svasdssvasds

5 วิธี เสพข่าว การเมือง อย่างไรไม่ให้เครียด

5 วิธี เสพข่าว การเมือง อย่างไรไม่ให้เครียด

กรมสุขภาพจิต แนะนำ 5 วิธี เสพข่าว การเมือง อย่างไรไม่ให้เครียด เน้นการใช้สตินำอารมณ์ สำรวจตนเองสม่ำเสมอ และเปิดใจรับฟังคนรอบข้าง ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ

5 วิธี เสพข่าว การเมือง อย่างไรไม่ให้เครียด

สถานการณ์ การเมือง ไทยร้อนแรงขึ้นทุกวัน การเสพข่าวปัจจุบันด้วยความที่เราเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น จึงสามารถรับข่าวสารได้ตลอดเวลา ซึ่งระบบการประมวลผลเอไอจากความชอบหรือพฤติกรรมในการกดไลก์หรือแสดงความคิดเห็นของเรา ก็จะยิ่งทำให้เราเห็นฟีดการเมืองแบบนั้นอยู่ตลอดเวลา เสพมากเข้าก็เครียดได้ ฉะนั้น กรมสุขภาพจิต จึงมาแนะนำ 5 วิธี เสพข่าวการเมืองอย่างไร ไม่ให้เครียด

จิตแพทย์ แนะวิธีลดการปะทะในครอบครัว ประเด็นความเห็นต่างทาง การเมือง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ข่าวการเคลื่อนไหวทาง การเมือง เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยปกติแล้วการติดตามข่าวสารและสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศเป็นเรื่องที่ดี แต่การติดตามข่าวสารที่มากไป โดยเฉพาะข่าวสารที่มีการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์แบบต่างๆ เช่น โกรธ เศร้า กังวล เมื่อต้องประสบกับอารมณ์เหล่านี้ซ้ำๆ อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาทางกายมากขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการวิตกกังวลครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย หรือท้อแท้ ได้เช่นเดียวกัน

การรับฟังข่าวสารทางการเมืองที่มีความร้อนแรงในขณะนี้ สามารถใช้หลัก 5 วิธีที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ความสำคัญกับสติของตนเองทุกครั้งเมื่อต้องเสพข่าว สังเกตอารมณ์ของตนเองและผลกระทบจากอารมณ์นั้น และติดตามจิตใจของตนเองสม่ำเสมอในระยะยาว 

2. จัดสรรเวลาติดตามข่าวสาร การเมือง อย่างพอดี โดยไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานไป 

3. พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ หันเหความสนใจจากข่าวสารไปเรื่องอื่นบ้าง ละเว้นการรับรู้ข่าวสารที่ส่งผลต่อความเครียดชั่วคราว ไม่ละเลยหน้าที่ของตนเอง ทั้งการทำงาน การเรียน และการใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว 

4. เคารพความเชื่อและความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ โดยไม่ดูข่าวหรือรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว หรือสื่อเดียว ฝึกการเปิดใจกว้างและทดลองรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับความเชื่อเดิม ควรรับฟังและเปิดใจรับฟังความคิดและความเชื่อของคนรอบข้างด้วย

5. การพักผ่อนและการผ่อนคลายความเครียด เช่น การนอน ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจคลายเครียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากลองทำตามข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความเครียดรุนแรง สูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สามารถขอรับบริการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสอบถามกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง