svasdssvasds

จากหน่อไม้ปักขี้เลน สู่แชมป์เอเชียและมือปั้นนักขับรุ่นใหม่ ‘เอ้ วรพงษ์’

จากหน่อไม้ปักขี้เลน  สู่แชมป์เอเชียและมือปั้นนักขับรุ่นใหม่ ‘เอ้ วรพงษ์’

หากย้อนกลับไปสัก 20 ปีที่แล้ว แล้วลองถามคนเดินถนนว่ารู้จักกีฬามอเตอร์สปอร์ตไหม เขาน่าจะบ่นระงมถึงเสียงแสบหู เพราะเอาไปปนกับการแว๊นมอร์ไซค์ของกลุ่มวัยรุ่นที่ถนนหลังบ้าน

เอ้ นครพิงค์ หรือ วรพงษ์ มาลาหวน นักแข่งมอเตอร์สปอร์ตวัย 37 ปี โตมาในยุคแบบนั้น จึงไม่แปลก ที่เขาจะไม่เคยได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว และต้องเก็บเงินวันละ 10 บาทเพื่อเข้าแข่งในรายการแดร็กที่จัดขึ้นทุกเดือน ณ สนามกีฬา 700 ปีสมโภชเพื่อเข้าไปยืมมอเตอร์ไซค์เขาลองแข่งอีกทีนึง 

“ตอนนั้นเราอยู่เชียงใหม่เทียบแล้วเหมือนหน่อไม้ที่โตในขี้เลน ใครก็มองว่าคงไม่เท่าไหร่”  วงพงษ์เปรียบเปรยตัวเองไว้ช่วงหนึ่งระหว่างสัมภาษณ์ 

แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ หน่อไม้ในขี้เลนเติบโตลำเท่าแขน โลดแล่นในสนามแข่งนานกว่า 20 ปี สมหวังหลายครั้ง อกหักก็หลายครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยทำคือปล่อยมือจากคันเร่งของมอเตอร์ไซค์ 

นี่คือบทสนทนาที่ถ่ายทอดประสบการณ์ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ถึงจุดที่ยืนอยู่ และจุดที่อยากไปให้ถึง เพื่อที่คลื่นลูกเก่าเช่นเขา จะยังโต้ไปกับคลื่นลูกใหม่ และลูกอื่นๆ ในวงการมอเตอร์สปอร์ตต่อไปเรื่อยๆ 
[ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา]

หน่อไม้ที่โตในขี้เลน

มีน้อยคนที่ตั้งมั่นตั้งแต่อายุ 12 ปีว่าชีวิตตัวเองจะเดินไปทางไหน และมานะบากบั่นจนสำเร็จได้อย่างที่คิดไว้ วงพงษ์เป็นหนึ่งในคนประเภทนั้น 

ฉายา ‘นครพิงค์’ บ่งบอกเป็นอย่างดีว่าเขาเกิดและเติบโตที่ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วัยเด็ก วงพงษ์หลงใหลในยานยนต์สองล้อทุกชนิด แต่ด้วยฐานะทางครอบครัวและค่านิยม ทำให้เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และต้องเก็บเงินวันละ 10 บาทเพื่อส่งตัวเองลงแข่งแดร็กที่จัดขึ้นทุกเดือนในจังหวัดเชียงใหม่ 

“ในสมัยนั้น ทุกเดือนจะมีการแข่งขันแดร็กเรซซิ่งที่สนามสมโภช 700 ปี ตอนนั้นผมไม่มีรถเป็นของตัวเองเพราะที่บ้านไม่ได้ส่งเสริม ผมก็ยืมรถเขาขี่ไปเรื่อยๆ” วงพงษ์ย้อนความหลัง 

ด้วยความหลงใหลชนิดคิดอะไรก็เป็นสองล้อ ไม่นานเขาก็คว้าแชมป์ระดับภาคเหนือ และได้เซ็นสัญญากับค่าย ช เจริญยนต์ ก่อนได้รับโอกาสครั้งสำคัญจากค่าย AP Honda ทีมรถแข่งยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น

[ภาพ: เฟซบุ๊ก วรพงศ์ มาลาหวล]

“การเซ็นสัญญากับ AP Honda มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ผมมีวันนี้ เพราะผมได้เรียนรู้ระบบการทำงานแบบนักแข่งบริษัท ระเบียบวินัยของนักแข่งมืออาชีพ มันเหนือกว่านักแข่งที่มีสปอนเซอร์ธรรมดามาก” วงพงษ์ย้อนความหลัง 

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัย 26 ปี ซึ่งนับว่าถึงช่วงโรยราของนักกีฬามอเตอร์สปอร์ต Honda เลือกไม่ต่อสัญญาในฐานะนักแข่งกับเขา แต่เสนอให้เขามาเป็นโค้ชให้กับนักแข่งใหม่แทน ซึ่งเขาปฏิเสธในทันที เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองยังมีศักยภาพมากเพียงพอในฐานะนักแข่ง

