svasdssvasds

"ย้ายประเทศ" ทางออกจากไทย สู่ปัญหาใหม่ในต่างแดน

"ย้ายประเทศ" ทางออกจากไทย สู่ปัญหาใหม่ในต่างแดน

เทรนด์ #ย้ายประเทศกันเถอะ เคยสร้างกระแสคนรุ่นใหม่อยากย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศเมื่อปี 2554 เนื่องจากสภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เมื่อย้ายไปแล้วเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะออสเตรเลีย ประเทศที่เหมือนเป็นเป้าหมายของผู้อพยพถิ่นฐาน กลับกลายเป็นฝันร้ายที่บั่นทอนจิตใจ

SHORT CUT

  • "โม" ย้ายประเทศเพื่อตามฝันเป็นนางแบบในออสเตรเลีย แต่กลับพบความจริงที่มันไม่ใช่สวรรค์ของผู้อพยพ
  • คนไทยในออสเตรเลียต้องพบกับปัญหาความเครียด เนื่องจากวัฒนธรรม ค่าครองชีพ และเงื่อนไขการขอวีซ่าที่ยากขึ้น
  • สุดท้าย เธอพบว่เราหนีปัญหาเชิงโครงสร้างไม่พ้น อยู่ประเทศไหนก็ต้องเจอ ดังนั้นกลับมาสู้กับมันที่บ้านเกิดดีกว่า 

เทรนด์ #ย้ายประเทศกันเถอะ เคยสร้างกระแสคนรุ่นใหม่อยากย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศเมื่อปี 2554 เนื่องจากสภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เมื่อย้ายไปแล้วเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะออสเตรเลีย ประเทศที่เหมือนเป็นเป้าหมายของผู้อพยพถิ่นฐาน กลับกลายเป็นฝันร้ายที่บั่นทอนจิตใจ

หากใครยังจำได้ ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินที่สืบทอดมาจากรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 สร้างความไม่พอใจให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้เกิดแคมเปญ #ย้ายประเทศกันเถอะ เมื่อปี 2554 และกลุ่มในเฟซบุ๊กดังกล่าวมีคนสนใจเข้าร่วมกว่าครึ่งล้านในเวลา 2 วัน 

"โม" พนักงานในองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (NGO) คือหนึ่งในคนที่ต้องการย้ายประเทศและต้องการไปตามฝันเป็นนางแบบในประเทศออสเตรเลีย เธอได้วีซ่า Work and Holiday ไปประเทศออสเตรเลียได้สำเร็จในปี 2566 และเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นนางแบบฟรีแลนซ์ที่เมืองเมลเบิร์น ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเป้าหมายของผู้อพยพ แต่ต้องตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2567 

เธอเล่าให้ SPRiNG ฟังถึงประสบการณ์ย้ายประเทศในมุมที่ไม่ได้สวยงามเหมือนที่หลายคนคิด เพราะก่อนไป เธอมีภาพออสเตรเลียว่าเป็นประเทศแห่งโอกาส ใครๆ ก็สามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้ถ้าขวนขวาย ค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลียสูงที่สุดในโลก สำหรับอาชีพนางแบบได้เงิน 50 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือพันกว่าบาทต่อชั่วโมง แม้จะมีการขนส่งมวลชนที่สะดวกและอากาศดี แต่เมื่อไปอยู่ที่นั่น กลับต้องเจอกับอุปสรรคอื่นๆ ได้แก่ เรื่องวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ที่คนที่โน่นจะมีกำแพงในการพัฒนาความสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นได้แค่คนรู้จัก (Acquaintance) แต่พัฒนาเป็นเพื่อนหรือแฟนได้ยาก โดยเฉพาะคนที่ต้องการแต่งงาน เพราะฝ่ายคนออสเตรเลียต้องออกค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการทำวีซ่าด้วย ดังนั้น เธอจึงไม่แนะนำให้หวังไปแต่งงานเพื่อให้ได้เป็นพลเมืองออสเตรเลีย หรือถ้าจะหวังก็ต้องดวงดีจริงๆ

 

นอกจากนี้ค่าครองชีพก็สูง ราคาอาหารอย่างต่ำมื้อละ 400 บาท ค่าเช่าห้องขนาดเล็กเดือนละ 38,000 บาท และต้องแชร์ห้องพักกับรูมเมทคนอื่น เพราะการจะเช่าบ้านเองได้ต้องมีระยะเวลาในวีซ่าอย่างน้อย 1 ปี และต้องมีเงินสำรองในบัญชีครอบคลุมค่าเช่าบ้านตามระยะเวลาในสัญญา ดังนั้นถ้าเราเข้ากับรูมเมทไม่ได้ก้จะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ 

\"ย้ายประเทศ\" ทางออกจากไทย สู่ปัญหาใหม่ในต่างแดน

ขณะเดียวกันการหางานเป็นนางแบบในออสเตรเลียก็ยาก เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นมีขนาดไม่ใหญ่ การจะเข้าไปเป็นนางแบบก็มีต้นทุนสูง ทั้งการจ่ายเงินถ่ายรูปทำ Portfolio ราคากว่า 80,000 บาท จะเดินแบบบนรันเวย์ก็ต้องจ่ายเงินกว่า 6,000 บาทให้ผู้จัดงาน เรียกได้ว่าอาชีพนางแบบก็ไม่สามารถเป็นงานประจำที่เลี้ยงชีพได้ ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงทำให้คนส่วนใหญ่ต้องมีงานมากกว่า 2 งานถึงจะอยู่รอด และสำหรับผู้อพยพ การได้งานประจำเป็นเรื่องยาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานแบบ Part-time และ Casual ที่นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้ทันที 

ยิ่งไปกว่านั้น การต่อวีซ่า ขอสถานะผู้พำนักถาวร และการขอสถานะพลเมืองก็มีเงื่อนไขที่ยากขึ้นกว่าอดีต เพราะพลเมืองในออสเตรเลียที่มากขึ้นจนทำให้ค่าครองชีพขึ้นสูง รัฐบาลจึงเพิ่มเงื่อนไขมากขึ้นเช่น อายุเกิน 35 ปีไม่สามารถต่อวีซ่าทำงานได้ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความเครียดสำหรับคนที่ต้องการย้ายประเทศมาเป็นพลเมืองในออสเตรเลีย ขณะเดียวกันการเข้าถึงจิตแพทย์ก็ใช้เวลานาน บางเคสต้องรอเป็นเดือนกว่าจะได้พบจิตแพทย์ ซึ่งหลายเคสก็ไม่ทันต่อการรักษา โมเล่าว่าเธอต้องเจอกับกรณีคนไทยที่ย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียฆ่าตัวตายหลายเคส และเสิร์ชหาข่าวก็ไม่ค่อยเจอ

"คนที่เจอหลายคนแลกทุกอย่าง กู้หนี้ยืมสินจากไทย ขายทุกอย่าง เพราะคิดว่าจะไปได้ดี แต่ผลสุดท้ายไม่เป็นแบบนั้น ไม่เหลืออะไรที่ไทยเลย เขาก็ต้องเลือกทางที่แบบ..." โม กล่าวด้วยแววตาเศร้า

โม กล่าวว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศน่าเที่ยว แต่ตอนนี้ถ้าให้ไปอยู่ใช้ชีวิต คงไม่เอา เพราะภาวะความเครียดเคยทำให้หลายคนอยากจบชีวิตตัวเองที่นั่น รวมทั้งตัวเธอด้วย ดังนั้นถ้าใครที่อยากย้ายประเทศ เธอแนะนำว่าควรไปด้วยวีซ่าทำงานที่มีงานประจำรองรับ หรือวีซ่านักเรียน จะทำให้ความเครียดในการใช้ชีวิตและการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดน้อยกว่า

"ออสเตรเลีย ถ้าจะอยู่ให้ได้ คุณต้องไม่ใช่แค่ Mentally Stable แต่คุณต้อง Mentally Strong" โม กล่าว

อย่างไรก็ตาม เธอขอบคุณประสบการณ์ที่ได้ไปตามความฝันในออสเตรเลีย และสิ่งหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้เมื่อมองกลับไปคือ ทุกที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และในเมื่อเราหนีปัญหาพวกนี้ไม่พ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันมันก็เติมไฟให้เธออยากกลับมาทำงาน NGO เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยมากขึ้น โดยไม่หนีปัญหา เพราะสุดท้าย "คุณก็จะหนีมันไม่พ้น" สุดท้ายเธออยากบอกกับหลายคนที่กำลังหมดทางออกในการอยู่รอดในต่างแดนว่า "อย่าอายที่จะกลับบ้าน คุณไม่ได้ยอมแพ้อะไร แค่คุณกล้าก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปอยู่คนเดียว คุณก็ชนะตัวเองแล้ว"

ชมเพิ่มเติม

related