กองทุนเอสเอ็มอี เผยผลการดำเนินงานปี 2564 หนุนเอสเอ็มอี สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 1.9 หมื่นล้าน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ 19,000 ล้านบาท
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวเพิ่มเติม ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 17 ม.ค.2560 เห็นชอบตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย รวมถึงพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพให้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมอื่นตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งในส่วนสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี 13,000 กิจการ รวมวงเงิน 19,000 ล้านบาท และการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอี 5,000 กิจการ
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้ประเมินผลดำเนินงานกองทุนฯ จากกลุ่มเป้าหมายทั้งเอสเอ็มอี ที่ได้รับเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีโตไวไทยยั่งยืน วงเงิน 3,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเสริมพลัง สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย วงเงิน 1,000 ล้านบาท
รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับการเติมทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และมีกลุ่มเอสเอ็มอีเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ และเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมพัฒนา รวมจำนวนกว่า 8,000 กิจการ ทั่วประเทศ
สำหรับการติดตามประเมินผลในครั้งนี้ เป็นการติดตามความก้าวหน้าการนำเงินทุนไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจของผู้เอสเอ็มอี ที่ได้รับสินเชื่อ การสำรวจขีดความสามารถและผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของเอสเอ็มอี ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนา และการสำรวจผลกระทบและการปรับตัวของเอสเอ็มอี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
ทั้งนี้ จากผลลัพธ์การประเมินพบว่า สินเชื่อกองทุนฯ ช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ ต่อรายเฉลี่ย 9 แสนบาท ช่วยเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ต่อรายเฉลี่ย 1.2 ล้านบาท เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 4 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ 19,000 ล้านบาท ช่วยลดปัญหาการว่างงานจากการหยุดกิจการกะทันหัน 1,000 กิจการ ตลอดจนส่งเสริมการจ้างงาน 8,500 คน
สำหรับเอสเอ็มอี ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนามีขีดความสามารถและผลิตภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อราย 20% หรือคิดเป็นจำนวนเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือต้นทุนลดลงเฉลี่ยต่อราย 1.8 ล้านบาท
รวมทั้งจากผลการสำรวจการปรับตัวของเอสเอ็มอีจากสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" พบว่า ธุรกิจลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ควบคู่การปรับปรุงกิจการให้เหมาะสม เช่น การเพิ่มบริการหรือการขายผ่านช่องทางออนไลน์ การนำเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ในการบริหารจัดการธุรกิจ
“ผลการประเมินข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานของกองทุนฯ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีโดยตรง ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพและเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ และการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอี" นายเดชา กล่าว
สำหรับทิศทางการทำงานของกองทุนฯ ระยะถัดไปจะเน้นบริการสินเชื่อ เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งผลักดันให้เกิดและเพิ่มจำนวนธุรกิจในกลุ่ม BCG ในประเทศให้มีมากขึ้น รวมถึงบูรณาการหน่วยงานพันธมิตรในและต่างประเทศเพื่อหาช่องทางการตลาดสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน