svasdssvasds

ซูเพล็กซ์บนเวทีญี่ปุ่น ฝันเล็กๆ ของนักมวยปล้ำหญิงคนเดียวของไทย Matcha

ซูเพล็กซ์บนเวทีญี่ปุ่น ฝันเล็กๆ ของนักมวยปล้ำหญิงคนเดียวของไทย Matcha

หญิงสาวเดินลงมาจากรถโตโยต้า กะด้วยสายตาเธอสูงไม่เกิน 155 ซม. แต่กล้ามเนื้อที่ซ่อนอยู่ในเสื้อออกกำลังกายบ่งบอกความแข็งแรงได้เป็นอย่างดี ให้ทายคงลำบาก แต่เธอคือนักมวยปล้ำหญิงคนเดียวของไทยที่ใช้ชื่อบนเวทีว่า ‘มัจฉา (Matcha)’ ที่มีความหมายเหมือนชื่อเล่นว่า ‘ปลา’

“ขอโทษนะคะที่ทำให้รอ” เราบอกกับเธอว่าไม่เป็นไร เธอผายมือเดินเข้าไปในอาคาร ภายในเป็นห้องโล่งที่พื้นถูกปูด้วยฝูกและมีพันชิ่งบอลตั้งอยู่ที่มุมหนึ่ง ดูแห้งแล้งผิดจากภาพยิมมวยปล้ำที่คิดไว้ในหัว 

เธอเล่าว่าที่นี่คือโรงยิมที่ค่าย SETUP Thailand มาซ้อมกันทุกวันเสาร์ และถึงแม้มันอาจดูไม่ครบถ้วนนัก แต่ถือว่าพัฒนาขึ้นมากแล้ว จากจุดที่ค่ายมวยปล้ำไทยไม่มีสถานที่ซ้อมเป็นของตัวเอง และต้องไปเช่าพื้นที่ฟิตเนสในคอนโดเพื่อทำการซ้อมก่อนขึ้นอีเวนท์ 

ย้อนกลับไป 11 ปีที่แล้ว หญิงสาวคนนี้คือ ‘บลู โลตัส (Blue Lotus)’ นักมวยปล้ำหญิงคนแรกที่ได้ปล้ำเดบิวต์ที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองหลวงของมวยปล้ำฝากตะวันออกของโลก (อีกฝากคือสหรัฐอเมริกา) แต่ในวันนี้ เธอเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตัวเองเพื่อให้ดุดันขึ้นตามประสบการณ์บนสังเวียนผืนผ้าใบ มีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนในตัวเธอคือ ความรักและหลงใหลในมวยปล้ำ 

“ความชอบล้วนๆ เราชอบดูมวยปล้ำ ชอบนักมวยปล้ำ ชื่นชมนักมวยปล้ำ ถ้าให้ไปทําอย่างอื่นที่ไม่ใช่มวยปล้ำ เราก็ไม่รู้จะทำอะไร ขนาดเราเป็นคนที่มีงานอดิเรกวาดรูป เราก็ยังวาดรูปนักมวยปล้ำเลย” 


 

จากเด็กหญิงคนนึงที่ชอบดูมวยปล้ำ วันนี้เธอกลายเป็นนักกีฬารุ่นใหญ่ที่ผ่านมาแล้วกว่า 100 แมตช์ ครองแชมป์ All Asia Women Championship และป้องกันเข็มขัดมาแล้วถึง 5 ครั้ง โดยแมตช์ล่าสุด เธอสามารถเอาชนะสองนักมวยปล้ำหญิงชาวญี่ปุ่นในแมตช์สามเศร้า ท่ามกลางสายตาคนดูกว่า 200 คู่ 

สิ่งที่เธอทำเป็นมากกว่าแค่ความชอบในมวยปล้ำ แต่มันเลยไกลไปถึงขั้นหลงรัก ลุ่มหลง หมกหมุ่นกับสิ่งหนึ่งจนพร้อมทุ่มเททุกอย่างให้กับมัน ดังนั้น โปรดอย่ามองว่านี่คือบทสนทนาระหว่างนักสัมภาษณ์กับนักกีฬาสมัครเล่นคนหนึ่ง แต่โปรดมองว่ามันคือเสียงสะท้อนจากผู้หญิงคนนึงที่ทุ่มเทให้กับแพชชั่นและความรักในกีฬามวยปล้ำ

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]
 

