คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช ชี้แจงสถานการณ์โควิด 19 วันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนทิ้งระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพราะโรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน เว้นระยะห่างระหว่างคนที่เราพูดด้วยประมาณ 2 เมตร และใส่หน้ากากเพื่อไม่ให้เกิดการรับละอองต่างๆ ที่เกิดจากการพูดคุย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช ระบุว่า ครั้งที่แล้วที่ศิริราช ได้ออกมาชี้แจงสถานการณ์โควิด 19 ไปเมื่อ 23 มีนาคม 2563 ได้เน้นจุดการเปลี่ยนแปลง จากจำนวนคนไข้ 100 คน เป็น 200 คน โดยจัดแบ่งเป็นประเทศในโลกนี้เป็นกลุ่มประเทศที่คุมโควิดไม่อยู่ และกลุ่มประเทศที่คุมโควิดได้ค่อนข้างดี และมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะอยู่ในทิศทางใด
สถานการณ์ที่แย่ที่สุด หากเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศไทยก็จะมีทิศทางเหมือนประเทศที่คุมโควิดไม่อยู่ แนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ กราฟตัวเลขจะพุ่งสูงชัน แต่หากเรามีมาตรการควบคุมให้ดี ประเทศเราจะอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 32.7 เคสต่อวัน ความชันของกราฟจะน้อยลงอย่างมาก และถ้าเกิดการติดเชื้อขึ้นจริง มีคนไข้หนักขึ้นจริง จะยังอยู่ในความสามารถของศักยภาพระบบสุขภาพของประเทศไทย ที่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งนี่คือเป้าหมายที่เราวางไว้
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นระลอก ทั้งโดย รัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น จังหวัด ภาคเอกชนหลายแห่ง ก็ได้มีมาตรการหลายอย่างออกมาช่วยกัน ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขจริงที่ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา นวัตกรรมวิจัย เฝ้าติดตามมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า กลุ่มประเทศที่คุมโควิดไม่ได้ดีนัก คือ สหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส อิหร่าน สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้
ส่วนประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี มีอยู่ 3 ประเทศ นั่นคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ส่วนไทยจากกราฟที่เกือบจะทับกับมาเลเซีย ตอนนี้มาเลเซียเสียชีวิตแล้ว 37 ราย ของไทยเสียชีวิต 10 ราย มีคนไข้รายงานวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ 1,524 คน โดยเพิ่มขึ้น 136 คน แนวโน้มประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างประเทศที่ควบคุมได้ กับ ประเทศที่ควบคุมไม่ได้ อาจจะสูงกว่าแนวโน้มเดิมอยู่บ้าง
จากกราฟข้างต้น จำนวนผู้ติดเชื้อนับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 ราย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 จนถึง วันที่ 30 มีนาคม 2563 เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ จากเดิมกรุงเทพฯมีมากกว่าต่างจังหวัด แต่ตอนนี้ ต่างจังหวัดกลับมีมากกว่ากรุงเทพฯ แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังใกล้เคียงกัน
สถานการณ์ตอนนี้ ประเทศไทยประสบความสำเร็จเพียงในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้แนวโน้มไม่พุ่งขึ้นสูงมาก เนื่องด้วยมาตรการต่างๆ จากหลายภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน ตอนนี้หากตรวจเจอคนไข้ให้ผลบวกโควิด ทางโรงพยาบาลจะยังคงรักษาไว้ในโรงพยาบาลได้อยู่ แต่ถ้าเมื่อใดที่จำนวนคนไข้มีมากขึ้น จนเกินกว่าศักยภาพของจำนวนเตียงที่ทางศิริราชมี จะต้องเริ่มขยายเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของการดูแลคนไข้ที่ให้ผลบวกโควิด
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวเน้นย้ำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องการฝากถึงคนไทยทุกคนก็คือ จากสถานการณ์โดยรวมเราอาจจะสบายใจขึ้น ว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี เพราะมีมาตรการหลายอย่างออกมา แต่มันก็ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้เช่นกัน จึงยังคงน่าเป็นห่วง ทรัพยากรทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น เตียง บุคลากรทางด้านสุขภาพ อุปกรณ์ช่วยป้องกันด้านสุขภาพจากการติดเชื้อโควิด สิ่งเหล่านี้ จนถึงวันนี้ ต้องบอกว่า เราปริ่มๆ มาก ค่อนไปทางขาดแคลนด้วยซ้ำ ถ้ามีคนไข้หนักเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจะเกินศักยภาพ ฉะนั้น ต้องช่วยกันลดจำนวนคนไข้ลง หากคนติดเชื้อน้อยลง ศักยภาพที่เรามีอยู่ก็จะเพียงพอในการดูแลคนที่ติดเชื้อ
"ขอให้ประชาชนทุกคนอยู่บ้าน เราจะไม่เอาตัวเราไปแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หากเรามีเชื้ออยู่ เรามีโอกาสไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น หากเราไม่มีเชื้ออยู่ เรามีโอกาสที่จะไปรับเชื้อแล้วกลับมาแพร่ในบ้าน การออกจากบ้านจึงเป็นความเสี่ยง หากมีความจำเป็นต้องออก เช่น ไปซื้อหาอาหาร ก็ขอให้ทำ social distancing โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน เว้นระยะห่างระหว่างคนที่เราพูดด้วยประมาณ 2 เมตร และใส่หน้ากากเพื่อไม่ให้เกิดการรับละอองต่างๆ ที่เกิดจากการพูดคุย เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าคนๆ นั้น จะมีไวรัสอยู่หรือไม่ แต่นี่คือวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด"
เชื่อว่าหากควบคุมดีพอ จำนวนผู้ป่วยใหม่จะน้อยลง ศักยภาพในการดูแลระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยก็จะเพียงพอในการดูแลคนไทยทุกคนที่ป่วยเป็นโควิดแน่นอน
อ่านข่าวก่อนหน้านี้
สรุป ข้อเท็จจริง การระบาดของไวรัสโควิด 19 ในไทย
เรื่องน่ารู้จาก COVID-19
อ่านข่าวแนะนำ >>> วิธี กักกันตัวเอง ที่บ้าน ทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด
https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/630786
อ่านข่าวแนะนำ >>> Social Distancing ระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/631471
อ่านข่าวแนะนำ >>> วิธีรับมือ ความวิตกกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/634538
อ่านข่าวแนะนำ >>> How To ดูแล สุขภาพจิต เด็กและเยาวชน ระหว่างโรคระบาด
https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/635009
อ่านข่าวแนะนำ >>> How to ทำงานจากบ้าน พร้อมเลี้ยงลูกไปด้วย แบบไม่เสียสติ