ฤดูหนาวเริ่มมาเยือนหลายๆ พื้นที่โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ เกิดปรากฏการณ์แผ่นน้ำแข็งไหลยาวในแม่น้ำ บ่งบอกให้รู้ว่าฤดูหนาวมาเยือนแล้ว และ ปรากฏการณ์น้ำแข็งเคลือบเกาะตามกิ่งไม้ เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่หาชมได้ในฤดูหนาว
ปรากฎการณ์แผ่นน้ำแข็งไหลยาวเป็นแพ และ เกล็ดน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นตามริมแม่น้ำ เกิดขึ้นที่แม่น้ำอูซูหลี่ช่วงเมืองหู่หลิน มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เราจะเห็นแผ่นน้ำแข็งไหลเป็นแพยาวบนพื้นผิวแม่น้ำ ดูงดงามแปลกตา และเป็นการส่งสัญญาณของธรรมชาติ ที่บ่งบอกการมาถึงของฤดูหนาว ความงามที่มาพร้อมกับความหนาวเย็นที่กำลังจะมาเยือนในไม่ช้า
ป่าสนที่เคลือบไปด้วยน้ำแข็ง ตามผิวของต้นไม้ทุกต้น เรียกกันว่า ปรากฎการณ์ “อู้ซง” หรือน้ำแข็งเคลือบเกาะตามกิ่งไม้ มาพร้อมๆ กับหิมะ ที่เริ่มโปรยปรายลงมา
สำนักอุตุนิยมวิทยาเทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ประกาศว่าฉงชิ่งจะเผชิญหิมะตกบริเวณพื้นที่สูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งรวมถึงจุดชมวิวทะเลสาบหนานเทียนในอำเภอเฟิงตูบนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,500 เมตร ที่ถูกห่มคลุมด้วยหิมะขาวบริสุทธิ์ในเวลาช่วงข้ามคืน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของธรรมชาติที่บ่งบอกเราว่า ฤดูแห่งความหนาวเย็นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
หลายเมืองของจีนเริ่มมีหิมะตกลงมา ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็น อีกหนึ่งเมือง คือ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่าง “จางเจียเจี้ย” เมืองท่องเที่ยวชื่อดังในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ได้ต้อนรับหิมะตกระลอกแรกของฤดูหนาวนี้ โดยเฉพาะหมู่เทือกเขาสูงชันตามพื้นที่ชมวิว เช่น วนอุทยานแห่งชาติเขาเทียนเหมิน ที่มีหิมะโปรยปรายปกคลุมทั่วบริเวณจนดูราวกับดินแดนเทพนิยาย
ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาว อีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เราจะเห็น คือ นกอพยพ ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาตินกกระเรียนคอดำต้าซานเปาในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พบเห็นจำนวน “นกกระเรียนคอดำ” สัตว์คุ้มครองระดับสูงสุดของจีน พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงอพยพฤดูหนาว
สำนักบริหารของเขตอนุรักษ์ฯ พบเห็นนกกระเรียนคอดำอพยพ 2,260 ตัว ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่เขตอนุรักษ์ฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1990
อู๋ไท่ผิง วิศวกรประจำสำนักบริหารฯ ระบุว่านกกระเรียนหายากสายพันธุ์ข้างต้นเริ่มอพยพหนีหนาวมายังเขตอนุรักษ์ฯ เมื่อราววันที่ 31 ต.ค. ปีนี้
เขตอนุรักษ์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจาวหยางของเมืองจาวทง ถือเป็นแหล่งอาศัยและจุดแวะพักที่สำคัญที่สุดในช่วงฤดูหนาวของหมู่นกกระเรียนคอดำอพยพบนที่ราบสูงยูนนาน-กุ้ยโจว ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนนกกระเรียนคอดำอาศัยอยู่ต่อหน่วยพื้นที่มากที่สุดของประเทศ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขตอนุรักษ์ฯ ได้พยายามอย่างมุ่งมั่นดำเนินสารพัดมาตรการ ทั้ง การปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และการสร้างรากฐานแหล่งอาหาร เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาสำหรับฝูงนกอพยพ
เขตอนุรักษ์ฯ พบนกกระเรียนคอดำอพยพหนีหนาวเฉลี่ยมากกว่า 1,500 ตัว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะจำนวนนกอพยพสายพันธุ์อื่นๆ ล้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องมาจากความพยายามในการอนุรักษ์พื้นที่ท้องถิ่น บ่งบอกให้รู้ว่า พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์นานาชนิด