ความมั่นคงทางพลังงานเป็นเครื่องบ่งชี้ความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นทั่วโลกจึงแสวงหาพลังงานในทุกรูปแบบ และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG คืออีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ ทั้งในแง่ของความมั่นคงทางพลังงาน ความปลอดภัย และที่สำคัญ LNG ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งมุ่งให้บริการเกี่ยวกับสถานีรับ - จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ได้พัฒนาต่อยอดพลังงานหมุนเวียน โดยนำความเย็นเหลือใช้จากการแปรสภาพLNG ให้กลับเป็นก๊าซ (Regasification Process) มาใช้ในการปลูกดอกไม้เมืองหนาว เช่น ดอกทิวลิป และไฮเดรนเยีย ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ต้องอาศัย อากาศหนาวเย็นในการเจริญเติบโต ซึ่ง PTTLNG ได้มีการศึกษาวิจัยนำความเย็นที่เหลือจากการแปรสภาพ LNG มาใช้ในการปลูกดอกไม้ที่ภายในอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองแฟบ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง
หลายคนอาจสงสัยว่าก๊าซธรรมชาติ LNG นั้นมีประโยชน์อย่างไร และการต่อยอดโดยการนำความเย็นเหลือใช้จากกระบวนการผลิต สามารถนำมาทำอะไรได้บ้าง คุณรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้ พร้อมทำความรู้จักกับ PTTLNG บริษัทผู้นำด้านสถานีรับ – จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวของไทย
ทำความรู้จักการดำเนินธุรกิจของ PTTLNG
คุณรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ LNG ว่า Liquefied Natural Gas หรือ LNG คือก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นเชื้อเพลิงสะอาด ที่ไม่มีสีไม่มีกลิ่นและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ ระเหยกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว และไม่ติดไฟ โดยใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และยานพาหนะ ฯลฯ โดยปกติแล้วก๊าซธรรมชาติจะอยู่ในรูปลักษณะของไอ แต่ด้วยการลดอุณหภูมิลง -160 องศาเซลเซียส ทำให้ก๊าซกลายเป็นของเหลว ปริมาตรก็จะลดลงถึง 600 เท่า ทำให้สะดวกกับการขนส่งจากภูมิภาคหนึ่งไปอีกภูมิภาคหนึ่ง
ในส่วนของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ดำเนินธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือรับ - จ่าย LNG โดยมีภารกิจสำคัญเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยให้บริการท่าเทียบเรือขนส่ง LNG ให้บริการขนถ่าย LNG ลงสู่ถังเก็บ และเปลี่ยนสถานะ LNG จากของเหลวให้กลับเป็นก๊าซ จากนั้นจึงส่งก๊าซเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซของประเทศต่อไป รวมทั้งยังให้บริการส่งออก LNG ทางเรือไปยังต่างประเทศ และขนส่งในรูปแบบของเหลวด้วยรถบรรทุกไปยังภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขนส่งในรูปแบบ ISO container ที่สามารถขนส่งได้ทั้งทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางรถไฟ
LNG Terminal คืออะไร?
PTTLNG มีสถานี LNG ด้วยกัน 2 แห่ง ให้บริการท่าเทียบเรือ เปลี่ยนสถานะ LNG ขนถ่ายก๊าซสู่ถัง บริการส่งออก และขนส่งก๊าซ LNG สู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง Terminal แรกคือ สถานี LNG มาบตาพุดแห่งที่ 1 หรือ LMPT 1 ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 สถานีแห่งนี้ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ 3 ท่า ถังเก็บ LNG ขนาด 160,000 ลบ.ม. จำนวน 4 ถัง หน่วยบรรจุ LNG ทางรถบรรทุก ซึ่งมีการขยายกำลังการผลิตเป็นระยะตามกำลังความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 11.5 ล้านตันต่อปี และยังสามารถขยายศักยภาพได้อีก 3.5 ล้านตันต่อปี
สำหรับ Terminal ที่ 2 สถานี LNG มาบตาพุด บ้านหนองแฟบ หรือ LMPT 2 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ.2565 ด้วยกำลังการผลิต 7.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งกำลังการผลิต 2 Terminal รวมกัน จะมีกำลังการผลิตรวมถึง 19 ล้านตันต่อปี
ความคืบหน้าของโครงการ LNG Map ta Phut Terminal ที่ 2
ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน PTTLNG สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยตามแผนงานในปี พ.ศ. 2565 โดยประสบความสำเร็จในการรับเรือนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวลำแรก ในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 เพื่อทดสอบระบบและอุปกรณ์ของสถานีจนแล้วเสร็จ ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของ PTTLNG ในการสร้างความมั่นคงและพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ
สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 เป็นสถานีรับ - จ่าย LNG ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่ง PTTLNG ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2527 ได้มีการวางท่อก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นมาที่จังหวัดระยอง เพื่อส่งก๊าซเข้าสู่ระบบท่อของ ปตท. และด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาปริมาณการใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณก๊าซในประเทศไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการสร้างสถานี LNG Terminal ที่ 2 ขึ้น เพื่อที่จะจ่ายก๊าซให้เพียงพอกับการใช้ในประเทศ โดย ณ ปัจจุบันปริมาณการใช้ก๊าซ LNG ในประเทศไทยส่วนใหญ่ นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งใช้อยู่วันละประมาณ 4,000-4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต สำหรับ LNG Terminal ทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตถึง 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน l คิดเป็นปริมาณถึง 60% ของ Demand ในประเทศ และจ่าย LNG เข้าสู่ระบบประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ 20% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ
ศักยภาพในการรองรับของ LNG ของ Terminal1 และ Terminal2 เป็นอย่างไร
สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 1 ของ PTTLNG ให้บริการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11.5 ล้านตันต่อปี และยังสามารถขยายศักยภาพได้อีก 3.5 ล้านตันต่อปี ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ 3 ท่า ถังเก็บแอลเอ็นจี ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร 4 ถัง หน่วยบรรจุขนส่งแอลแอนจีทางรถบรรทุก ปริมาณ 182,500 ตันต่อปี
ส่วนสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 ประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือ LNG จำนวน 1 ท่า และถังเก็บ LNG ขนาด 250,000 ลบ.ม. จำนวน 2 ถัง กำลังการผลิต 7.5 ล้านตันต่อปี โดยสถานี LNG ทั้ง 2 แห่ง ทำให้ PTTLNG มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 19 ล้านตันต่อปี
ปัจจุบัน LNG มีความสำคัญต่อการใช้พลังงานของไทยอย่างไร?
