ทราบกันดีว่าการดื่มน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าควรดื่มน้ำมากแค่ไหนต่อวัน และควรดื่มเมื่อไหร่บ้าง เป็นคำถามมีคำตอบมากมายให้ค้นหา และมีการศึกษาใหม่เพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการดื่มน้ำในปริมาณมากช่วงท้องว่างไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ควรดื่มน้ำทีละนิดและอย่างสม่ำเสมอดีกว่า
สถาบันการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐฯแนะนำว่าว่า ผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย โดยเฉลี่ยแล้วควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2.70 ลิตรและ 3.70 ลิตรตามลำดับ (และยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวอีกด้วย) อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำปริมาณมากในช่วงเช้า กลางวัน และตอนกลางวัน ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด หรือดีที่สุดต่อร่างกาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวว่า หากคุณดื่มน้ำ และภายใน 2 ชั่วโมงคุณปัสสาวะออกมาในปริมาณมากและใส นั่นแสดงให้เห็นว่า ร่างกายของคุณไม่สามารถรักษาระดับน้ำในร่างกายได้อย่างเต็มที่ หากคุณไม่ได้ดื่มน้ำพร้อมกับอาหารหรือสารอาหารใดๆ น้ำเปล่าที่คุณดื่มเข้าไปนั้น มีแนวโน้มที่จะไหลผ่านระบบย่อยอาหารลงเฉยๆ คือการดื่มน้ำในปริมาณมากช่วงท้องว่างไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
แท้จริงแล้ว ปัสสาวะใสเป็นสัญญาณของการดื่มน้ำมากไป การดื่มน้ำในปริมาณมากเช่นนี้ จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดของการรักษาสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย
การศึกษาในปี 2015 เปรียบเทียบผลระยะสั้นของเครื่องดื่มหลายชนิด ที่มีต่อการรักษาความสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย เครื่องดื่มดังกล่าวมีตั้งแต่น้ำเปล่า เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา นม ชา และเบียร์ เมื่อนำปัสสาวะที่เก็บจากอาสาสมัครที่เข้าร่วมการศึกษามาวิเคราะห์ นักวิจัยสรุปว่าเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น นม ชา และน้ำส้มคั้น โดยไม่รวมเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เป็นเครื่องดื่มที่ดีกว่าน้ำเปล่าในการช่วยให้ร่างกายรักษาความสมดุลของระดับน้ำ
แน่นอนว่าไม่มีใครแนะนำให้ดื่มนมและน้ำส้มคั้นแทนน้ำเปล่า เพราะไม่ว่าอย่างไร น้ำเปล่าก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การศึกษาปี 2015 สรุปไว้ว่า มีองค์ประกอบของเครื่องดื่มหลายชนิดที่ส่งผลต่อการรักษาความสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย ซึ่งมีตั้งแต่สารอาหารในเครื่องดื่ม และ “diuretic agents” ซึ่งเป็นสารที่เพิ่มปริมาณปัสสาวะที่ร่างกายผลิตขึ้น การดื่มน้ำพร้อมกับกรดอะมิโน ไขมันและเกลือแร่ ดูจะช่วยให้ร่างกายดูดซับและกักเก็บน้ำไว้ จึงเป็นการช่วยให้ร่างกายรักษาสมดุลของน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหลังการออกกำลังกายและช่วงที่ต้องหายใจเข้าออกแรงๆ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกด้วยว่า มีความเป็นไปได้สูงว่า หากดื่มน้ำมากๆช่วงท้องว่างระหว่างมื้ออาหารหลัก โดยไม่ได้ดื่มพร้อมกับอาหารนั้น คุณจะแค่ปัสสาวะน้ำที่ดื่มเข้าไปออกมาเท่านั้น แนวความคิดยอดฮิตที่บอกว่า การดื่มน้ำในปริมาณมากและอย่างต่อเนื่อง เป็นการขับสารพิษหรือสารที่ร่างกายไม่ต้องการออกมานั้น มีข้อเท็จจริงอยู่เพียงครึ่งเดียว ในขณะที่ปัสสาวะมีส่วนช่วยขับสารข้างเคียงทางเคมีและของเสียออกจากร่างกาย การดื่มน้ำในปริมาณมากเมื่อท้องว่าง กลับไม่ได้ช่วยปรับปรุงกระบวนการชะล้างทำความสะอาดนี้แต่อย่างใด
ในบางกรณีที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก การดื่มน้ำในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายด้วยซ้ำไป นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายเป็นชั่วโมงๆ หากดื่มแต่น้ำเปล่าเพียงอย่างเดียว โซเดียมอาจถูกขับออกมาในปัสสาวะมากเกินไป ทำให้ระดับโซเดียมของร่างกายเกิดความไม่สมดุล ซึ่งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “hyponatremia” หรือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีเช่นนี้ เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาและเครื่องดื่มประเภทอื่นที่ มีส่วนผสมของสารอาหารและโซเดียมปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่าการดื่มน้ำเปล่า
ถึงแม้ว่าคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา อาจไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ แต่การช่วยให้ร่างกายและสมองมีระดับน้ำที่สมดุลยังทำได้อีกหลายวิธีที่นอกเหนือไปจากการอัดน้ำเข้าสู่ร่างกายทั้งวัน การจิบน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆทีละนิดช่วยป้องกันไม่ให้ไตทำงานมากเกินไป และช่วยให้ร่างกายสร้างสมดุลของระดับน้ำได้มากขึ้น
การดื่มน้ำก่อนหรือระหว่างรับประทานอาหารหรือขนม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายสร้างสมดุลของระดับน้ำ การดื่มน้ำที่มีกรดอะมิโน ไขมัน เกลือแร่ ช่วยให้ร่างกายรักษาสมดุลของระดับน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเครื่องดื่มอย่างเช่นนมและน้ำผลไม้ มีแนวโน้มที่จะดูดีในการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย งานวิจัยบางชิ้นพบว่า ในช่วงที่ร่างกายฟื้นตัวหลังการออกกำลังกาย การรับประทานกล้วยดีกว่าการดื่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา นอกจากนี้ การรับประทานผลไม้พร้อมกับน้ำเปล่า ยังเป็นการช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมน้ำได้ดีขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้บอกว่าคนควรดื่มน้ำเปล่าน้อยลง หรือควรเปลี่ยนจากการดื่มน้ำเปล่าไปเป็นเครื่องดื่มชนิดอื่น แต่ผลของการศึกษาบอกเราว่า การทำให้ร่างกายรักษาสมดุลของระดับน้ำนั้น ควรดื่มน้ำทีละนิดและอย่างสม่ำเสมอ และการดื่มน้ำพร้อมกับอาหารนิดหน่อยเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการดื่มน้ำครั้งละมากๆระหว่างมื้อ
ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้เกี่ยวกับการดื่มน้ำก็เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่หากกระหายน้ำเมื่อไหร่ ก็อย่าลังเลที่จะดื่มน้ำ ไม่ว่าจะเวลาไหนก็ตาม อย่ามัวแต่นึกถึงทฤษฏีอะไรต่ออะไร จนลืมใส่ใจความต้องการพื้นฐานของร่างกายก็แล้วกัน