"กรมควบคุมโรค" และ "แอสตร้าเซนเนก้า" ประเทศไทย แถลงการณ์ร่วมย้ำวัคซีนโควิด-19 ปลอดภัย
วันที่ 16 มีนาคม 2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าฯ ระบุว่า
1. จากผลการสอบสวนกรณีที่มีผู้เสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีนที่ประเทศเดนมาร์ก พบว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากวัคซีนแต่อย่างใด สำหรับประเทศไทย โดยคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เห็นควรให้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปในจังหวัดเป้าหมายตามแผนกำหนดการเดิมต่อไป โดยในวันนี้ (16 มีนาคม 2564) เริ่มดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวันแรก ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี 17 ท่าน รวมถึงอาจารย์แพทย์อีก 5ท่าน ได้แก่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา, ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา และ นพ.โสภณ เมฆธน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเข้าประชุม ครม. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
2. เพื่อบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรม ความเท่าเทียม หลักฐานทางวิชาการ ปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้ และความสามารถในการบริหารจัดการภายใต้บริบทของประเทศ ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานด้านต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานวัคซีนในประเทศไทยทั้งหมด มีเป้าหมายเพื่อลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต รักษาความมั่นคงระบบสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผ่านการพิจารณาจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 และ เห็นชอบจาก ครม ในการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อวัคซีนเพื่อครอบคลุมประชาชนในประเทศไทยและ มีแผนการดำเนินการฉีดครบทั้งประเทศภายในปี 2564 นี้
3. ก่อนที่วัคซีนจะได้รับการอนุญาตให้ใช้จริงต้องผ่านการทดลองในมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ผลและไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง สำหรับแอสตร้าเซนเนก้าได้ผ่านขั้นตอนนั้นแล้ว และได้รับการรับรองในความปลอดภัย จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลก รวมถึงประเทศอื่นๆกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
4. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั่วโลก และเกือบทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรง ส่วนกรณีอุบัติการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันของคนไทย มีน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ โดยพบว่าน้อยกว่าคนยุโรปและอเมริกาถึง 3 เท่า และการเกิดภาวะนี้มักพบเพิ่มขึ้น 4.5 เท่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น แพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune disease) โรคมะเร็งบางชนิด (solid tumor) การกินยาคุมกำเนิด และมีประวัติครอบครัวเป็นภาวะอุดตันลิ่มเลือด เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว โดยจากฐานข้อมูลของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีรวบรวมรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากประเทศต่างๆทั่วโลกในช่วงตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมีนาคม 2564 พบรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำทั้งหมด 29 ราย ซึ่งตามอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะนี้ตามปกติในภาวะที่ไม่มีวัคซีนในจำนวนประชากรเท่ากับที่ได้รับวัคซีนคาดการณ์ว่าอาจพบได้ถึง 916 ราย ซึ่งนับว่าอุบัติการณ์การพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในครั้งนี้น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะพบได้ในภาวะปกติมาก โดยพบเพียง 0.03 เท่าของภาวะปกติเท่านั้น
5. มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว มากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก เฉพาะในเอเชียฉีดไปกว่า 6 ล้านคนแล้ว ในจำนวนวัคซีนที่ฉีดไปทั่วโลกนี้เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 34 ล้านโดส ซึ่งฉีดในประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม สหราชอาณาจักร เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ออสเตรีย และเกาหลี ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับข่าวที่มีผู้เสียชีวิต 7 รายหลังได้รับวัคซีนที่ในประเทศเกาหลี และบางประเทศในยุโรป (ออสเตรีย 2 ราย) ได้มีการสอบสวนกรณีดังกล่าวแล้ว ผลคือไม่ได้เสียชีวิตจากการได้รับวัคซีน และอัตราการเสียชีวิตที่พบในผู้รับวัคซีนในเกาหลีใต้ถือว่าน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตโดยทั่วไปของชาวเกาหลีมาก
6. การสั่งให้ชะลอการฉีดในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และอินโดนีเซีย เป็นมาตรการปกติเพื่อพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันแถลงการณ์ล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ให้ความเห็นที่ตรงกันว่าการให้วัคซีนควรจะดำเนินต่อไปเนื่องจากประโยชน์ที่จะได้มีมากกว่าความเสี่ยง