svasdssvasds

โควิด 19 ติดเชื้อร่วมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 55

โควิด 19 ติดเชื้อร่วมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 55

แพทย์ไทยเตือนประชาชนให้ความสำคัญในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในช่วงการระบาดของโควิด 19 เพราะหากติดเชื้อร่วมกัน ยิ่งเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 29–55

สถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบให้เกิดความวิตกกังวลต่อคนทั่วโลก รวมถึงประชาชนยังขาดการรับรู้และขาดความเข้าใจในเชิงป้องกันในโรคทั้งสองที่มีอาการที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่

ในปี 2563 นับเป็นครั้งแรกที่มีโรคระบาดทั้งสองโรคพร้อมกัน นอกจากความเสี่ยงที่จะติดโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ประชาชนยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) จากทั้งไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการรุนแรง เกิดอาการแทรกซ้อน และยิ่งทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย กรมควบคุมโรค ปี 2563 ท่ามกลางการระบาดโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 พฤศจิกายน 2563 มีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 119,300 ราย คิดเป็นอัตราป่วยไข้หวัดใหญ่ 179.44 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคยังคงพบในเด็กเล็กกลุ่มอายุ 0–4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5–14 ปี

ขณะที่ข้อมูลสำคัญคือ ในจำนวนดังกล่าวนี้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ทั้ง 4 ราย มีอายุระหว่าง 36–77 ปี โดยร้อยละ 75 มีประวัติโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ร้อยละ 50 มีภาวะอ้วน มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 และพบว่าร้อยละ 50 ไม่มีประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อน

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ระบาดในทุกๆ ปี และตลอดปีจะระบาดมากในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว สำหรับในปีพ.ศ. 2563 นี้ มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในช่วงนี้ จึงมีความน่ากังวลเพิ่มมากขึ้น เพราะอาการของทั้งสองโรคนั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกัน 
โควิด 19 ติดเชื้อร่วมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 55

ความคล้ายคลึงของอาการไข้หวัดใหญ่และโควิด 19

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 

อาการที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือ ผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีน้ำมูกไม่เยอะ และยังมีการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นจากการสัมผัสน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วยเมื่อมีการไอและจามเหมือนกันอีกด้วย 

จากการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด 19 จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-80 และการติดเชื้อร่วมกันกับโควิด 19 พบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 29-55  

เดือนธันวาคม 2563 พบว่า ไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด 19 ถึง 28 เท่า ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ถึงร้อยละ 2  

ปี 2561-2562 พบผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่มากที่สุดในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน แต่ในปี 2563 พบผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดมากในช่วงมกราคม และมีแนวโน้มลดลงในเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด 19 ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 

เมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดระลอกใหม่ จึงอยากขอความร่วมมือให้ประชาชนใส่ใจป้องกันตนเองและคนใกล้ชิด ดังนี้

- สวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ

- หมั่นล้างมือบ่อยๆ

- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด

- ควรรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ร่วมกับการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนโควิด 19  

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ มี 2 ชนิด ได้แก่

- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์

- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 สายพันธุ์ นั่นคือครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata จึงเพิ่มความสามารถในการครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น จึงควรได้รับการฉีดเป็นประจำทุกปี 

วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีเป็นเชื้อต่างชนิดกัน และบางสายพันธุ์คาดการณ์การระบาดได้ยาก ดังนั้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้มีภูมิคุ้มกันสูงตลอดเวลา และครอบคลุมสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ ให้มากที่สุด โดยฉีดปีละครั้ง ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดคือ ก่อนฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม และก่อนฤดูหนาว ช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ถือเป็นอีกวิธีที่คุ้มค่ามากที่สุด ที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ อีกทั้งมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว ทำให้หมดความสามารถในการก่อโรค และยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ประมาณร้อยละ 50-90 แต่ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง การตอบสนองต่อวัคซีนอาจลดลง อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน โอกาสที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้
โควิด 19 ติดเชื้อร่วมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 55

ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของคนไทยในช่วงการระบาด โควิด 19 ในตอนที่อยู่ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์พบว่า การให้วัคซีนในเวชปฏิบัติลดลงคล้ายกับในประเทศอื่น อย่างไรก็ตามภายหลังการปลดล็อกดาวน์ดูเหมือนความสนใจในการป้องกันโรค โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือปอดบวมมากขึ้น และทำให้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มากขึ้นโดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว 

สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ยิ่งต้องเกิดภาวะพึ่งพาด้านสาธารณสุขมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการเจ็บปวย ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ และการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บป่วย รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้อีกด้วย     

ปัจจุบันการให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังได้รับการสนับสนุนในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยก็มีการสนับสนุนให้ได้รับการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีการเจ็บป่วยรุนแรง แต่ก็ยังพบว่าอัตราการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจำเป็นต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจในวงกว้างถึงความสำคัญของการป้องกันโรคที่มีความรุนแรง และควรเริ่มจากคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้านให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

กรณีไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการหายใจหรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อทั่วไป อาการมักไม่รุนแรง แต่หากเกิดในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน ปอดบวม ทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ 

นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนแก่บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงเมื่อตนเองป่วยเช่นกัน
  โควิด 19 ติดเชื้อร่วมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 55

นพ. วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง หัวหน้าเขตตรวจราชการ 3 กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีมาตรการดูแลป้องกันอย่างเข้มข้น โดยมีการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงมีแนวทางตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา และได้จัดตั้งคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจในทุกศูนย์บริการสาธารณสุข (ARI Clinic) คัดกรองผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหมด ไม่ให้เข้าไปในตัวอาคารของสถานพยาบาล เพื่อลดการแพร่เชื้อทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โควิด19 และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคที่มากับฤดูฝน ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีน จำแนกได้ 7 กลุ่ม ได้แก่ 

- หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 

- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 

-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 

-ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 

-ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 

-ผู้ที่เป็นธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 

-ผู้ที่เป็นโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) 

การจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนจองสิทธิ์ล่วงหน้าเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนผ่าน Line : @ucbkk สร้างสุข สามารถไปรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 68 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอมนูญ เผยโควิด ไม่ได้เล่นงานแค่ทางเดินหายใจ เตือนผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี

มีประกันสังคมรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี! สำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป