อด้วยนวัตกรรมสำหรับหนุ่มสาวสายอีโค่ด้วย "ผลิตภัณฑ์สุดเก๋จากถุงน้ำยาล้างไต" ซึ่งเป็นความร่วมมือของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และบริษัท เอคโคแลบ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด ในการพัฒนากระบวนการจัดการแปรรูปถุงน้ำยาล้างไตเทียมที่ใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนหนังเทียมที่มีความคงทนและมีความสวยงามแปลกใหม่ เช่น กระเป๋า แฟ้มเอกสาร ซองใส่เครื่องเขียน ฯลฯ โดยกระบวนการดังกล่าวจะเข้าไปช่วยตั้งแต่การจัดกระบวนการทำความสะอาดถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกวิธีไปจนถึงกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนหนังเทียมด้วยกรรมวิธีที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว ซึ่งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับชุมชนเคหะดินแดง 1 นับเป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะเหลือทิ้งแล้วยังเป็นช่องทางการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ร่วมโครงการอีกด้วย
เด็กชาติพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องการพื้นที่และโอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพที่ไม่ใช่เพียงแต่การนำสิ่งของเครื่องใช้เข้าไปบริจาคเป็นครั้งคราว แต่การหยิบยื่นโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน ศูนย์เยาวชนเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อ. แม่จัน จ. เชียงราย จึงได้ริเริ่ม "นวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสาหร่าย และหนอนแมลงวันลาย" ขึ้น โดยเป็นการใช้ผลผลิตที่ได้จากการย่อยสลายขยะอินทรีย์ มาเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายและสาหร่ายโปรตีนสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงต่อการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด จึงสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายหนอนแมลงวันลายและสาหร่ายโปรตีนสูง และเมื่อนำมาเลี้ยงปลานิลอินทรีย์ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง มีความปลอดภัย และสามารถจำหน่ายได้ราคาดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพหรืออาหารอินทรีย์ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนแล้ว เด็กๆ ชาวอาข่ายังจะได้เรียนรู้และเกิดกระบวนการคิดแบบ Growth mindset อันเป็นการสร้างระบบและกลไกในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพให้สามารถพัฒนาตนเองได้ในสภาวการณ์และบริบทของสังคมปัจจุบัน
ปิดท้ายด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะกับ "นวัตกรรมระบบระบุตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะ" ปัจจุบันนำร่องใช้กับรถโดยสารสาธารณะ สาย 12 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือเป็นอีกจุดพักที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะช่วยให้การคมนาคมในพื้นที่มีความสะดวกมากขึ้น สามารถวางแผนการเดินทางผ่านแอปพลิเคชันระบุโดยตำแหน่งรถโดยสาร และเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากข้อมูล GPS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและนักท่องเที่ยว รองรับการพัฒนาด้านดิจิตอลของจังหวัดนำมาซึ่งการลดการใช้พลังงานในการเดินทางได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาสังคมไทยต้องเจอกับปัญหาและความท้าทายหลากหลายประเด็น NIA ได้พยายามสร้างสรรค์แพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งในระดับเมืองและชนบทให้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นทั้งการสร้างความเท่าเทียม การเข้าถึงโอกาสต่างๆ การสร้างรายได้ พร้อมสนับสนุนปัจจัยที่คนไทยยังไม่ได้รับอย่างเต็มที่ เช่น สุขภาพและการแพทย์ บริการสาธารณะ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยังคงเป็นเรื่องที่ NIA ให้ความสำคัญ และจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 นี้ ยังมีการเฟ้นหาสตาร์ทอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มในด้านดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายอย่างเข้มข้นผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน และโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้น่าอยู่กว่าที่เคย