เด็กหญิงผู้รักการดูมวยปล้ำ – จุดเริ่มต้น 

เหมือนใครหลายๆ คน มัจฉารู้จักมวยปล้ำครั้งแรกผ่านการถ่ายทอดสดทางช่องยูบีซี แต่แมตช์ที่ทำให้เธอกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้กีฬาชนิดนี้คือ การปล้ำระหว่าง ชอว์น ไมเคิลส์ (Shawn Michaels) กับ คริส เจอริโก้ (Chris Jericho) ซึ่งทำให้เธอลงลึก กลายเป็นขาประจำในเว็บบอร์ดมวยปล้ำบนโลกออกไลน์ และพาเธอมาพบกับ ปูมิ – ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต ที่จะมาก่อตั้ง SETUP Thailand Pro Wrestling ค่ายมวยปล้ำแห่งเดียวของไทยในอนาคต

จุดเปลี่ยนที่ทำให้จากคนดูกลายเป็นนักกีฬาเสียเอง เกิดขึ้นในช่วงที่เธอกำลังเข้าจะมหาวิทยาลัย ตอนนั้น เอมิ ซากุระ ผู้ก่อตั้งกาโตห์ มูฟ โปร เรสลิ่ง (Gatoh Move Pro Wrestling) สมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่นได้เดินทางมาประเทศไทย และเป็นปูมินั่นเองที่ติดต่อเธอเข้ามาถาม “สนใจเป็นนักมวยปล้ำหรือเปล่า” มัจฉาไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไป เธอจับมือผู้ปกครองไปซ้อมมวยปล้ำจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิต 

“ตอนนั้นพาพ่อไปซ้อมด้วย แต่หลังจากนั้นพ่อไม่อนุญาต เพราะตอนนั้นเราอยู่ประมาณ ม.6 กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องโฟกัสกับการเรียนก่อน เราก็เลยหายจากมวยปล้ำไปในช่วงนั้น” มัจฉาย้อนความหลัง

แต่เส้นทางของเธอกับมวยปล้ำกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง เพราะในช่วงที่เธอเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เธอใช้ข้ออ้างเรื่องรับน้องบอกกับที่บ้าน เพื่อเข้าฝึกซ้อมกับค่ายกาโตห์ มูฟที่กำลังเติบโตในประเทศไทยเรื่อยๆ ก่อนได้โอกาสไปปล้ำที่ญี่ปุ่นครั้งแรกในนาม บลู โลตัส 

“เรารู้สึกว่าโอกาสมันมาแล้ว เราต้องทำ เพราะมันน่าจะมีแค่ครั้งเดียวในชีวิต ไปซ้อมดูก่อน ไปลองทําดูก่อน ถ้าไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ว่ามันทําได้ไง ก็เลยติดยาวมาเลย” 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

Set Up Thailand จุดเปลี่ยนชีวิต

หลังจากกลับมาจากญี่ปุ่น มัจฉายังคงปล้ำอย่างต่อเนื่องให้กับค่ายกาโตห์ มูฟ แต่เธอกลับรู้สึกว่าวงการมวยปล้ำในเวลานั้นไม่ขยับเขยื้อน และตัวเธอรู้สึกเพียง “ปล้ำไปวันวัน” จนทำให้ตัวเธอในเวลานั้นที่กำลังเข้าสู่วัย 30 ปีเคยมีความคิดที่จะรีไทล์จากวงการ 

“สําหรับผู้หญิง อายุ 30 ปีคือจุดวัดใจเลย เพราะเราจะแก่ขึ้นมาก ร่างกายจะไม่ได้เหมือนเด็กวัยรุ่นอีกแล้ว เราเลยคิดว่าถ้าตอนนั้นวงการยังไม่มีอะไรดีขึ้น เรารีไทร์ไปทําอย่างอื่นแบบเต็มที่ดีกว่าทำทุกอย่างครึ่งกลางๆ แบบนี้” มัจฉาเล่า 

แต่เมื่อปูมิตัดสินใจก่อตั้งค่าย S​ETUP Thailand และชวนให้เธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของค่าย เธอเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยในวงการ จากที่เคยไม่มีสถานที่ซ้อม ไม่มีฟิตเนส และงานอีเวนท์มีคนดูเพียงแค่ 5 คน ทุกอย่างก็ค่อยๆ พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

“ค่าย SETUP มันทำให้เราเชื่อว่าเรายังมีความหวังกับมวยปล้ำ" 

"พี่ปูมิ (เจ้าของค่าย) คอยไปเจรจากับค่ายอื่นดึงนักมวยปล้ำมาปล้ำที่นี่อยู่ตลอด มีการสร้างเข็มขัดแชมป์ จัดมวยปล้ำให้มีระบบมากขึ้น มีอีเวนท์ประจำที่มีคนดูการันตีหลักร้อย” มัจฉาเล่า 

“เขายังสามารถการันตีได้ว่าถ้าคุณมีความสามารถ คุณไปปล้ำต่างประเทศได้นะ มันดูมีอนาคตมากๆ แล้วถ้าเราช่วยกัน เราจะสามารถผลักดันให้มวยปล้ำเป็นอาชีพของเราได้จริงๆ มันดูมีความหวังจริงๆ เราก็เลยทำต่อ จนถึงตอนนี้ 30 แล้วก็ยังไม่เลิกปล้ำ (หัวเราะ)” เธอกล่าวต่อด้วยน้ำเสียงชื่นชม 

จากน้ำเสียง บทสนทนา และถ้อยคำให้สัมภาษณ์ มัจฉายังคงคาดหวังให้ค่าย SETUP เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะเป็นแกนกลางหลักให้กับวงการมวยปล้ำไทย 

“อย่างแรก เราจะต้องมียิมเป็นของตัวเองสักที ทุกวันนี้เราเช่าพื้นที่เขาอยู่ เราอยากมีพื้นที่ที่ตั้งเวทีได้ถาวรสักที” มัจฉาพูดถึงเป้าหมายของค่ายข้อแรก ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐาน รวมถึงทักษะการไต่เชือกและเล่นท่าเหินหาวให้แก่นักมวยปล้ำไทย 

เป้าหมายข้อที่สองที่มัจฉาคาดหวังคือ อยากจัดอีเวนท์มวยปล้ำให้ได้ทุกเดือน จากในปัจจุบันที่ค่าย SETUP จัดอีเวนท์แบบเดือนเว้นเดือน ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นต้องมีทั้งรายได้ที่มากขึ้นและนักกีฬาที่มากขึ้น 

ทุกวันนี้ คนที่มาดูอีเวนท์ของ SETUP มีอย่างต่ำคือหลัก 200 คน ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นมากจากจุดที่มีคนดูหลักหน่วย โดยกลุ่มผู้ชมแบ่งเป็นชาวไทยครึ่งหนึ่งและชาวต่างชาติครึ่งหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม มัจฉามองว่าคนที่ดูคลิปในช่องยูทูปของ SETUP มีมากถึงระดับพันถึงหมื่นคน ดังนั้น เธอจึงอยากให้แฟนหน้าใหม่ทดลองมาดูมวยปล้ำที่สนามด้วยกันให้มากขึ้น 

“เราอยากให้คนดูเพิ่มเป็น 1,000 - 2,000 คน เราอยากให้สนามแข่งใหญ่ขึ้น อยากให้มีคนดูหน้าใหม่ๆ เข้ามาดูมวยปล้ำในสนาม เพราะเรากล้าพูดได้เลยว่ามวยปล้ำดูในคลิปวิดีโอกับของจริงไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง” มัจฉาทิ้งระยะก่อนพูดต่อ

“ในเวทีคุณอาจจะต้องลุกหนีนักมวยปล้ำโดยไม่รู้ตัวก็ได้“ และจากประสบการณ์เรา มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

สรีระ คู่ต่อสู้ และขนบสังคม – ผู้หญิงในวงการมวยปล้ำ 

ผู้หญิงในวงการกีฬาว่ายากแล้ว การเป็นผู้หญิงในวงการกีฬากึ่งต่อสู้อย่าง ‘มวยปล้ำ’ ย่อมต้องยากกว่า ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นกีฬาที่ต้องปะทะเจ็บตัว แต่การเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวในวงการ แปลว่าย่อมหลีกเลี่ยงคู่ต่อสู้เพศชายไม่พ้น

“ช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีเข็มขัดแชมป์หญิง เราปล้ำกับผู้ชายเป็นหลัก เพราะการที่จะเชิญนักมวยปล้ำหญิงจากต่างประเทศมาปล้ำ มันมีค่าใช้จ่าย และไม่สามารถทำปุปปัปได้” มัจฉาเล่า

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ทำให้มัจฉาต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมของตัวเองมาก โดยเธอเล่าว่านอกจากวันซ้อมที่มักเป็นวันเสาร์ ในวันจันทร์ถึงศุกร์หลังกลับจากทำงาน เธอมักใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง/ วันในการเข้าฟิตเนสเพื่อคาร์ดิโอและเวทเทรนนิ่งเพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับกีฬามวยปล้ำมากที่สุด 

“การซ้อมมวยปล้ำมันเหนื่อยนะ เราต้องเตรียมร่างกายพื่อให้เราฟิตมากพอ เพราะคุณต้องยกคู่ต่อสู้ตลอด ถ้าไม่เตรียมกล้ามเนื้อมาก่อนมันจะไม่ไหว และมวยปล้ำแมตช์นึงมันประมาณ 10 - 15 นาที คุณต้องวิ่งตลอดทั้งแมทช์ ถ้าไม่คาร์ดิโอมันไม่ไหว คุณจะไม่พร้อม” มัจฉาเล่า

รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวบ้างไหมที่ไม่มีนักมวยปล้ำหญิงเป็นเพื่อนเลย? เราถามเธออย่างเห็นอกเห็นใจ เธอพยักหน้ารับ และตอบกลับมาด้วยความเข้าใจถึงเหตุผลที่ยังไม่มีผู้หญิงคนอื่นก้าวเข้ามาในวงการมวยปล้ำไทย 

“เราเข้าใจเพราะว่ามวยปล้ำไม่ได้ป๊อปปูล่าในกลุ่มผู้หญิงไทยขนาดนั้น และเราเคยผ่านจุดที่พ่อแม่ไม่อนุญาตให้ปล้ำมาก่อน" มัจฉากล่าว 

"การจะมีนักมวยปล้ำผู้หญิงคนนึงมันยาก คุณไม่ได้เจอแค่อุปสรรคเรื่องร่างกาย แต่ต้องเจอคนในครอบครัว เจอสภาพแวดล้อม เจอคนถามว่าเป็นผู้หญิงมาเล่นกีฬารุนแรงทำไม ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น” 

“ที่ยากที่สุดคือการคุยกับพ่อและแม่ เพราะคนไทยมักไม่ค่อยปล่อยลูก ถ้าเป็นอเมริกาลูกเขาอยากทำอะไรก็ทำ ขอแค่รับผิดชอบตัวเอง แต่ในเมืองไทยคุณต้องพิสูจน์ตัวเองระดับนึงว่าคุณดูแลตัวเองได้จริงๆ นะ เกรดคุณต้องไม่ตกนะ” มัจฉาสะท้อนประสบการณ์ที่เคยเจอกับตนเอง 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

แล้วสำหรับคุณเองที่ผ่านจุดนั้นมาแล้ว และวันนี้ยังยืนอยู่ในฐานะนักมวยปล้ำหญิงคนเดียวในไทย คุณอยากบอกอะไรกับตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วไหม? 

“คงพูดว่าเก่งนะ เพราะเราเริ่มมาจากการที่ไม่มีอะไรเลย แต่เราทํามาถึงขั้นนี้ได้ เราได้เป็นแชมป์ ได้ไปปล้ำต่างประเทศ เลยคิดว่าต้องชมตัวเอง และคิดว่าจะยังคงเดินต่อไปเรื่อยเรื่อย” มัจฉะกล่าว

[ภาพจาก: เฟซบุ๊ก Matcha :: SETUP Thailand Wrestler]

ดีไซน์เนอร์อาชีพ มวยปล้ำแค่งานรอง 

ถึงแม้ เรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่เดินตามความฝันจนสำเร็จจะฟังดูโรแมนติคและเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ แต่มันไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมวยปล้ำยังไม่ใช่งานที่หาเลี้ยงปากท้องได้ นักกีฬามวยปล้ำทุกคนยังคงต้องทำงานอื่นเสริม และแบ่งเวลามาซ้อมมวยปล้ำด้วยตัวเอง 

มัจฉาก็เช่นเดียวกับคนอื่น ทุกวันนี้เธอยังคงใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยในการหาเลี้ยงชีพ และแบ่งเวลาที่เหลือให้กับมวยปล้ำที่เธอรัก ซึ่งเธอขอปฏิเสธไม่เล่าลงลึกถึงงานประจำที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ 

“ตอนนี้เราเหมือนทํางานเพื่อเลี้ยงมวยปล้ำมากกว่า” มัจฉาตอบอย่างรวบรัดชัดเจนถึงชีวิตตัวเอง

