.. เป็นกังวลว่ามันจะตาย เฝ้าคอยเอาใจทุกอย่างแต่สุดท้ายชาวนาผู้ชายใจดี ด้วยความที่เขาไว้ใจ น่าเสียดายกลับต้องตายด้วยพิษงูเห่า
เชื่อว่าภาพงูเห่าในหัวใครหลายคนน่าจะตรงกับเนื้อเพลง ชาวนากับงูเห่า — Fly ที่มียอดชมในยูทูป 65 ล้านครั้ง (25 ส.ค. พ.ศ. 2567) หรือไม่ก็นิทานอีสปเรื่องชื่อคล้ายกันนี้ งูเห่าในความคิดใครหลายคนจึงดูอันตราย เชื่อใจไม่ได้ ควรหลีกให้ห่างไกล หรือร้ายกว่านั้นก็ชิงจัดการมันก่อนด้วยสิ่งของข้างกาย
ถึงแม้สังคมไทยจะมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีนักกับงูเห่า แต่สำหรับ ทัช – กัญจนทัศน์ ง่านวิสุทธิพันธ์ เจ้าของฟาร์มงูเห่าสวยงาม และติ๊กต๊อกเกอร์แอคเคาท์ siamensisstudio งอแง้วสวบมือ งูเห่าสำหรับเขาไม่ต่างจากสัตว์น่ารักตัวนึงที่ “หน้าแบ๊วและตาแป๋ว” จุดเริ่มต้นจากความชอบที่แตกต่าง ทำให้ทัชลงลึกในงูเห่าเรื่อยๆ ก่อนพบว่าทั้งในไทยและต่างประเทศมีคนบางกลุ่มที่ซื้อขายงูเห่าสวยงามกันอยู่
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว เราชวนไปสำรวจตลาดงูเห่าในประเทศไทยและต่างประเทศว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน พร้อมชวนทำความเข้าใจธรรมชาติของงูเห่า ที่แท้จริงแล้ว ไม่ได้ดุร้ายและควร ‘ฆ่า’ อย่างที่หลายคนอาจเคยเผลอคิด
*การเลี้ยงและซื้อขายงูเห่าไม่ผิดตามกฎหมายในประเทศไทย โดยตามกฎกระทรวงกำหนดสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทงูไว้ทั้งหมด 14 ชนิด เช่น งูองจงอาง, งูแสงอาทิตย์, งูเหลือม, งูหลาม เป็นต้น
เสน่ห์เห่าไทย
ในบ้านทาวน์เฮาส์แห่งหนึ่งย่านชานเมือง ทัชนั่งขัดสมาธิอยู่บนพื้น ห่างออกไปไม่ถึง 1 เมตรมีงูเห่าสีน้ำตาลปนดำกำลังชูคอส่งเสียงขู่ฟ่อดังเป็นระยะ เขาหยอกล้อมันโดยการจับตามลำตัว ส่วนมันก็ตอบโต้ด้วยการพุ่งกัดซ้ายทีนึง ขวาทีนึง เพียงแต่ดูแล้วไม่ใช่การหยอกล้อเช่นเดียวกับเขา
“อุปนิสัยไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ มันเป็นความสัมพันธ์แบบเรารักเขา แต่เขาอยากฆ่าเรา” ทัชพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และงูเลี้ยง ก่อนหัวเราะ
ตัวทัชเองยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยถูกงูเห่ากัด โดยเขาเล่าประสบการณ์ว่า เมื่อโดนกัดก็รีบล้างแผลแล้วเดินทางไปโรงพยาบาลในทันที ระหว่างทางเขารู้สึกง่วงซึมก่อนเริ่มไม่ได้สติและพูดจาไม่รู้เรื่อง อันเป็นอาการของพิษงูเห่าที่ส่งผลต่อระบบประสาท เมื่อถึงโรงพยาบาล หมอจึงให้เขาใส่เครื่องช่วยหายใจ แล้วให้เซรุ่ม ทัชนอนดูอาการที่โรงพยาบาล 2 วันก็กลับบ้านมาเลี้ยงงูเห่าต่อ
ทัชเล่าว่าโดยทั่วไปงูมีนิสัยกลัวมนุษย์ (ยกเว้นบางชนิด เช่น งูจงอางที่มีนิสัยก้าวร้าว) และจะเลือกใช้การกัดเป็นทางเลือกสุดท้ายในการปกป้องตัวเอง และสำหรับงูเห่า เมื่อรู้สึกถูกคุกคามมันจะชูคอขึ้น แผ่แม่เบี้ย และส่งเสียงขู่เพื่อไล่ให้ผู้คุกคามจากไป แต่มีบางครั้งเช่นกันที่ไม่มีการแผ่แม่เบี้ย และกัดในทันที
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า งูเห่าโดยทั่วไปสายตาไม่ดี แต่จะใช้วิธีการจับความร้อนจากการเคลื่อนไหว ดังนั้น ถ้าหากใครที่พบเจองูเห่าให้ทำตัวให้นิ่งที่สุด ก่อนค่อยๆ เดินถอยหลังห่างออกจากงู
ทุกวันนี้ ทัชทำฟาร์มงูเล็กๆ ขายให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยเขาขายงูหลายประเภทตั้งแต่ไม่มีพิษเช่นงูบอลไพธอน จนถึงงูมีพิษอย่างงูเห่า สำหรับงูเห่าก่อนที่เขาจะขายตัวใดตัวหนึ่ง เขาต้องฝึกฝนงูเห่าตัวนั้นให้คุ้นเคยกับคนเสียก่อน รวมถึงมีการคัดเลือกคนที่ซื้อ โดยมีกรอบคร่าวๆ
ราคางูเห่าที่เขาขายมีตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงหมื่นบาท โดยราคาของงูขึ้นอยู่ความสวยงามของสีสัน ลวดลาย และขนาดโดยยิ่งมีความใหญ่โตยิ่งขายได้ในราคาที่สูง โดยข้อมูลจากสถานเสาวภาชี้ว่างูเห่ามีความยาวเฉลี่ย 1 - 1.8 ม. และบางตัวอาจยาวถึง 2 เมตร
ทัชยอมรับว่าตลาดการเลี้ยงงูเห่าในไทยยังไม่ถือว่าโตมากนัก ผิดกับต่างประเทศ ที่มีการซื้อขายงูเห่าไทยกันเป็นเรื่องปกติ รวมถึงมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อความสวยงาม ซึ่งเขามองว่าน่าเสียดาย เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีถิ่นกำเนิดหลักอยู่ในประเทศไทย
เห่าไทยดังไกลถึงต่างแดน
จากการสืบค้นข้อมูลของ Spring News ด้วยคีย์เวิร์ด "Cobra" และ "Naja kaouthia" พบว่าในเว็บไซต์ซื้อขายสัตว์เลื้อยคลานอย่าง undergroundreptiles มีการขายงูเห่าพ่นพิษสีเผือกในราคาสูงถึง 999.99 ดอลลาร์ (ประมาณ 34,000 บาท) และ 1,199 ดอลลาร์ (40,700 บาท) และยังพบเห็นการซื้อขายงูเห่าไทยในเว็บไซต์อื่น เช่น undergroundreptileshub, terraristik หรือ sunsetreptiles
นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังมีการซื้อขายงูจงอาง (King Cobra) กันอย่างแพร่หลาย ในราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 300 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การซื้อขายและเลี้ยงงูจงอางในประเทศไทยผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า
ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนบนโลกออกไลน์เท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าในร้านขายสัตว์จะมีงูเห่าไทยวางขายอยู่อีกจำนวนมาก สะท้อนว่าการซื้อขายงูพิษที่พบในไทยค่อนข้างได้รับความนิยมในต่างประเทศ และมีตลาดเฉพาะกลุ่มที่รองรับงูสายพันธุ์เหล่านี้
คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ ต่างประเทศมีขั้นตอนอย่างไรในการดูแลไม่ให้งูมีพิษเหล่านี้ส่งผลต่อส่วนอื่นของสังคม..
เทียบกฎหมายไทย - ต่างประเทศ
ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ไม่ได้ห้ามเลี้ยงสัตว์มีพิษ เพียงแต่พวกเขามีกฎหมายที่เรียกว่า Dangerous Wild Animal Act 1976 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ป่าที่มีความอันตราย รวมถึงงูเห่า จำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากภาครัฐ โดยภาครัฐจะส่งผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวแพทย์เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้อื่น รวมถึงประเมินทักษะและความรู้ของผู้เลี้ยง
ทางด้านสหรัฐฯ กฎหมายแต่ละรัฐมีความแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่อนุญาตให้สามารถเลี้ยงสัตว์ป่ารวมถึงงูเห่าได้ เพียงแต่ต้องมีการขออนุญาตจากภาครัฐก่อนเช่นกัน
ในประเทศไทย การเลี้ยงงูไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากภาครัฐ ยกเว้นงูที่ถูกระบุไว้ตามกฎกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 14 ชนิดที่กำหนดไว้เป็นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เช่น งูจงอาง, งูเหลือม, งูหลาม ซึ่งไม่รวมถึงงูเห่า
หรือสรุปได้ว่าการเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์งูเห่าทำได้ตามกฎหมาย แต่ในอีกทางหนึ่ง กฎหมายไทยในปัจจุบันก็ยังถือว่าอ่อนแอเมื่อและมีช่องโหว่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
มนุษย์และงูจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
ในฤดูฝนเช่นนี้ หลายคนน่าจะเห็นข่าวหรือโพสต์จากเพื่อนๆ ที่เล่าให้ฟังว่ามีงูเข้ามาในบ้านหรือที่อยู่อาศัยของมนุษย์อยู่เรื่อยๆ
ในฐานะคนเลี้ยงงูและทำคอนเทนท์เกี่ยวกับงู ทัชอยากสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจว่างูไม่ได้มีพฤติกรรมที่มุ่งทำร้ายมนุษย์เสมอไป และหากเป็นไปได้ เราเองก็ไม่ควรทำร้ายงูเช่นกัน
“ผมไม่ได้บอกว่าให้ลดการ์ดตัวเองเวลางูเจอหมูเข้าบ้านนะ แต่ถ้าคุณมีความสามารถพอที่จะจับเค้าใส่ขวดน้ําได้ คุณจะตีงูทําไม” ทัชแสดงความเห็น “สมมติถ้าคุณเอางูไปบริจาคสถานเสาวภาดีกว่าไหม หนึ่งได้เอาพิษงูไปทำเซรุ่ม สองน้องได้มีชีวิตอยู่ต่อไป ดีกว่าไหม” ทัชกล่าว
ทัชในฐานะเจ้าของฟาร์มงูและคนทำคอนเทนท์เกี่ยวกับงูลงบนโลกออนไลน์อยากรณรงค์ให้ทุกคนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับงู อย่างน้อยใน 3 ข้อ
ชนิดไหนมีลักษณะอย่างไร ชนิดไหนมีพิษและชนิดไหนไม่มี ทัชแนะนำว่างูที่คนไทยควรรู้จักเบื้องต้นมีประมาณ 3 ชนิดคือ งูเห่า, งูทางมะพร้าว และงูสิง
ยกตัวอย่าง งูเห่ามักจะแผ่แม่เบี้ยเพื่อเป็นการข่มขู่เท่านั้น ไม่ใช่ตั้งใจทำร้ายเสมอไป ดังนั้น เราควรเรียนรู้เพื่อเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าวให้ถูกต้อง พร้อมกันนั้น ทัชเสริมว่าเราควรเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เช่น วิธีการถอยห่างจากงู
ถึงแม้คนไทยและงูจะพบเจอกันเป็นปกติ แต่ต้องให้เครดิตแก่โครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทย เพราะข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวจากการถูกงูพิษและสัตว์มีพิษอื่นกัดราว 12,000 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตจากการถูกงูกัดเพียง 26 ราย หรือตกอยู่ที่ประมาณ 2 : 1,000 รายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาระหว่างคนกับงูมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Emory พบว่า ทุกอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น 1 องศามีโอกาสทำให้มนุษย์ถูกงูกัดเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากฤดูหนาว อันเป็นฤดูจำศีลมีระยะเวลาสั้นลง บวกกับการขยายตัวของเมืองที่กินพื้นที่อยู่อาศัยของงู
จึงไม่ผิดที่จะสรุปว่ามนุษย์และงูจะมีชีวิตใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ และคำถามว่าคนกับงูจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะกลายเป็นคำถามที่สำคัญมากขึ้น
“อยากให้ลองเปิดใจก่อนว่างูเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเรามาก เราไม่ควรมองว่าเขาเป็นภัยอันตรายใกล้ตัวเราเสมอไป แต่ควรศึกษาว่าจะรับมือเขายังไงมากกว่าทุบเขาให้ตาย” ทัชทิ้งท้าย