คุณรัตติกูล เผยว่า “การใช้เชื้อเพลิงในประเทศเรา ใช้ LNG ในการผลิตไฟฟ้าถึง 70 % อีกส่วนใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่า LNG เป็นพลังงานหลักในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ แต่เนื่องจากในการแปรสภาพ LNG จะมีพลังงานความเย็นเหลือจากกระบวนการดังกล่าว PTTLNG มีการศึกษาวิจัยนำความเย็นที่เหลือใช้มาพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตอบโจทย์ของประเทศในเรื่องของการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
ทิวลิป กับ LNG เกี่ยวกันอย่างไร?
เนื่องจากสิ่งที่ได้จากกระบวนการแปรสภาพ LNG คือพลังงานความเย็น PTTLNG จึงนำมาใช้ในการปลูกพืชหรือดอกไม้เมืองหนาว อย่าง ดอกทิวลิป ดอกไฮเดรนเยีย เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด จากเดิมที่พลังงานความเย็นนั้นจะถูกปล่อยลงสู่ทะเล ทาง PTTLNG นำไปศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกดอกไม้เมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นทิวลิป ไฮเดรนเยีย ในอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา สำนักงานแห่งใหม่ PTTLNG ตำบลมาบตาพุด บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง และกำลังต่อยอดไปสู่ไม้เมืองหนาวชนิดอื่นๆ
การพัฒนาความเย็นจาก LNG มาใช้กับอะไรบ้าง?
เนื่องจาก PTTLNG ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการพัฒนานำความเย็นที่เหลือจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติที่ ไปใช้ในโรงแยกอากาศ Air Separation Unit ซึ่งเป็นหน่วยแยกอากาศแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะ LNG มาใช้ รวมถึงนำความเย็นไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ในหน่วยผลิตไฟฟ้า ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ภายในสถานีแอลเอ็นจี และนำไปใช้ในระบบปรับอากาศของอาคาร จนได้รับการรับรองอาคารเขียว ระดับ Platinum ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (TREES-NC) จากสถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI)
นอกจากนี้ ยังนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชเมืองหนาว ต่อยอดด้านการเกษตรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการศึกษาทดลองและวิจัยเทคโนโลยีการปลูกพืชเมืองหนาว ณ ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนิราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ภายในสถานี LNG มาบตาพุด แห่งที่ 1 มุ่งหมายให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ให้แก่ชุมชน เกษตรกร นิสิต และนักศึกษา ทั้งในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ
คุณรัตติกูล ได้เผยถึงการพัฒนาความเย็นจาก LNG ให้ฟังว่า ความเย็นที่ได้มาจะอยู่ในรูปแบบของเหลวที่อุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะแปรสภาพให้เป็นก๊าซธรรมชาติ จะต้องเอาความเย็นออกมา ซึ่งความเย็นที่เหลือหากเป็นแต่ก่อนจะถูกปล่อยลงสู่ทะเล ทาง PTTLNG ได้พัฒนาความเย็นที่เหลือใช้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศ
ปัจจุบัน ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ ได้ผลิตดอกไม้เมืองหนาวจากความเย็น LNG ได้อย่างมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง อาทิ ดอกทิวลิป และไฮเดรนเยีย โดยพันธุ์ไม้ที่ปลูก ในศูนย์แห่งนี้อยู่ในอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา รอให้ทุกคนเยี่ยมชมความสวยงาม
ท้ายนี้ คุณรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ยังได้เชิญชวนทุกคนมาเยี่ยมชมดอกไม้เมืองหนาวที่ปลูกและดูแลด้วยความเย็น ที่ อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ ณ บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยเปิดบริการตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. วันจันทร์-เสาร์ (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)