ในช่วงภาวะวิกฤตการณ์การเมือง เราจะเห็นความเห็นที่แตกต่างกัน สิ่งที่ปรากฏมากสุดคือ การไม่ยอมรับฟังความเห็นต่างจนเกิดการ unfriend ขึ้น ปรากฏการณ์นี้สำคัญขนาดไหนมาไขคำตอบกัน
การ unfriend ในโลกโซเชียล นับเป็นอีกปรากฏการณ์ที่เห็นชัดที่สุดในโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในทางนิเทศศาสตร์แล้ว สามารถอธิบายได้ชัดเจนด้วยปรากฏการณ์ Echo Chamber
ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ปรากฏการณ์ Echo Chamber ในหลักทางนิเทศศาสตร์ คือการที่คนอยู่ในห้องที่มีเสียงสะท้อน จะได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตัวเอง หรือการอยู่ในถ้ำที่เราตะโกนไปแล้วเราจะได้ยินเสียงสะท้อนของเรากลับมา เป็นปรากฏการณ์ที่คนที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์หลายๆ กลุ่มไม่ว่าใครก็ตามมักที่จะฟังหรือเลือกที่จะเชื่อข้อมูลคนที่คล้ายๆ กับเรา
“ใครที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับเราโดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤตจะมีปรากฏการณ์ unfriend เกิดขึ้นเต็มไปหมด ยิ่งทำให้เราจำกัดข้อมูลข่าวสารที่เรารับจากชุดๆ เดียวที่มีการนำเสนอคล้ายๆ กับเรา ประกอบกับตัวของอัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดียเองก็เลือกข้อมูลที่ผู้รับอยากได้ ผู้รับอยากเสพข่าวแบบไหน จากข่าวแบบไหน ก็จะส่งฟีดมาให้เราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็จะทำให้แนวโน้มของคนที่รับข้อมูลโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าฝ่ายไหน กลุ่มไหน ก็จะรู้สึกว่าคนรอบข้างที่คิดคล้ายๆ ฉัน ส่งมาแบบนี้ปั้บก็เชื่อเลย แนวโน้มที่จะยิ่งทำให้ผ่านการเห็นมุมมองเหตุผลหรือข้อมูลข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างมาก ยิ่งทำให้การแตกแยกของสังคมขยายตัวได้มากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดในหลายๆ สังคมที่เสพโซเชียลมีเดีย เขาก็เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น จนนักนิเทศศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Echo Chamber”
ความรุนแรงของปรากฏการณ์นี้แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่ค่อนข้างวิกฤตพอสมควร จำเป็นต้องรับข่าวสารให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น ต้องยอมรับฟังความคิดเห็น และข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ด้วยตัวของตัวเอง ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องสอนและวางรากฐานการคิดในกระบวนการด้านการศึกษา
ดร. มานะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้วต้องมีการสอนกันตั้งแต่เด็กในเรื่องของประชาธิปไตย ไม่ใช่คิดเห็นไปทางใดทางหนึ่งเหมือนๆ กันหมด ต้องยอมรับความคิดเห็นที่มีความหลากหลายแตกต่างกันได้ เราไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกับเพื่อน แต่เราต้องเคารพความคิดเห็นของคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน และรับฟังข้อมูลข่าวสารเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับการคิดวิเคราะห์ของเราเอง พูดคุยกันด้วยเหตุผล มันจำเป็นต้องมีการบ่มเพาะและสอนกันมาตั้งแต่เด็ก
ปัญหาของกระบวนการเรียนการสอน คือ เราไม่ได้เน้นสอนให้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ครูสอนแค่ว่านักเรียนจงฟัง ที่ครูพูดเป็นสิ่งที่ถูก ข้อสอบเองก็มีตัวเลือกที่บังคับว่าข้อสอบที่ถูกมันคือข้อนี้ เราไม่ได้รับฟังความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วหนึ่งบวกหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสองเสมอไป ต้องเรียนรู้ที่จะฟังการอธิบายถึงเหตุผลด้วย แต่เราดันไม่พร้อมที่จะรับฟังมุมมองหรือความเห็นอีกแบบหนึ่ง เมื่อเรามัวแต่คิดว่ามีมุมมองคำตอบได้แค่อย่างเดียว นี่จึงยิ่งทำให้เด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่รับฟังแต่ข้อมูลชุดเดียว แล้วคิดว่ามันถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องเคารพความคิดเห็นของคนอื่นด้วยว่าเขาก็สามารถคิดแบบนี้ได้เช่นเดียวกัน เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในความหลากหลาย
ยิ่งเมื่อเจอกับโซเชียลมีเดียที่จำกัดคนที่เห็นต่างออกไป มันยิ่งทำให้เราอยู่ในโลกที่แคบขึ้น แล้วเราก็ฟังข้อมูลที่วนอยู่ในนี้ ทุกฝ่ายก็จะเป็นแบบนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว มันยิ่งทำให้แตกกันมากขึ้น คนที่เชื่อแบบนี้ก็จะคิดว่าทุกคนคิดคล้ายฉัน เพราะเห็นทุกคนที่อยู่ในโซเชียลมีเดียของตนเองคิดคล้ายตนเอง เพราะคนอื่นที่เห็นต่างได้อันเฟรนด์ไปหมดแล้ว
ดร. มานะ กล่าวทิ้งท้ายว่า จริงๆ แล้วนอกจากเรื่องการศึกษาแล้วเป็น เรื่องของการเท่าทันสื่อ เรื่องของการทำหน้าที่ของสื่อ เรื่องของประชาธิปไตย ที่ต้องยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย สู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นเหตุผลที่คุยกันได้ แต่แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องใช้เวลา มันเป็นวัฒนธรรมไปแล้วทั้งระบบการศึกษา ระบบครอบครัว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นเจเนอเรชันเลยทีเดียว การปฏิรูปการศึกษา แท้จริงแล้วเราพูดกันมานานตั้งแต่ยังเด็กจนทุกคนโตมายังพูดเรื่องเดิม ก็หวังให้มันดีขึ้นในอนาคต