svasdssvasds

ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ครอบครัวช่วยได้ด้วยการสื่อสารเชิงบวก iMessage

ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ครอบครัวช่วยได้ด้วยการสื่อสารเชิงบวก iMessage

ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น 66 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ผู้ปกครองควรปรับพฤติกรรมใหม่เพื่อลดปัญหานี้ โดยคุยกับลูกด้วยการสื่อสารเชิงบวก iMessage

ผลการสำรวจสาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น อันดับที่ 1 เกิดจากความสัมพันธ์ หลังจากนั้นที่ตามมาเรียงลำดับ 2-6 คือ การเรียน ความรุนแรง เศรษฐกิจ การกลั่นแกล้ง และหน้าที่การงาน

แพทย์หญิง วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลายคนอาจจะเคยพบเจอตนเองจะมีช่วงนิ่งๆ จิตตก เจอเรื่องแย่ๆเครียดๆ กันอยู่แล้ว แต่เราอาจไม่ก้าวข้ามไปถึงกระทั่งเป็นโรค ดังนั้นสถานการณ์อย่างนี้ในเด็กทุกวันนี้เราเจอว่าพบมากขึ้น ตรวจคนไข้มา 20 ปี ตอนแรกๆ ที่ตรวจ เคสเด็กรุ่นใหม่ที่เดินมาหาเรา ใน 3-5 เดือนจะเจอซึมเศร้าสักเคสหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ตรวจพบคนไข้ทุกครั้งถ้าได้ตรวจคนไข้ใหม่ ใช้คำว่า 95 เปอร์เซ็นต์ก็แล้วกัน ไม่ถึงกับ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาซึมเศร้ามารักษา อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นโรคนะ แต่มีปัญหาซึมเศร้ามา 

"การสำรวจว่าคนเป็นโรคซึมเศร้ามากน้อยขนาดไหนเราทำเรื่อยๆ อยู่แล้ว คือทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บคนอายุ 15 ขึ้นไป สำรวจภาวะอารมณ์เฉยๆ ซึ่งสามารถเข้าไปในแอปพลิเคชัน Mental Health Check Up ในนั้นจะมีแดชบอร์ดแบบคัดกรองให้ประชาชนทั้งประเทศไทยไปประเมินตัวเองได้ว่าตนเองเครียดระดับไหน เครียดสูง เครียดมาก เครียดน้อยอย่างไร โดยจะแยกอายุได้ สามารถจะเข้าไปประเมินและดูได้ หรือหากไม่สะดวกแอปพลิเคชัน ก็สามารถเข้าไปประเมินตนเองได้ที่ลิ้งก์นี้ https://checkin.dmh.go.th/ "

MENTAL HEALTH CHECK IN เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์ COVID-19 พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้บุคลากรสาธารณสุข/ อสม./ จิตอาสา ใช้ประเมินสุขภาพจิตประชาชน เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อปัญหา มาดูแลสุขภาพจิต ตลอดจนประชาชนและผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถประเมินตนเองและเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว การประเมินประกอบไปด้วย SBSD คือ

S : Stress (เครียด)

B : Burnout (ภาวะหมดไฟ)

S : Suicide (เสี่ยงฆ่าตัวตาย)

D : Depression (ซึมเศร้า)

โดยทราบผลการประเมินทันที มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว พร้อมมีช่องทางการขอรับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์

แบบประเมินที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้บอกว่าคนๆ นั้นเป็นโรค แต่เป็นแบบคัดกรองว่าเรามีความเสี่ยงของความเครียด ความซึมเศร้าขนาดไหนเท่านั้น ไม่ได้วินิจฉัยโรคแต่อย่างใด อย่างน้อยช่วยให้เรารู้ว่าเราอยู่ในภาวะไหน เพื่อเป็นการดูแลจิตใจตัวเองเบื้องต้นได้

ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่พบว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะอารมณ์ซึมเศร้าในครอบครัวหรือกับเด็ก คือเรื่องการสื่อสาร สื่อสารอย่างไรจะทำให้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนช่วยทำให้ปัญหาซึมเศร้าในเด็กดีขึ้น

ปัญหาที่พบตอนนี้คือ ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กรุ่นใหม่ติดมือถือ และเมื่อกลับมาบ้านหลังเสร็จจากทำงานเหนื่อยๆ ก็จะเห็นเขาดูและเล่นมือถืออยู่ตลอด จนเกิดความคิดว่าที่ฉันสั่งให้ทำงาน ทำการบ้าน รับผิดชอบตัวเองให้เสร็จ รับผิดชอบตามที่สั่งแล้วหรือยัง คนที่มีลูกในบ้านต้องเจอสถานการณ์แบบนี้แน่ๆ และส่วนใหญ่พ่อแม่มักพูดประโยคเดิมๆ ที่พูดด้วยความรักในแบบของเขา เช่น บอกกี่ครั้งแล้วว่าต้องอ่านหนังสือ ต้องให้พูดกี่รอบ เมื่อไหร่จะจำได้สักที กลับมาก็ต้องพูดกันอย่างนี้ตลอดเลย ความรับผิดชอบเมื่อไหร่จะมา เป็นอย่างนี้แล้วโตขึ้นจะทำอย่างไร 

ลูกเมื่อฟังแล้วเป็นอย่างไรกับความรักของพ่อแม่ในรูปแบบนี้ แน่นอนว่าคำแรกเลยคือ อีกแล้วเหรอ บ่นอีกแล้ว พูดอีกแล้ว แต่ถามว่าจริงๆ แล้วผู้ปกครองที่พูดอย่างนี้กับเด็กรักเด็กไหม เขารักนะ ถ้าเขาไม่รักไม่พูดหรอก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ลูกจะไม่รู้สึกถึงความรักของพ่อแม่หรอก เพราะเขาจะคิดว่า ผิดอีกแล้วทำไม่ได้ดั่งใจอีกแล้ว มันเป็นอย่างนี้อีกแล้ว 

ผลจากการสำรวจพบว่า เด็กที่บ่นทางโซเชียล ทำให้รู้สึกอารมณ์มันเศร้า อารมณ์ตก ปรากฏว่า 66 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเกิดจากหลายอย่าง อาทิ พ่อแม่คาดหวังบ้าง พ่อแม่ไม่คาดหวังบ้าง เด็กคาดหวังตัวเองบ้าง โรงเรียนคาดหวังบ้าง เป็นต้น

ความสัมพันธ์ที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่ทำให้เด็กวัยรุ่นอยู่ได้ลำบากมากขึ้น นี่คือปัจจัยที่พบเจอจากผลการสำรวจในคนไข้จริงๆ เจอแบบนั้นทั้งสิ้น นี่คือปัจจัยหลักอันดับ 1 เลยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นๆ เรียงตามลำดับได้ดังนี้ อันดับที่ 2 การเรียน อันดับที่ 3 ความรุนแรง อันดับที่ 4 เศรษฐกิจ อันดับที่ 5 การกลั่นแกล้ง อันดับที่ 6 หน้าที่การงาน

สำหรับเด็กยุคสมัยนี้ บ้านกับโรงเรียนมันไม่น่าอยู่หรือ?

ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว การที่จะดูแลเกี่ยวกับปัญหาทางอารมณ์หรือพฤติกรรมเด็กได้มี 3 อย่างคือ Bio Phycho Social

Bio คือ ปัจจัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แก้ไม่ได้ เด็กที่มีนิสัยเลี้ยงง่าย นิสัยเด็กเลี้ยงยาก นิสัยเด็กที่มีความขี้กังวลหรือปรับตัวช้า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาแต่เกิด ไม่จำเป็นว่าพ่อแม่เป็นคนปรับตัวง่ายแล้วลูกจะเป็นคนปรับตัวง่ายตาม เขาอาจไปเอาความปรับตัวยากมาจากบรรพบุรุษสักคนก็ได้ พี่น้องก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ซึมเศร้าก็เกิดจาก Bio เช่นเดียวกัน เป็นปัจจัยโดยธรรมชาติที่เกิดมาแล้วมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะป่วย

Phycho คือ การเลี้ยงดู ถ้าเลี้ยงดูแล้วเกิดความเข้าใจ เลี้ยงดูแล้วไม่รู้สึกว่าถูกตำหนิทุกวัน ถูกว่าทุกวันทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจตลอดเวลา ที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองแย่ มันก็จะสามารถทำให้ผ่านไปได้ มันต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่ลูก โรงเรียนกับเด็ก ครูกับเด็ก แมชกันหรือเปล่า เช่น พ่อแม่เป็นคนปรับตัวง่ายแต่ปรากฏได้ลูกปรับตัวช้า อันนี้คือปัญหาคลาสสิคมาก จึงทำให้มีเสียงจากพ่อแม่ว่า ทำไมลูกทำช้า ทำไมมัวแต่เดี๋ยว ดูชิล ทำไมไม่ทำทันที ทำไมไม่ได้ดั่งใจ ทำไมไม่เรียบร้อย นี่คือตัวอย่างของความไม่แมชไม่เข้ากัน แต่ถ้าพ่อแม่ลูกชิลทั้งหมดก็จะสบาย ไม่เป็นไรลูก แค่ไม่ตกก็พอแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะแมชกันหรือเปล่า ไม่ได้บอกว่ามีอันไหนดีหรือไม่ดี

Social คือ โรงเรียนเป็นอย่างไร กลุ่มเพื่อนปีนั้นเป็นอย่างไร กลุ่มสังคมที่อยู่เป็นอย่างไร พวกนี้จะผนวกกันว่าสุดท้ายแล้วเขาจะปรับตัวได้หรือเปล่า

3 อย่างข้างต้น ดูแล้วที่น่าจะปรับพฤติกรรมได้มากที่สุดคือ Phycho เพราะเราสามารถทำให้ครอบครัวเป็นเซฟโซนของเขาได้ เราจะจัดการตัวเราเองยังไงเพื่อให้ครอบครัวเป็นเซฟโซนเพื่อป้องกันลูก ไม่ให้เกิดภาวะซึมเศร้า หลักจริงๆ อาจจะมีหลายอย่าง สิ่งที่อยากจะบอกเป็นสิ่งที่ใช้ประจำเลยคือ การสื่อสารเชิงบวก iMessage คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน ถ้าคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยน ลูกเปลี่ยนแน่นอน 

iMessage คุยกับลูก ลดบ่นน้อยลง ทะเลาะกันให้น้อยลง คนเราถ้ารักกันต้องฟังกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่งอนกันไม่ชอบหน้ากัน เบื่อกันเมื่อไหร่ แม้กระทั่งเรื่องธรรมดาอย่างหยิบของยังไม่ทำให้เลย แต่ถ้าเป็นคนที่เรารักแม้จะเหนื่อยใจแต่ก็ทำให้ก็ได้ เช่น ต้องการให้ลูกปิดมือถือ เราจะขึ้นต้นด้วยพ่อหรือแม่ได้อย่างไร ถ้าขึ้นต้นว่าลูกจะกลายเป็นบ่นแน่นอน อยากให้ทุกคนลองเอาไปใช้ดูแล้วจะพบว่าความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้นแน่นอน 

1. บอกพฤติกรรมที่ชอบและไม่ชอบ การที่ลูกเล่นมือถือนั่นหมายความถึงลูกเป็นคนนิสัยแย่หรือเปล่า เขายังไปโรงเรียนทุกวันไหม เขาใช้ยาเสพติดไหม เขาไปก่อปัญหาทะเลาะวิวาทหรือเปล่า เขาหนีโรงเรียนไหม เคสส่วนใหญ่ไม่เป็นหรอก แต่มันกลายเป็นว่าแค่เขาเล่นมือถือตอนเย็นที่เรากลับบ้าน เรากลับบอกว่าเขาเป็นเด็กไม่มีความรับผิดชอบ อันนี้ไม่ถูกต้อง

การที่เราบอกเขาเพราะรู้สึกรัก รู้สึกเป็นห่วง รู้สึกดีดี แบบนี้ให้บอกความรู้สึกกับเขาออกไป ส่วนถ้าโกรธหรือหงุดหงิดก็บอกเขาว่า ตอนนี้แม่กำลังโกรธนะ หงุดหงิดนะ แล้วสุดท้ายบอกไปเลยว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องบ่นยาว ไม่ต้องพูดว่า ไม่รู้จักคิดไม่รู้จักทำ มันยาวเกินไป 

ผู้ปกครองลองเปลี่ยนการพูดใหม่เป็น เล่นมือถือ งานไม่เสร็จ แม่เป็นห่วงนะ เดี๋ยวทะเลาะกัน ปิดแล้วมาทำได้ละ จะได้เสร็จ พูดสั้นๆ เท่านี้แหละ ถามว่าเด็กจะทำไหม อาจจะไม่ทำ แต่ถ้าเลิกบ่นแล้วพูดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่พูดแล้วเด็กจะทำพูด 10 ครั้งเมื่อก่อนอาจทำแค่ครั้งเดียว แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นพูดแบบนี้ไปเรื่อยๆ มั่นใจว่า พูด 10 ครั้ง เด็กยอมทำ 5-6 ครั้ง แต่ไม่มีทางทำทั้ง 10 ครั้งแน่นอน

ภาวะซึมเศร้าก็อาจเกิดได้กับคุณพ่อคุณแม่ อย่าลืมดูแลตัวเอง มัวแต่ดูแลคนอื่น จริงๆแล้วเราเหนื่อยทั้งงานและดูแลลูก สุดท้ายเราเองอาจมีภาวะซึมเศร้าเองก็ได้ อย่าลืมดูแลตัวเองเพื่อให้มีพลังงานพอที่จะไปดูแลลูกต่อได้

แพทย์หญิง วิมลรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรู้สึกไม่ดี เครียด ให้ลองโทรเข้ามาที่ 1323 แชทบอท แชทไลน์ เพื่อให้คนเข้าถึงเรื่องของการให้คำปรึกษาเพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น พอความสัมพันธ์ดีขึ้นก็มั่นใจว่าปัญหาจากความซึมเศร้าหรือปัญหาหลายๆ อย่างก็น่าจะลดลง ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางใจ เรื่องของการสื่อสาร เป็นสิ่งที่เราทำได้เพื่อให้เกิดเซฟโซนในสังคม ครอบครัว โรงเรียน เพราะสุดท้ายแล้วสุขภาพใจก็จะได้แข็งแรง สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น

ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น