จีนมีพื้นที่ดินเค็ม และ ดินด่าง มากที่สุดติดอันดับโลก แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้ต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม ลมแรง และดินที่กลายเป็นทราย โดยใช้วิธีแก้ปัญหาดิน และ พัฒนาพื้นที่ให้สามารถเพาะปลูกข้าว จนสามารถต่อสู้กับความยากจนได้
ท้องนาเขียวชะอุ่ม บนผืนดิน เกือบ 2 แสนไร่ ในมณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แต่เดิม ที่ดินผืนนี้เคยเป็นพื้นที่ดินเค็ม และ ด่าง ปัจจุบันกลายเป็นฐานปลูกธัญพืชโภคภัณฑ์ระดับชาติ อยู่ในอำเภอ เจิ้นไล่ มณฑลจี๋หลิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่ดินมากกว่า 460,000 หมู่ หรือ ราว 191,667 ไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมดิน สำนักทรัพยากรธรรมชาติเมืองต้าอัน เล่าว่า มีการผสมผสานการพัฒนาที่ดินเข้ากับการอนุรักษ์ และ สร้างแบบอย่างที่ผสมผสานการใช้ที่ดิน น้ำ เทคโนโลยี นโยบาย และ เงินทุนเข้าด้วยกัน
อำเภอเจิ้นไล่ ตั้งอยู่บนหนึ่งในสามพื้นที่ดินเค็ม-ดินด่างแห่งหลักของโลก มีที่ดินทำกินมากกว่าครึ่งเป็นดินเค็ม-ด่าง แต่ที่นี่กลายเป็นอำเภอที่มีการผลิตข้าวมากที่สุดในจี๋หลิน
การพัฒนาเศรษฐกิจของเจิ้นไล่ เผชิญกับข้อจำกัดจากภัยธรรมชาติ ที่นั่นมีทั้งลม ทราย ภัยแล้ง และน้ำท่วม ทำให้ผู้คนท้องถิ่นยากจนมาเป็นเวลานาน อำเภอแห่งนี้จึงจัดทำแนวทางการพัฒนาโดยเลือกใช้พันธุ์ข้าว ทั้ง“ข้าวบรรเทาด่าง ข้าวบรรเทาน้ำท่วม และข้าวเพื่อความมั่งคั่ง” นำมาเพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980
ปัจจุบันเจิ้นไล่ครองอันดับหนึ่งด้านผลผลิตข้าวประจำปีติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ในจี๋หลิน ซึ่งเป็นมณฑลเกษตรกรรมที่สำคัญของจีน โดยนาข้าวที่ถูกยกให้เป็นบึงประดิษฐ์ กำลังเปลี่ยนโฉมผืนดินเค็ม-ด่างและวิถีชีวิตของชาวบ้านไปจากเดิม
สถาบันทรัพยากรการเกษตรและการวางแผนระดับภูมิภาค สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เปิดตัวความร่วมมือเชิงนวัตกรรมการเกษตรระดับชาติเกี่ยวกับการใช้ดินเค็ม
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาเกลือสะสมในดินหนักหน่วงที่สุด โดยหน่วยงานส่วนกลางของจีน ระบุว่าจีน สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดินเค็มที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้เป็นที่ดินทำกินอย่างเหมาะสมและเป็นระบบ พร้อมตั้งเป้าเร่งรัดการสร้างนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ การใช้ประโยชน์จากดินเค็มอย่างครอบคลุม รวมถึงสำรวจศักยภาพการผลิตทางการเกษตรอย่างเต็มที่
รองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน ระบุว่าการปรับปรุงและการใช้ที่ดินเค็มเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร ช่วยเพิ่มผลผลิตธัญพืชในจีนได้อย่างมาก
เรื่องนี้ต้องบอกว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้เสมอ หากรู้จักพัฒนา และ ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม