ข้าวเก่าที่เก็บมานานร่วม 10 ปี จะเป็นยังไง ยังสามารถทานได้ไหม และที่สำคัญมันส่งผลเสียอะไรต่อสุขภาพหรือเปล่า ?
จากกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ โกดังข้าวในโรงการรับจำนำข้าว ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งยืนยันว่าข้าวทั้งหมดถูกเก็บรักษาอย่างดี ยังสามารถรับประทานได้ ถึงแม้จะเก็บมาตั้งแต่ปี 56/57 พร้อมทั้งบอกว่าควรนำมาระบายออก เพื่อรักษาประโยชน์ให้กับรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ตามปกติแล้วข้าวหอมมะลิจะเก็บไว้ใน 2 รูปแบบคือ เก็บเป็นข้าวเปลือกก็อาจจะเก็บได้นานหน่อยกับการเก็บเป็นข้าวสาร ก็เก็บได้ประมาณ 3-4 ปี และข้าวเก่าจะมีราคาที่สูงกว่าข้าวใหม่ด้วย การเก็บข้าวที่ดี จะต้องรักษาระดับความชื้นให้ได้มาตรฐาน ต้องมีการรมควันกันมอดทุกๆ 4-6 เดือน ซึ่งถ้าทำถูกต้องจะสามารถเก็บข้าวได้นานถึง 4-5 ปีเลยทีเดียว แต่ลักษณะของข้าวก็จะเปลี่ยนไปตามระยะเวลาที่เก็บ ทั้งเรื่องของสีที่จะมีความเหลืองมากขึ้น หรือเมื่อนำไปหุงแล้ว ความนุ่มก็จะเริ่มหายไป รวมถึงความหอมด้วย และยิ่งถ้าเป็นข้าวที่เก็บมานานนับ 10 ปี ถึงแม้จะเก็บไว้ดีแค่ไหน คุณภาพก็จะลดลงอย่างปฏิเสธไม่ได้ และอาจมีกลิ่นอับชื้นทำให้เสียอรรถรสการกินข้าวได้
การเก็บรักษาข้าวในโครงการจำนำข้าวนั้น มีการเก็บรักษาดีหรือเปล่า ควบคุมความชื้นได้หรือไม่ รวมถึงมีการรมควันเพื่อป้องกันพวกมอดด้วยหรือเปล่า หากมีการเก็บรักษาที่ไม่ดีพอ สิ่งที่จะตามมาก็อาจเป็นพวกเชื้อรา อฟลาท็อกซินซึ่งสารตัวนี้น่ากลัวเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง นอกเหนือจากเชื้อราและ อะฟลาท็อกซินแล้ว อาจต้องคำนึงถึงสารเคมีอื่นๆที่ตกค้างจากการรมควันที่ทำต่อเนื่องมา 10 ปีด้วย
ถ้าจะเอาให้ชัวร์ก็อาจต้องมีการ สุ่มตรวจและการสุ่มตรวจนั้นต้องสุ่มตรวจข้าวจากทั้งกอง ไม่ใช่แค่ข้าวหน้ากองแล้วสรุปว่าข้าวปลอดภัย แต่รวมถึง ข้าวหลังกอง ข้าวกลางกอง ข้าวก้นกอง ด้วย เพราะข้าวแต่ละส่วนก็อาจจะมีลักษณะที่ต่างกัน ปกติแล้วชาวบ้านเขาจะมีการเก็บข้าวในยุ้งฉางประมาณ 1 ปี แต่โรงสีอาจเก็บข้าวในรูปแบบของข้าวเปลือกได้นานถึง 3-5 ปี และถ้ามีความจำเป็นจริงๆที่จะเก็บข้าวไว้นานถึง 10 ปี ก็อาจจะต้องเก็บข้าวไว้ในรูปแบบ สุญญากาศ นั้นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง