ประเทศไทย จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด” หรือ Hyper-aged society อย่างเต็มตัวแล้ว ฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมรับมือและพัฒนา นวัตกรรม เพื่อผู้สูงอายุ ลดปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
การคาดการณ์การเติบโตของประชากรผู้สูงอายุในวัย 65 ปีขึ้นไป ภายในปี 2578 จะคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมากับวัยที่เพิ่มขึ้นมักเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคกลุ่มกระดูกและข้อ รวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง นวัตกรรม จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยรองรับให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น
โรคที่เกิดในผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาการรักษาแบบเฉพาะทางตามหลักกายภาพศาสตร์ แต่ทั้งนี้กลับพบว่า นักกายภาพบำบัด 1 คน ต้องรักษาผู้ป่วย 23,614 คน ซึ่งประชากรไทยทั้งหมด 72 ล้านคน จะต้องมีนักกายภาพบำบัดถึง 32,180 คน ถึงจะเพียงพอ ดังนั้น นักกายภาพจึงมีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นแบบทวีคูณ
กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ ที่เอื้อต่อการรักษาและการดูแลผู้ป่วยได้โดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดหรือผู้สูงอายุ จึงจัดสรรงบประมาณให้แก่ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พัฒนา นวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ภายใต้โครงการ “การขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ” โดยเริ่มต้นใช้งานเพื่อทดสอบประสิทธิภาพที่แรกคือ โรงพยาบาลตรัง
สถิติผู้ป่วยโรงพยาบาลตรัง ประจำปี 2563 ในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่า อาทิ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท รวมทั้งสิ้น 2,822 คน ที่โดยส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาฟื้นฟูด้วยวิธีกายภาพบำบัด
นพ. สมบัติ สธนเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีข้อจำกัดในการฟื้นฟูรักษาใน 2 มิติสำคัญ คือ ด้านปริมาณของนักกายภาพบำบัดที่ปัจจุบันมีจำนวน 4 ราย และด้านงบประมาณในการจัดซื้อ นวัตกรรม ที่มีส่วนสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย แต่ทั้งนี้ เมื่อทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้นำอุปกรณ์บริหารข้อเข่าแบบไอโซโทนิกเข้ามาเป็นตัวช่วยในการวัดผลการทำงานของนักกายภาพบำบัดว่า กล้ามเนื้อของผู้ป่วยมีอัตราการฟื้นฟูไปในเชิงบวกหรือไม่ และจากการทดสอบประสิทธิภาพ พบว่า ผลลัพธ์จากการทำกายภาพบำบัดตามหลักนั้น เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร. ธนิต เฉลิมยานนนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรม ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนการสอน ที่ได้การรับรองจากสภาวิศวกร ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และทีมสหวิทยาการ ที่จะบูรณาการประยุกต์ใช้งาน (Use Case) ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่โรงพยาบาล ชุมชน หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นรูปธรรมในวงกว้าง
1. นวัตกรรมบริหารหัวไหล่ ระบบประมวลผลภาพ สำหรับการวัดองศาของการเคลื่อนไหวข้อไหล่ เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อไหล่ติดหัวไหล่
2. นวัตกรรมฝึกการขยายปอด ระบบประมวลผลภาพ สำหรับติดตามการทำกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูปริมาตรปอด
3. นวัตกรรมบริหารกล้ามเนื้อหายใจ (Smart Breath) ระบบติดตามช่วยบริหาร พร้อมทั้งวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ
4. นวัตกรรมบริหารข้อเข่า ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า การออกกำลังกายแบบไอโซโทนิก (Isotonic Exercise) ที่เน้นการยืดเหยียดเข่าโดยมีตุ้มน้ำหนัก(ถุงทราย) รัดบริเวณข้อเท้า
ระบบและอุปกรณ์ทั้ง 4 นวัตกรรม จะทำการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเซิร์ฟเวอร์ (Server) และคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ (Cloud Service) ผ่านเครือข่ายสื่อสาร ซึ่งเป็นการออกแบบพัฒนา และผลิตอุปกรณ์ต้นแบบทั้ง4 ชนิด ให้ได้มาตรฐานสากลตามมาตรฐาน ISO 13485 และ IEC 60601 และเป็นประโยชน์ในระดับประเทศต่อไป
นางรัตนา เก้าเอี่ยง อายุ 79 ปี ผู้ที่ได้ทดลองใช้งานจริงอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า เล่าว่า ตนป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟูด้วยวิธีกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตรัง มาเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน โดยในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสทดลองใช้อุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า ในการบันทึกผลการฝึกทำกายภาพบำบัดโดยการเหยียดเข่าขึ้นและลง เพื่อบันทึกผลที่ได้จากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดเข่า ซึ่งอุปกรณ์ช่วยบริการข้อเข่าจะทำการบันทึกผลที่ได้จากการทำกายภาพบำบัดและแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการของกล้ามเนื้อ ในแต่ละอาทิตย์ที่ได้มาทำกายภาพบำบัด พบว่ากล้ามเนื้อของตนมีพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย หากสนใจอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมของ 4 นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิตกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8111, 02-554-8114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวที่ www.facebook.com/BTFPNEWS และ https://btfp.nbtc.go.th