วันหยุดแถมเป็นวันพระทั้งที ก็ต้องตระเวนไหว้พระกันหน่อย ครั้งนี้จึงขอพาไปทางเหนือของประเทศไทยบ้าง ไหว้พระ 3 วัดสำคัญ ณ น่าน
ท่องเที่ยว ณ น่าน เมืองแห่งความเรียบง่าย สงบ ซึมซับวัฒนธรรมท่องถิ่น วันนี้จะพาไหว้พระกับจุดเช็คพอยท์หลักที่เต็มไปด้วยความงดงามด้านสถาปัตยกรรมทางศาสนา ยืนยันว่าหากไปที่น่านต้องไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลสักครั้งหนึ่งในชีวิต
วัดภูมินทร์ เป็นวัดเก่าแก่สำคัญ ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.น่าน เดิมมีชื่อว่า วัดพรหมมินทร์ ตั้งตามชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านที่โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2139 หลังจากที่เจ้าเจตบุตรขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปี ต่อมาชื่อวัดถูกเรียกกันจนเพี้ยนไป กลายเป็น วัดภูมินทร์ ตามที่รู้จักกันในปัจจุบัน
วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 ราวปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลานี้ ภาพจิตรกรรม หรือ ฮูบแต้ม ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา โดยมีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ หนึ่งสัญลักษณ์สำคัญ ท่องเที่ยวน่าน คือ ภาพปู่ม่านย่าม่าน รังสรรค์โดยศิลปินนิรนามที่คาดว่าเป็น หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อในสมัยโบราณที่กำลังกระซิบสนทนากัน และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก"
ทั้งนี้ได้มีการแต่งคำบรรยายภาพดังกล่าวเป็นภาษาถิ่นพายัพอันสละสลวย ซึ่งแต่งและแปลโดยสมเจตน์ วิมลเกษม ความว่า
คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…
คำแปล
ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว
จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย
หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะแย่งความรักของพี่ไป
เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง
ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น
จากภาพ ลักษณะของผู้ชายจะสักหมึก ส่วนผู้หญิงแต่งกายไทลื้อเต็มยศ ถือเป็นภาพวาดที่มีความประณีตมาก และได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ เป็นจุดสำคัญที่ใครมาที่วัดนี้ต้องมาชื่นชมและถ่ายภาพติดมือกลับไป ภาพปู่ม่านย่าม่านนี้จึงกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฏอยู่ในสินค้าจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เสื้อยืด ไปรษณียบัตร หรือแม้แต่ข้าวของแต่งบ้านต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น งานปูนปั้นนาค 2 ตน ที่หน้าประตูทางเข้า โดยช่างโบราณสร้างสรรค์ได้อย่างมีชีวิตทรงพลัง พระประธานจตุรทิศที่ประดิษฐานหันหน้าออกประตูทั้ง 4 ทิศ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม และมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นไม่เหมือนใครจนถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ที่ใครขึ้นไปแอ่วเมืองน่าน ไม่ควรพลาด
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ใกล้กันกับวัดภูมินทร์ ถนนสุริยพงษ์ อ.เมือง จ.น่าน โดยวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ถูกเรียกว่า วัดหลวง หรือ วัดหลวงกลางเวียง สร้างขึ้นในสมัยพญาภูเข่ง พ.ศ.1949 เป็นวัดหลวงในเขตนคร น่าน ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาของเจ้าผู้ครองนคร ไม่ว่าจะเป็น พิธีทางศาสนา และ การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ได้กล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่าน ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ.2091 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืน ปางประธานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย
พระประธานปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน พระวิหารหลวง เป็นวิหารขนาดใหญ่ มีประตูเข้า 3 ทาง ประตูตรงกลางทำเป็นประตูใหญ่และประตูเล็ก ด้านซ้ายและขวา ออกแบบตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็นปูชนียสถานสำคัญที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงลังกา พระธาตุเจดีย์สร้างด้วยอิฐถือปูน สัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกถึงชั้นสองมีรูปช้างค้ำรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งสิ้น 24 เชือก โดยแต่ละเชือก โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พงศาวดาร น่าน บันทึกไว้ว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ทรงสร้างขึ้นหลังจากเดินทางไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ.2331 โดยความเชื่อว่า พระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่สร้างสำเร็จโดยรวดเร็วทันใจปรารถนาภายในวันเดียว ถือว่ามีอานิสงส์มาก ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่รุ่งเช้าเมื่อพระอาทิตย์แรกขึ้น การหล่อ การตกแต่งให้ได้พุทธลักษณะที่งดงาม ต้องให้แล้วเสร็จเวลาการสร้างภายในพระอาทิตย์ตกดิน รวมถึงผู้ร่วมสร้าง ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ทั้ง กาย วาจา ใจ ด้วยความศัทธาอันแรงกล้านี้ จึงนับว่าเป็น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลให้ผู้กราบไหว้สัมฤทธิ์ผล สมความปรารถนา
คาถาบูชาพระเจ้าทันใจ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิมัง เอกาหะปะกะตัง สัพพะกามะ ทะทัง
สัมมานิตัง พุทธะพิมพัง สิระสา อะหัง
วันทามิ มะมะ สัพพะสังกัปปา สมัชฌันตุ
พญาครุฑพ่าห์ หรือ พญาครุฑกางปีก ประดับตรงหน้าพระอุโบสถ ซึ่งครุฑพ่าห์เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี สะท้อนถึงความจงรักภักดีต่อราชสำนักสยามของเจ้าเมืองน่านในฐานะประเทศราช และหอไตรแห่งนี้ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าเมืองน่าน ณ ขณะนั้นสร้างอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2453 ซึ่งเป็นปีที่ทรงสวรรคต ตามหลักฐานจารึกอักษรย่อ ถอดความโดยผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 7 ว่า “พระเจ้าน่านพระราชกุศลถวายพระพุทธเจ้าหลวง”
พระธาตุแช่แห้ง เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตี๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ยๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น หรือประมาณ 80 เมตร เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต
พระธาตุแช่แห้ง สันนิษฐานว่ามีอายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย ระหว่างปี พ.ศ.1891-1901 องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือ ต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
พงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจาก กรุงสุโขทัย (กระดูกข้อมือข้างซ้าย) มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย โดยทรงพยากรณ์ว่า จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
สถาปัตยกรรมด้านโบสถ์ของวัดพระธาตุแช่แห้งที่สำคัญ และแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสกุลช่างน่าน ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบขององค์พระธาตุจะมีการบุรอบองค์ด้วยทองจังโก ทางเดินขึ้นสู่องค์พระธาตุจะเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้า ลักษณะของการปั้นจะเป็นลายนาคเกี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของช่างฝีมือและศิลปะของจังหวัดน่านโดยแท้จริง
ชาวเมืองล้านนามีความเชื่อกันว่า การได้เดินทางไปสักการะบูชากราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุแช่แห้ง ที่ชาวล้านนาจะเรียกกันว่า การชูธาตุ นั้น จะทำให้ได้รับอานิสงค์แรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดี มีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ มาเบียดเบียน หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า
นอกจากนี้ พระธาตุแช่แห้ง ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกน้ำบ่อแก้ว จังหวัด น่าน อีกทั้ง พระธาตุแช่แห้ง ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะอีกด้วย