WFH ทำงานจากบ้าน เป็นความปกติใหม่ของใครหลายคน ทั้งหัวหน้า ทั้งลูกน้อง ทั้งเจ้าของบริษัท ถ้าจัดการอย่างมีระบบ การทำงานจากบ้านจะสร้างผลดีมากมาย แต่ก็มีด้านมืดเช่นกัน คือความเดียวดายในที่ทำงาน
คนจำนวนมาก WFH ทำงานจากบ้าน มาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ความตื่นเต้นและการเห็นข้อดีของการทำงานที่บ้านก็เริ่มน้อยลง และด้านมืดของการทำงานห่างไกลออฟฟิสก็เริ่มปรากฏให้เห็น ความเดียวดาย
“ความเดียวดาย” ในออฟฟิศเป็นปัญหาได้ แต่การเปลี่ยนแปลงไปทำงานจากบ้านอย่างกะทันหัน อาจเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งกว่า
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถ้าคุณทำงานร่วมกับคนอื่นมาสักพัก และรู้สึกมีความเชื่อมโยง มีการประชุมหรือคุยกันแบบต่อหน้าเป็นประจำ และคุ้นเคยกับการทำงานแบบนั้น การเปลี่ยนมา WFH ทำงานจากบ้าน ทำให้ความเชื่อมต่อกับโลกที่ทำงานลดลง จะอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
แม้ว่าคุณนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน โดยมีสามีหรือภรรยาอยู่ด้วย มีลูกวิ่งเล่นไปมา แต่คุณก็ยังจะรู้สึก “เดียวดาย” ได้
งานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ความเดียวดายในที่ทำงาน กับความสามารถในการทำงาน เผยแพร่ในวารสารการจัดการในนิวยอร์ก พบว่า ภาวะความเดียวดาย กระทบกับสมรรถนะในการทำงาน อาจทำให้กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพน้อยลง และเพื่อนร่วมงานจะรู้สึกไม่ค่อยอยากสุงสิงด้วยมากขึ้นไปอีก
“ยิ่งรู้สึกเดียวดายมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำงานได้แย่ลงเท่านั้น” ศาสตรจารย์ ซิกัลป์ บาร์เซด มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
ความเดียวดายนำไปสู่การดำดิ่ง “เมื่อคุณรู้สึกเดียวดาย คุณจะมีความระแวดระวังทางสังคมมากกว่าปกติ และทำให้สูญเสียทักษะการเข้าสังคม” บาร์เซดกล่าวว่า แล้วคุณก็จะยิ่งมีพฤติกรรมที่ยิ่งทำให้เดียวดายมากขึ้นไปอีก
ศาสตราจารย์ด้านการจัดการ ฮากัน ออซเซลิก มหาวิทยาลัยซาคราเมนโต กล่าวว่า คุณอาจเริ่มแชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไป หรือน้อยเกินไป คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวมักมีความระมัดระวังว่าจะถูกเพื่อนร่วมงานปฏิเสธมากเกินปกติ แล้วจะยิ่งทำให้ไม่น่าเข้าใกล้
“คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวจะมองเห็นสัญญาณด้านลบอย่างรวดเร็ว และมองไม่เห็นสัญญาณด้านบวก” ออซเซลิกกล่าวว่า เหมือนกับว่าคุณมีเลนซ์ด้านมืดในการแปลความหมายสิ่งรอบตัว
คนทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญในออฟฟิศ และอาจได้รับการทักทายจากเพื่อนร่วมงานนานๆ ที มีความเป็นไปได้ที่จะรู้สึกเดียวดายเมื่อทำงานจากบ้านมากกว่าคนอื่น
บาร์เซดกล่าวว่า ความเดียวดายไม่ใช่อุปนิสัย เป็นสภาวะ เหมือนความหิวที่เกิดขึ้น “เหมือนกับที่เราต้องทานอาหารเมื่อเราหิว เมื่อเรารู้สึกเดียวดาย เราต้องการการเชื่อมต่อทางสังคม เราไม่ต้องการเหงา”
การเชื่อมต่อทางสังคม ต้องอาศัยการวางแผนล่วงหน้าเล็กน้อย นัดหมายการพบปะทางโลกเสมือนจริง หรือการโทรคุยกับเพื่อนร่วมงาน จะช่วยทดแทนช่วงเวลาที่คุณคุยเล่นกับคนเหล่านั้นระหว่างงานได้ อย่างเวลาเดินไปซื้อกาแฟด้วยกัน
อย่าพึ่งพาการส่งข้อความหรืออีเมลมากนัก “การโทรคุยกันให้ผลในการทำให้หายเหงาดีกว่าอีเมล การส่งข้อความหรือสังคมออนไลน์” เบน แฟนนิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการในที่ทำงานกล่าว
คิดไว้เสมอว่า ความเดียวดายสามารถทำให้มุมมองความสัมพันธ์ของคุณบิดเบี้ยว อย่างเช่น คุณอาจคิดว่าคนอื่นตั้งใจเพิกเฉยต่ออีเมลของคุณ แต่ความจริงๆ คนนั้นอาจแค่ยุ่งกับงานและการดูแลลูกจนไม่มีเวลาเช็คก็ได้
หัวหน้างานมีบทบาทสำคัญในการป้องกันไม่ให้ “ความเดียวดายในที่ทำงาน” เกิดขึ้นในทีม บาร์เซดกล่าวว่า หัวหน้าต้องยิ่งให้ความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม เช็คและให้แน่ใจว่าลูกทีมแต่ละคนสื่อถึงกัน
จัดการประชุมเป็นประจำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงานอย่างเดียว เพิ่มเติมการหยอกเย้า เข้าสังคม อาจเริ่มต้นบทสนทนาก่อนเรื่องงานด้วยการถามว่า ใครไปทำอะไรสนุกๆ มาบ้าง ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่เส้นกั้นระหว่างช่วยให้ลูกน้องสื่อถึงกัน กับการสร้างภาระ นั้นเป็นเส้นบางๆ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา อย่าทำอะไรที่มากเกินไป บาร์เซดเตือนว่า “จะนำไปสู่การหมดไฟได้”
เรียบเรียงจาก cnn business
หมดไฟทำงาน ก็เกิดขึ้นได้แม้ทำงานจากบ้าน
Edutainment ในช่วงที่ทุกคนต้องพยายาม เว้นระยะห่างทางสังคม โดยบางบริษัทให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ (Work from Home) แต่รู้หรือไม่ การทำงานและไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุลขณะอยู่บ้าน ทำให้ หมดไฟทำงาน ได้เหมือนกัน หมดไฟทำงาน (Burn Out) มักเป็นสิ่งที่คนนึกถึงว่าเกิดจากการทำงานที่ออฟฟิสมากเกินไป หมดแรงจูงใจทำงาน หรือสาเหตุอีกมากมาย แต่ภาวะหมดไฟทำงาน ก็เกิดขึ้นได้แม้ ทำงานจากบ้าน (Work from Home) เช่นกัน
รู้ทันสัญญาณของอาการหมดไฟ
ไม่ว่าจะเก่งและแกร่งแค่ไหน และแม้ว่าจะสนุกกับงานเพียงใด แต่การลุยงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ หรือการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดอาการ Burn-out หรือที่เรียกว่าอาการหมดไฟได้เช่นกัน ...