ด้วยทักษะทางศิลปะ อีกหน้าที่หนึ่งที่เธอรับผิดชอบกลายๆ ในค่าย SETUP Thailand คือการเป็นดีไซร์เนอร์เสื้อแข่งมวยปล้ำให้กับตัวเอง รวมถึงนักกีฬาคนอื่นๆ ในทีม อาทิ Jenny, Shivam หรือเสี่ยนนท์ Anont Alonzo แม้กระทั่ง นักกีฬามวยปล้ำต่างประเทศก็ผ่านงานดีไซน์ของมัจฉามาแล้ว ไม่ว่า Will Ospreay, Henare, Shun Skywalker, Diamante, Emi Sakura หรือ Mei Suruka 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

เป้าหมายคือซูเพล็กซ์บนเวทีญี่ปุ่น 

ในเมื่อผ่านคู่ต่อสู้มามากหน้าหลายตา ปล้ำมาแล้วกว่า 100 แมตช์ และได้เข็มขัดแชมป์มาคล้องเอวแล้ว เราอดไม่ได้ที่จะถามว่า ทุกวันนี้รู้สึกอย่างไรกับการขึ้นปล้ำ? 

“ทุกวันนี้ก็ยังตื่นเต้นอยู่ เพราะว่าเรารู้สึกว่ามวยปล้ำมีอะไรใหม่เสมอ เราไม่ได้เจอแค่คู่ต่อสู้ในค่าย เราเจอนักมวยปล้ำต่างชาติที่มีไสตล์การปล้ำต่างกับเรา พอเราเจอปุ๊บ เราก็ต้องมาจูนว่าสไตล์นี้เป็นยังไง เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่จากเขาบ้าง หรือแต่ละอีเวนท์คนดูก็ไม่เหมือนกัน บางสนามเขาชอบให้ทำแบบนี้ แต่อีกสนามเขาโห่เรา เราก็ต้องพัฒนาตัวแมทช์ของเราขึ้นไปเสมอ” มัจฉาเล่า

ในวัย 31 ปี มัจฉายังคงมีความฝันกับเวทีผ้าใบ และยังไม่คิดที่จะเลิกปล้ำง่ายๆ และสายตาของมัจฉามองไปข้างหน้า เธอยังอยากผลักดันวงการมวยปล้ำในไทยให้เติบโต และอยากไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันคือกลับไปปล้ำที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง เหมือนครั้งที่เธอเคยทำเมื่ออายุ 19 ปี 

“ตอนนี้อยากไปปล้ำฟูลไทม์ที่ญี่ปุ่น เพราะวัฒนธรรมมวยปล้ำที่ญี่ปุ่นแข็งแรง เขาปล้ำกันทั้งประเทศ มีแฟนคลับเหนียวแน่น สามารถจัดอีเว้นท์ได้ทุกสัปดาห์ เราอยากไปอยู่ตรงนั้น เราอยากปล้ำทุกสัปดาห์” 

“ถ้าเราไปปล้ำที่ญี่ปุ่นได้ มันจะเหมือนฟีลนักกีฬาไทยคว้าเหรียญโอลิมปิก สื่อจะหันมาสนใจวงการมวยปล้ำ และถ้าเราไปได้แชมป์ที่ญี่ปุ่น เราสามารถบอกได้ว่า เฮ้ย เราส่งคนไปปล้ำที่ญี่ปุ่นได้แล้วนะ ปูทางไว้ให้แล้วนะ มันจะทำให้มวยปล้ำได้รับความนิยมมากขึ้น” เธอกล่าว 

“ถ้าเราไปปล้ำที่ญี่ปุ่นได้ มันจะเหมือนฟีลนักกีฬาไทยคว้าเหรียญโอลิมปิก สื่อจะหันมาสนใจวงการมวยปล้ำ"

แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น? เป็นคำถามทิ้งท้ายของเรา 

“เราคิดว่ามันอยู่ที่ผลงาน ถ้าปล้ำดี ค่ายต่างประเทศเห็นคลิปวิดีโอ เขาก็อาจมาชวนเราไปปล้ำก็ได้ เราเลยต้องทําผลงานให้ดีขึ้นในการปล้ำแต่ละครั้งค่ะ” 

[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]
 

สัมภาษณ์:  สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล

ภาพถ่าย: ณปกรณ์​ ชื่นตา & ภูมิสิริ ทองทรัพย์

ออกแบบปก: สมชาย พัวประเสริฐสุข

 

related