“ผมบอกเลยว่าไม่เอา เพราะผมเชื่อว่าผมยังมีความสามารถมากพอที่จะล่าแชมป์ได้อีก ผมเป็นนักแข่งไม่กี่คนที่พูดแบบนี้ เพราะนักแข่งส่วนมากถ้ามองเรื่องความมั่นคง การเป็นโค้ชจะได้เงินเดือนประจำมั่นคงกว่า” 

หลังจากหมดสัญญากับค่ายยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เขากลายเป็นนักขับแซทเทิลไลน์ให้กับทีม ‘ไฮสปีด’ และเจอจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งในปี 2019 เมื่อเขาได้เซ็นสัญญากับค่าย TMS Motorsprot แบรนด์ออโตโมบิลสัญชาติอินเดีย ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสไปแข่งที่มาเลเซีย และคว้าอันดับ 1 ในระยะ 400 เมตร จนทำให้ได้รับสัญญาระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน 

“อารมณ์ตอนนั้นเหมือนเราพารถที่ไม่มีใครรู้จักขึ้นมาเป็นท็อป 5 ของเอเชีย เราเป็นรองทุกอย่างทั้งเรื่องของข้อมูลการแข่งขันหรือเครื่องยนต์” วงพงษ์ย้อนความหลัง 

[ภาพถ่าย: motocrossmag]

ถึงแม้ ชายหนุ่มจากเชียงใหม่จะกวาดความสำเร็จมามากมาย แต่ไม่มีรางวัลไหนที่จะภาคภูมิใจไปกว่าการคว้าอันดับที่ 2 ในรายการ Asia Road Racing Championship ปี 2023 รางวัลที่เขาใฝ่ฝันมานาน

“ผมใช้เวลา 12 ปีถึงสามารถคว้าแชมป์เอเชีย ผมไม่รู้ว่านักแข่งคนอื่นเขารู้สึกอย่างไรนะ แต่ในวันที่ผมท้อ ผมจะบอกตัวเองให้หยุดคิดก่อนว่าเราแพ้เพราะอะไร เขียนลงในกระดาษเลยว่าที่แพ้ที่โค้งนี้ เพราะรถไม่พร้อม ลดความเร็วไม่พอ หรืออะไรก็ตาม” วงพงษ์กล่าว 

“ผมอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งมาก ไม่ใช่คนที่เฉิดฉายที่สุดในทุกการแข่งขัน แต่ผมเป็นคนที่คงเส้นคงวา” 

[ภาพถ่าย: motocrossmag]

วินัย – เคล็ดลับการยืนระยะ

“หลายคนถามว่าทำไมผมยังยืนหยัดอยู่ในจุดนี้ได้ มันไม่มีฟลุ๊คหรอก มันต้องมีการวางแผนและทําออกมาจากใจจริงๆ” วงพงษ์ตอบคำถามถึงสาเหตุที่ยังยืนระยะมาถึงปัจจุบัน

การยืนระยะอยู่ในวงการแข่งมอเตอร์ไซค์กว่า 20 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยชวนให้เขาแชร์เคล็ดลับความสำเร็จของตัวเองให้ฟัง คำตอบของเขาเรียบง่ายว่าไม่มีอะไรเกินกว่า “วินัย” อีกแล้ว 

สำหรับวงพงษ์คำว่าวินัยไปไกลเกินกว่าแค่วินัยในการซ้อม แต่มันรวมถึงวินัยในชีวิต คำพูด และกริยามารยาทในชีวิตประจำวัน เขากล่าวว่าวินัยสำคัญต่อนักกีฬาและสำคัญต่อมุมมองที่คนอื่นมองเข้ามา โดยเฉพาะผู้สนับสนุนทั้งหลาย

“ไม่ว่าจะกีฬาอะไร คนที่มีวินัยมากกว่าคือคนที่มีโอกาสชนะมากกว่า ความสม่ำเสมอ การรู้ชนะรู้อภัย การมีน้ําใจนักกีฬาสิ่งเหล่านี้ทําให้เรายั่งยืน”

“นอกจากการออกกำลังกาย เราต้องมีวินัยในชีวิต คำพูด กริยามารยาท เพราะมันส่งผลระยะยาว สมมติคุณแข่งได้อันดับ 1 แต่ถ้าเคยมีประวัติขับรถเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุ มันจะแสดงขึ้นมาก่อนอีก” วงพงษ์กล่าว

ในฐานะนักกีฬารุ่นที่ผ่านร้อนหนาว ผ่านสนามแข่งมามากมาย สิ่งหนึ่งที่เขาบอกตัวเองเสมอคือ จงเชื่อและทำอย่างมีเป้าหมาย 

“สิ่งหนึ่งที่ผมบอกตัวเองตลอดเลยคือ อย่าคิดว่าตัวเองทําไม่ได้ ลองทําก่อนและทําอย่างมีจุดหมาย” 

จากหน่อไม้ปักขี้เลน  สู่แชมป์เอเชียและมือปั้นนักขับรุ่นใหม่ ‘เอ้ วรพงษ์’

ทีม AVRP – ไข่ที่กำลังฟักออกจากเปลือก 

ในวัย 37 ปี วงพงษ์ตระหนักดีว่าเขากำลังอยู่ในช่วงขาลงของอาชีพนักแข่ง แต่เขาไม่หวาดหวั่นกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเขาตระเตรียมทุกอย่างสำหรับวันที่จะมาถึงไว้แล้ว ในชื่อทีม AVRP 

“นักแข่งอย่างเดียวมันมีอายุการใช้งานไม่นาน ถึงเวลาคุณหยุดแข่งไม่มีชื่อเสียงก็จบ ผมไม่ต้องการให้คนจําชื่อ เอ้ วรพงษ์ อย่างเดียว ผมอยากให้ทุกคนจําทีม AVRP ผมเชื่อว่าวันนึงผมจะทําแบรนด์นี้ให้มันเติบโตขึ้น วันนึงมันจะเป็นบริษัท ในระยะยาวมันจะอยู่ในจุดที่มันเป็นธุรกิจมากกว่านี้” เอ้ วรพงษ์ พูดถึงเป้าหมายในอนาคต 

ทุกวันนี้ทีม AVRP กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการคุมบังเหียนของวรพษ์ เขาเป็นทั้งหัวหน้าทีมและผู้ฝึกสอนคอยส่งนักแข่งเข้าแข่งขันตามรายการต่างๆ เช่น แต๊ง — ณัฐนันท์ สุวรรณโกสุม แชมป์ Supersport 400cc SS 2 ปี 2023 รวมถึงยังสร้างบุคลากรคุณภาพป้อนวงการมอเตอร์สปอร์ต ไม่ว่าทีมช่าง ทีมฝึกสอน หรือวิศวกร 

นอกจากส่งทีมแข่ง AVRP ยังเปิดโรงเรียนสอนขับมอเตอร์สปอร์ตสำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งในปัจจุบัน กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ แบบยั่งยืน มีนักเรียนเข้ามาเรียนมากกว่า 20 ราย ขณะที่ทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมมาก็ค่อยๆ กลั่นออกมาเป็นเทคนิคการสอนที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ 

“ผมภูมิใจมากที่วางแผนมาตั้งแต่อายุ 26 ปี ตอนนี้มันเป็นขาลงในฐานะนักแข่ง แต่กําลังเป็นขาขึ้นของทีมที่ผมฟูมฟักขึ้นมา เหมือนไข่ที่วันนี้เปลือกเริ่มกะเทาะแล้ว ผมเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ไข่ฟองนี้ฟักออกมา เราจะดูแลมันอย่างดี” เอ้กล่าว

[ทีม AVRP/ ภาพถ่าย: เฟซบุ๊ก AVRP racing training - เอ้ วรพงศ์]

สองมือยังคำกำคันเร่ง – อนาคต

นอกจาก ทีม AVRP วงพงษ์ยังเป็นผู้ริเริ่มรายการ Hole Shot On Tour ซึ่งกำลังจะมีการแข่งขันสนาม 2 กันในวันที่ 5 - 6 ตุลาคม พ.ศ.2567 ที่สนาม โคราช เซอร์กิต (สาธรโคราช) ซึ่งเขามองว่ามันคือ “มูลค่าทางการตลาด” ที่จะต่อยอดให้เขามีที่ยืนต่อไปในวงการมอเตอร์สปอร์ต

“ผมยังไม่ได้กําไรมากมายจากรายการนี้ แต่ผมเชื่อว่ามันคือภาพลักษณ์ของเรา มันคือการส่งเสริมให้เรายังไปต่อในเวทีมอเตอร์สปอร์ตได้” วงพงษ์กล่าว 

ก่อนจากกัน เราถามคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่ง คิดว่าจะวางมือจากแฮนด์มอเตอร์ไซค์หรือยัง 

“ผมยังอยากแข่งครับ” เขาตอบสั้นกระชับ

“การแข่งรถเป็นเรื่องเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น ผมยังคิดถึงบรรยากาศตอนคัดเลือก คิดถึงบรรยากาศที่จุดสตาร์ท ผมยังกระหายชัยชนะ อยากให้ถึงสนามต่อไปเร็วๆ แต่คงไม่ได้แข่งจริงจัง 100% แล้วล่ะ” 

 

สัมภาษณ์: ภูมิสิริ ทองทรัพย์

ภาพถ่าย: ณปกรณ์ ชื่นตา

ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข


 

related