การออกมาเรียกร้องทางการเมืองของคนรุ่นใหม่กำลังร้อนแรงขึ้นทุกวัน การเสพสื่อในปัจจุบันล้วนเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนกับแต่ก่อน คนเลือกที่จะเชื่อและแชร์รวมถึงติดตามข่าวสารที่ไม่ใช่สื่อหลักมากขึ้น เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดกันแน่
ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังระอุ เราจะเห็นได้ว่าในโลกสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องสถานการณ์จริงและข่าวลวง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนเกิดจากการแชร์จากคนที่ตนเองเชื่อถือ ซึ่งอาจไม่ใช่สื่อหลัก เหตุผลใดที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันเลือกที่จะเชื่อสื่ออื่นหรือแม้แต่อินฟลูเอนเซอร์มากกว่าสื่อหลัก นั่นเพราะ สื่อหลักต้องถามตนเองให้ได้ก่อนว่า ทำหน้าที่นี้ดีแล้วหรือยัง
ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงนิยามสื่อในยุคปัจุบันว่า เราแบ่งสื่อได้คร่าวๆ เป็น สื่อที่เป็นสื่อกระแสหลัก ที่ทำหน้าที่โดยมีกองบรรณาธิการ มีคนที่รับผิดชอบตามกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อทีวี ที่มีคนทำงานมาอย่างต่อเนื่อง นี่คือกลุ่มที่หนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเชิงของแอดมินเพจ เพจส่วนตัวของแต่ละคนเอง หรือในส่วนของสำนักข่าวออนไลน์ที่มีกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มมารวมกัน อันนั้นก็จะเป็นกลุ่มใหม่ที่มีอิทธิพลมากขึ้นในยุคของการเสพข้อมูลข่าวสารในวันนี้
ในโลกยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า กลุ่มคนที่มีความสามารถในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเขตเมือง มีโทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่อออนไลน์ท่องโลกโซเชียลมีเดียได้ตลอดเวลา นี่จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีพลังมากขึ้นในวันนี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้นิยมเสพข้อมูลข่าวสารผ่านออนไลน์เป็นหลัก และแน่นอนว่าสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลักของคนรุ่นก่อน อาทิ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทีวี สื่อเหล่านี้จะไม่ค่อยได้เสพสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่สื่อหลักปรับตัวได้ทำข้อมูลออกมาในรูปแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข่าว ตัดคลิปลงออนไลน์ คนกลุ่มนี้ก็จะยังคงติดตามและเสพข้อมูลสื่อหลักอยู่ ฉะนั้นผู้เสพสื่อกลุ่มนี้แท้จริงแล้วไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่ชอบที่จะเสพข่าวสารในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
เหตุผลที่คนในยุคปัจจุบันไม่เชื่อในสื่อหลักนั้น สาเหตุหลักมีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกัน นั่นคือ
1. คนรุ่นใหม่มักมองว่าสื่อกระแสหลักนั้นไม่น่าเชื่อถือ มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่รอบด้าน ข้อมูลข่าวสารที่เขาอยากรู้ยังไม่มีอยู่ในสื่อกระแสหลัก ซึ่งอาจจะด้วยเงื่อนไขปัจจัยหลายๆ อย่างในเรื่องของกระบวนการ จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่เลือกที่จะเสพข้อมูลข่าวสารอีกชุดหนึ่ง ที่เขาอยากรู้ในสื่อออนไลน์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจากแอดมินเพจ ยูทูป เพราะฉะนั้น กลุ่มที่เสพข่าวสารออนไลน์จำนวนไม่น้อยจึงได้เชื่อข้อมูลของสื่อออนไลน์ด้วยกันเองมากกว่าตัวสื่อกระแสหลัก
2. สื่อกระแสหลักเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ในเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารได้เต็มที่นัก เพราะฉะนั้น ในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น ต่อให้สื่อจำนวนหนึ่งพยายามที่จะเสนอ และกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องออกไป กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็อาจจะยังคงตั้งคำถามได้ว่า มันใช่เหรอ มันจริงอย่างนั้นเหรอ ขึ้นมาเป็นกระบวนการอัตโนมัติ ฉะนั้นแล้ว ทั้งส่วนของคนเสพสื่อเองก็ต้องระมัดระวังด้วยว่า ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ มันก็ไม่ใช่เป็นข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลสิ่งที่อยู่ในออนไลน์จนขาดการตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันช่วงวิกฤตสถานการณ์อ่อนไหวเราต้องกรองข้อมูลให้ดี ระวังตกเป็นเหยื่อของข้อมูลต่างๆ ที่มีการเผยแพร่กันอยู่ อันนี้เป็นในส่วนของผู้เสพที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ดร. มานะ กล่าวถึงผู้ส่งสารอย่างสื่อกระแสหลักว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนนิเทศศาสตร์ ขอให้กำลังใจคนที่ทำงานในสื่อกระแสหลัก ในการทำหน้าที่ตามกรอบจรรยาบรรณ โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้รอบด้านก่อน แน่นอนการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา และต้องใช้พลังกายและพลังทรัพย์ในการทำงาน ทำหน้าที่ งานเหล่านี้กว่าจะทำออกมาได้หนึ่งชิ้น มันยากกว่าการที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เห็นในออนไลน์ออกไปเลย แต่มันคือสิ่งที่จำเป็นในสังคมที่จะมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องออกไป
“ที่ผ่านมาสื่อบางสื่อเอง ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาสะสมอยู่เช่นเดียวกัน ส่วนตัวจึงขอให้กำลังใจกับการทำหน้าที่สื่อตรงนี้และก็อยากให้ยืนหยัดในการทำหน้าที่ นำเสนอข่าวสารโดยตรวจสอบก่อนนำเสนอทุกครั้ง แยกให้ได้ว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง อันไหนคือความคิดเห็นของคนคนนำเสนอข่าวสาร อันนี้จะเป็นตัวหนึ่งที่สร้างมาตรฐานระยะยาวต่อไป”
ขณะเดียวกันคนเสพสื่อ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นเดียวกัน ว่าสิ่งที่เสพอยู่นั้นมันมีโอกาสปนเปื้อนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือมีการนำเสนอเพียงบางด้านบางมุมเท่านั้น อย่าพึ่งรีบเชื่อ เพียงเพราะว่าข้อมูลนั้นตรงกับสิ่งที่ตนเองคิด สิ่งที่เห็นอยู่ก็อาจจะเป็นแค่ปรากฏการณ์ ECho Chamber ที่เกิดขึ้น อย่าพึ่งรีบเชื่อ รีบแชร์ รีบแสดงความเห็น
หากข้อมูลที่เราไก้รับมานั้นเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ เราอาจจะเป็นผู้หนึ่งในผู้ที่แพร่กระจายข้อมูลที่เป็นเท็จนั้น และอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมาได้อีกมากมาย เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดเรื่องของบุคคล เสี่ยงที่จะทำให้เกิดทัวร์ลง เกิดการหมิ่นประมาทผู้อื่นตามมา ซึ่งอาจทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในอนาคตได้
"ปัญหาของสื่อหลักนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ช้าในเรื่องของการทำงานเท่านั้น เพราะสื่อหลักไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่อง และไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชนที่เสพสื่อ ช้าเป็นเรื่องหนึ่งแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่นี้ต่างหาก"
ดร. มานะ กล่าวทิ้งท้ายถึงคำแนะนำว่า สื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้รอบด้านอย่างต่อเนื่อง อย่าพึ่งท้อในการทำหน้าที่ตรงนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องแยกข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น ทัศนคติส่วนตน อย่าไปปนเปื้อนปนเปกัน หลายครั้งพาดหัวข่าวในข่าวออนไลน์มักใส่ทัศนคติ ใส่ความคิดเห็นบางอย่างลงไป นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวโน้มให้คนเสพสื่อรู้สึกว่า สื่อค่ายนั้นเป็นแบบนี้ สื่อค่ายนี้เป็นแบบนั้น เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง