Ragnarok, Maple Story, Street Fighter, Need for Speed: Underground เชื่อว่าสมัยอายุ 10 ขวบแทบทุกคนเคยเป็น ‘ผู้เล่น’ เกมเหล่านี้มาทั้งสิ้น แต่ในวัยเดียวกัน จิณณ์ ยศสุนทร กลายเป็น ‘ผู้สร้าง’ เกมไปเรียบร้อยแล้ว
ในมุมหนึ่ง จิณณ์ ไม่ใช่เด็กธรรมดา เขาเขียนโปรแกรมตั้งแต่ตัวยังไม่ถึงเอวผู้ใหญ่ จนในวัย 10 ขวบเขากวาดรางวัลจากการแข่งขันเขียนโปรแกรมมาประดับบ้านนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ เขายังเป็นติวเตอร์ตัวจิ๋วคอยแบ่งปันความรู้พื้นฐานด้านการเขียนโค้ดทางเพจ ‘Jin Kode Code’ แถมยังได้รับเชิญจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ให้เป็นวิทยากรสอนออนไลน์
แต่ในอีกมุมหนึ่ง จิณณ์ ก็เป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่งที่จะเติบโตและค้นพบตัวเองไม่ได้เลย หากขาดแรงสนับสนุนจาก พ่อจั๋ง – อนุตร ยศสุนทร พ่อและแอดมินเพจ ‘Jinm Kode Code’ ที่คอยอัพเดตชีวิตน้องจิณณ์ พร้อมกับเป็นโค้ชและครูคนสำคัญให้กับลูก
เพราะความสำเร็จของเด็กคนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวคนเดียว Spring News เลยอาสาพามารู้จักสองพ่อลูก จิณณ์ – จั๋ง พวกเขาคือใคร ทำอะไรบ้าง และถอดแนวคิดการเลี้ยงลูกของพ่อจั๋งว่าทำอย่างไร ลูกถึงเก่งจนสร้างเกมได้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ!
‘น้องจิณณ์’ นักสร้างเกม
แรกเริ่ม จิณณ์ก็เหมือนเด็กทั่วไป ที่ครอบครัวลองผลักดันให้เล่นกีฬายอดนิยมในหมู่เด็กผู้ชายอย่างฟุตบอล แต่เมื่อพบว่าจิณณ์ไม่ชอบในทางนั้น พ่อจั๋ง ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) จึงฟื้นฟูวิชาโค้ดดิ้งและทดลองนำวิชาเก่ามาสอนจิณณ์.. ผลปรากฎว่าเขาทำมันได้ดี ที่สำคัญยังสนุกกับมันมากกว่าที่คิด
“ครั้งแรกที่ผมเริ่มหัดเขียนโปรแกรมคือตอน 4-5 ชวบ พ่อเริ่มจากให้ผมทำอะไรง่ายๆ ก่อน เอาบล็อกมาต่อ 2 อันจบ พอ 6 ขวบผมก็เริ่มสนใจเขียนโค้ด แล้วพออายุประมาณ 7-8 ขวบก็เริ่มเขียนโค้ดใน Roblox แล้วก็ไปแข่ง” จิณณ์เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มกว้าง
ความสำเร็จในวงการโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์ของจิณณ์มีมากมาย อาทิ
ข้างต้นเป็นแค่บางส่วน เพราะยังมีอีกเหรียญรางวัลอีกมากที่ซ่อนไว้อยู่ใต้โต๊ะและตั้งอยู่ในบ้าน ชนิดที่ว่านับได้ไม่หมด
“ผมไปแข่งมามากมาย มีครั้งหนึ่งผมไปแข่ง Roblox มันแข่งเป็นทีมละ 3 คน คนอื่นมีทีมหมด แต่เขาบอกผมเก่งเกินให้อยู่คนเดียว และผมชนะด้วย“ จิณณ์แอบโม้นิดๆ กับทีมงาน ”อย่างอื่นผมก็มีแข่ง เช่น คณิตศาสตร์ แข่งทำโจทย์มีทั้งความเร็วและความถูกต้อง“
แต่เด็กก็ยังเป็นเด็ก จิณณ์ยอมรับว่าบางครั้งตัวเองงอแงขี้เกียจไปแข่งเหมือนกัน “พ่อหาแมตช์แข่งมาให้บ่อย จนผมรู้สึกขี้เกียจไป บางครั้งไม่ไปด้วยซ้ำ ผมก็บอกพ่อตรงๆ เลยว่าไม่ไปแข่งได้ไหม ซึ่งเขาก็โอเค”
ถึงแม้จะกวาดรางวัลมามากมาย แต่สำหรับเด็กอายุ 10 ขวบ จิณณ์ยังไม่มีความฝันอยากทำงานกับบริษัทระดับโลกที่ไหน และ “ความสนุก” เป็นแรงผลักดันเดียวที่ทำให้จิณณ์ยังคงเขียนโค้ดอย่างต่อเนื่อง
“ชอบเขียนโปรแกรมรู้สึกว่าสนุก รู้สึกว่าสนุกก็เลยทำ” จิณณ์เล่า
‘จารย์จิณณ์’ ครูโค้ดดิ้งวัยเยาว์
“เร่เข้ามา ! พร้อมแล้ว ! มาแล้ว ! กับหลักสูตร “Game Making For Kids - Scratch
มาเริ่มสร้างเกมง่าย ๆ ด้วย ด้วยโปรแกรม Scratch กันเถอะ !!
ข้อความข้างต้นเป็นข้อความจากเพจ Depa Game Online Academy หลักสูตรจาก Depa ที่เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจอยากสร้างเกมสามารถสมัครเรียนออนไลน์ พร้อมใบรับรอง ซึ่งสองวิทยากรชื่อคุ้นๆ นั่นก็คือ จิณณ์และพ่อจั๋งนั่นเอง
“DEPA เขาให้ผมสอน 20 ชั่วโมง ก็ได้เงินมา 120,000 บาท แต่ เติมเกมหมดไปแล้ว (หัวเราะ) และที่เหลือพ่อเอาไปเก็บไว้แล้ว” จิณณ์พูดแล้วก็หัวเราะ
การเปิดคอร์สออนไลน์กับ Depa เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาท ‘อาจารย์จิณณ์’ เท่านั้น เพราะในเพจ ‘Jin Kode Code’ พ่อจั๋งยังคอยอัพเดตคลิปที่จิณณ์ให้ความรู้ออนไลน์ในการเขียนโค้ดเบื้องต้น หรือขณะที่สอนเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเขียนโค้ดอยู่เสมอๆ
“การสอนมันคือการทบทวนตัวเอง เพราะการจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เราต้องเข้าใจสิ่งนั้นอย่างจริงจัง ผมมองว่านอกจากได้รายได้ ยังเป็นการทบทวนให้เขาเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้งด้วย” พ่อจั๋งเล่า
พ่อจั๋งเสริมว่าจิณณ์มีความรู้ที่ถูกต้อง แต่ยังขาดทักษะการสอน บางครั้งยังไม่เข้าใจว่าผู้เรียนตามไม่ทัน ไม่ได้เข้าใจเรื่องโค้ดเร็วเท่ากับเขา ซึ่งเป็นทักษะการสอนที่ต้องฝึกกันต่อไป
ถ้าใครสนใจอยากรู้เรื่องโปรแกรมมิ่งเบื้องต้น ลองเปิดเฟซบุ๊ก ‘Jin Kode Code’ และจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงเรียกว่า ’อาจารย์จิณณ์‘
‘พ่อจั๋ง’ ยอดนักผลัก (ดัน) ลูก
ต้องยอมรับว่าความเก่งกาจของจิณณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีพ่อจั๋งที่คอยให้เวลากับจิณณ์อย่างสม่ำเสมอ คล้ายต้นหนที่คอยคุมหางเสือคอยนำเรือลำน้อยให้เร่งหรือชะลอเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
และจากการพูดคุย เราแกะเทคนิคในการเลี้ยงลูกของพ่อจั๋งออกมาได้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
ข้อแรก ให้เวลากับลูก พ่อจั๋งเล่าว่าทุกวันนี้ เขาให้เวลากับจิณณ์ราว 40% ของชีวิต โดยเป็นทั้งครูคอยสอนบทเรียนใหม่ๆ โค้ชให้คำแนะนำเรื่องการแข่งขัน พ่อผู้เป็นห่วงเป็นใย และเพื่อนที่คอยสร้างความบันเทิง
ถึงแม้อีก 60% ที่เหลือ พ่อจั๋งเล่าว่าเขาใช้เวลากับการหาเงิน แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีจิณณ์อยู่ในนั้น เพราะพ่อจั๋งยังเปิดสอนเขียนโค้ดออนไลน์ให้กับเด็กๆ ซึ่งเขาเชื่อว่าวันหนึ่ง อาจกลายเป็นเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างจิณณ์ในอนาคต
"จินเริ่มเรียนรู้เองได้แล้ว เราก็ลองดันเด็กอีกกลุ่มเผื่อมาร่วมทีมเดียวกัน ให้มีเพื่อนที่ไปกับเขาได้ด้วยในอนาคต เพราะไปตัวคนเดียวคงลำบาก" พ่อจั๋งเล่าถึงการสอน
ข้อสอง ผลักลิมิตแต่ไม่ตึงเกินไป หลังจากที่พบว่าจิณณ์ชอบในเรื่องของคอมพิวเตอร์ ตัวพ่อจั๋งได้เริ่มรื้อฟื้นความรู้ด้านที่เคยร่ำเรียนมาพร้อมกับค้นคว้าข้อมูลจากโลกออนไลน์ ก่อนที่จะทดลองผลักจิณณ์ไปข้างหน้าทีละนิดผ่านการส่งแข่งขัน
เขาเล่าว่าส่งจิณณ์แข่งครั้งแรกตอน ป.2 และถึงแม้จะไม่ได้รางวัล แต่ผลการแข่งขันก็ออกมาน่าพึงพอใจ เขาจึงค่อยๆ ออกแรงผลักอีกทีละนิด จนในที่สุด จิณณ์สามารถความแชมป์ระดับประเทศได้ในปีต่อมา
“ให้เขาทำสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ และปรึกษาครูหรือผู้ใหญ่ที่ทำด้านนี้ ซึ่งก็มีคนส่งโจทย์ยากๆ มาลองท้าทายน้อง และรวมถึงพยายามให้เขาไปสอนคนอื่นด้วย เพราะการสอนมันคือการทบทวนตัวเอง และการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เราต้องเข้าใจสิ่งนั้นอย่างจริงจัง“ พ่อจั๋งเล่าแนวคิดของตัวเอง
"อย่างทำเกมส่งแข่ง ผมจะใช้คำว่า ‘ลึก’ ถ้าเด็กธรรมดาทำได้ 2-3 ขั้นให้ตัวละครเดินได้ ผมจะให้เขาคิดให้ลึกกว่านั้น คิดให้มันซับซ้อนกว่าคนอื่นอีกขั้น และพยายามทำให้ได้ พยายามผลักลิมิตให้มากกว่าคนอื่น“ พ่อจั๋งกล่าวต่อ
พ่อจั๋งยอมรับว่าบางครั้งการผลักแบบนี้ไม่ต่างจากการไต่เส้น บางครั้งมีเกินลิมิต สิ่งสำคัญจึงคือการพูดคุยและคอยเฝ้าสังเกตุอารมณ์ความรู้สึกของเด็กอย่างสม่ำเสมอ
“มีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าดันเขาเกินไป จนเขาน้ำตาซึมหรือเริ่มมีอาการ เราก็ต้องเบรค แต่ไม่บ่อยมาก” พ่อจั๋งเล่า
ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างพ่อจั๋งและจิณณ์คือ ในวันธรรมดา จิณณ์จะมีเวลาเล่นเกมคลายเครียดราว 1 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือต้องทำการบ้านและทบทวนการเขียนโค้ด แต่ในวันหยุด ถ้าไม่มีการแข่งขัน จะไม่มีการกำหนดตารางตายตัว ปล่อยให้ลูกชายฟรีไสตล์
ข้อสาม โรงเรียนไม่ใช่ทุกอย่าง จิณณ์เล่าว่าตัวเองต้องขาดเรียนอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าด้วยไปแข่งขันบางรายการที่จัดแข่งในวันธรรมดา หรือต้องมาให้สัมภาษณ์กับสื่อเช่นเรานี้ อย่างไรก็ตาม ในมุมของพ่อจั๋งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ เพราะมันสอนและให้ประสบการณ์จิณณ์มากกกว่าการนั่งเรียนอยู่ในห้องมากนัก
“เราคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีของลูก ที่ได้เจอคนมาถาม ได้มาเห็นพี่ๆ ทำงาน ได้มีงานสอนกับโรงเรียนอื่น หรือไปงานแข่งที่มหาวิทยาลัยจัด มันเป็นประสบการณ์ที่เด็กไม่ค่อยเจอหรอก ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่าไปโรงเรียนวันนั้นแน่นอน” พ่อจั๋งแสดงความเห็น
เมื่อเห็นว่าพ่อจั๋งทุ่มเทให้กับจิณณ์มากและลูกชายก็ทำได้ตามที่คาดหวังไม่น้อย เราจึงถามพ่อจั๋งตรงๆ ว่า ภูมิใจในตัวจิณณ์มากแค่ไหน?
“ถ้าเรื่องความเก่ง รู้สึกดีใจเฉยๆ แต่เรื่องที่เขาสู้ไปทำอะไรยากๆ ด้วยกันได้ อันนี้ภูมิใจครับ” พ่อจั๋งยิ้ม
เกมไม่ใช่ผู้ร้าย
หลายต่อหลายครั้ง เกมมักตกเป็นจำเลยในการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง ล่าสุดคือเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสันนิษฐานในการก่อเหตุว่ามาจาก การป่วยจิตเวช แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมของผู้ก่อเหตุ และการเล่นเกม
ในฐานะพ่อของนักสร้างเกมวัยเยาว์ พ่อจั๋งไม่ปฏิเสธว่าเกมอาจจะมีส่วนส่งผลให้เด็กมีอารมณ์ที่ร้อนแรงขึ้น เพราะบางครั้งตัวเขาเองก็เคยหัวเสียจากการเล่นเกมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าตัวเกมไม่ใช่สาเหตุเพียงข้อเดียวเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ แวดล้อม ไม่ว่า กลุ่มคนที่เล่นด้วยกันหรือการดูแลจากผู้ปกครอง
“จะบอกว่าไม่มีส่วนเลยคงพูดไม่ได้ แต่ถ้าจะโทษเกมหมดเลยคงไม่ถูกต้อง” พ่อจั๋งแสดงความเห็น “ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของพ่อแม่ว่าดูแลใกล้ชิดพอไหม ถ้าลูกอยู่ในห้องแล้วได้ยินเสียงตะโกนหัวร้อน พ่อแม่ต้องแอคชั่น อย่าปล่อย” พ่อจั๋งแสดงความเห็น
ทั้งนี้ ยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าเกมมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของเด็กโดยตรง โดย ดร. แซนดรา แอล. ชัลล์แมน ประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกันเคยออกแถลงการณ์มีใจความว่า ความรุนแรงมีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น ประวัติการเผชิญความรุนแรง หรือกฎหมายครอบครองอาวุธ และการกล่าวโทษว่าเกมเป็นสาเหตุของความรุนแรงเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่การสรุปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก คริสโตเฟอร์ เฟอร์กูสัน (Christopher Ferguson) อาจารย์คณะจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสเต็ตสัน สหรัฐอเมริกาที่พบว่า การเล่นเกมช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงได้ เพราะการเล่นเกมเป็นระบายความไม่พอใจลงในโลกเสมือนนั่นเอง
การศึกษาไทยน่าห่วง แต่เรื่องเทคโนโลยีน่าห่วงที่สุด
ในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมอย่างเต็มที่ ผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีงบประมาณให้กับการพัฒนาเกม 374 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 5,200 ล้านบาท
ในมุมของพ่อจั๋ง เขามองว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเกมมากขึ้น โดยเฉพาะ Depa ที่มีการจัดงานเกี่ยวกับเกมอยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เขาอยากให้มีการสนับสนุนในระดับประถมให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบัน การแข่งขันหรืออบรมส่วนใหญ่จัดขึ้นสำหรับผู้ที่อยู่ในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย
“ผมว่ามันดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าเทียบกับประเทศอื่น เช่นเวียดนามได้ไหม เพราะอย่างเด็กที่จินรู้จักเขาเป็นเด็กเวียดนามที่อาศัยในต่างจังหวัดนะ บ้านไม่ได้รวย แต่ภาษาอังกฤษดีจึงทำเกมกับจินได้ เด็กเวียดนามมาแรงมาก ไปแข่งทีไรอันดับ 1-2 เวียดนามหมดเลย” พ่อจั๋งแสดงความเห็น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พ่อจั๋งกังวลที่สุดคือ ปัญหาระบบการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาด้านบุคลากรและการจัดคาบเรียน
ในด้านบุคลากร พ่อจั๋งมองว่าครูสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนยังห่างชั้นกับครูสอนพิเศษมาก ทำให้ผู้ปกครองที่อยากให้เด็กค้นพบตัวเองหรือเพิ่มความรู้ด้านการเขียนโค้ด ต้องออกไปเรียนที่โรงเรียนสอนพิเศษมากขึ้น
ในด้านการจัดคาบเรียน พ่อจั๋งมองว่าวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนมีน้อยเกินไป (1 ชั่วโมง/ สัปดาห์) โรงเรียนควรจะเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาเหล่านี้ให้มากขึ้น และลดวิชาที่ไม่จำเป็นลง
โดยข้อเสนอของพ่อจั๋งคือ การจัดการเรียนการสอนตามพื้นที่ ยกตัวอย่าง ถ้าโรงเรียนตั้งอยู่ในต่างจังหวัด การสอนวิชาการงานอาชีพ (ปลูกผัก) หรือลูกเสืออาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่สำหรับเด็กที่อยู่ในเมือง วิชาเหล่านี้ไม่ยึดโยงและเด็กไม่น่าได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต
“ผมอยากให้ชั่วโมงเรียนวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ มันเยอะกว่านี้ ตอนนี้ 1 ชั่วโมง/ สัปดาห์ ขณะที่วิชาอื่น 2-3 ชั่วโมง/ สัปดาห์ มันอาจไม่เหมาะสมกับทิศทางของอนาคตที่จะเกิดขึ้น” พ่อจั๋งแสดงความเห็น
“เด็กในเมืองพอออกจากโรงเรียนก็ไถมือถือแล้ว ควรเพิ่มวิชาอื่นที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันเขาให้มากกว่านี้หรือเปล่า” พ่อจั๋งยกตัวอย่างวิชาลูกเสือ ซึ่งจิณณ์เองก็ตั้งคำถามเสมอว่า เรียนไปทำไม?
ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวีดีโอได้ที่: